“ในปี 2562 ฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 9% ของจีดีพี...แต่หากรวมทุกสารมลพิษ ได้แก่ PM10, PM2.5, CO, NOx และ NO2 พบว่า ในปี 2562 มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 14-15% ของจีดีพี...”
.......................................
หมายเหตุ : รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยในงาน ‘PIER Research Brief’ เรื่อง ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2566
จากประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากมลพิษทางอากาศต่อสังคมไทย โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจและความสุขในชีวิตของชาวไทยและรายได้ครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แบบสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานและข้อมูลประชากรของกระทรวงมหาดไทย
ตลอดจนข้อมูลคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ งานวิจัยทำการประมาณมูลค่าความเต็มใจจ่ายเพื่อลดมลพิษทางอากาศด้วยวิธี subjective well-being ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าความพึงพอใจในชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับรายได้ สถานะทางสุขภาพ สภาพสังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสมมติว่าครัวเรือนจะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหากระดับความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในจังหวัดที่อาศัยอยู่สูงกว่าค่าแนะนำรายปีขององค์การอนามัยโลก
ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2562 ฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 9% ของจีดีพี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ประมาณ 6,800 บาท/ครัวเรือน/1 ไมโครกรัมของฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน/ปี
แต่หากรวมทุกสารมลพิษ ได้แก่ PM10, PM2.5, CO, NOx และ NO2 พบว่า ในปี 2562 มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 14-15% ของจีดีพี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเดือนละหลักหมื่นบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายจังหวัดจะพบว่า ครัวเรือนทุกจังหวัดของไทย (ยกเว้นภูเก็ต) ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศกันถ้วนหน้า โดย 5 จังหวัดแรก ที่มีมูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 436,330 ล้านบาทต่อปี สำหรับ PM2.5 และเมื่อพิจารณาทุกสารมลพิษ มูลค่าความเสียหายจะอยู่ที่ 927,362 ล้านบาทต่อปี รองลงมา ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ
“ผลกระทบไม่ได้มีแค่สุขภาพ เราเจ็บป่วยเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่เขาเรียกว่าฝุ่น PM2.5 ว่า ‘มัจจุราชเงียบ’ หรือ ‘มัจจุราชมืด’ คือ เราสูดวันนี้เรายังไม่ป่วยตอนนี้ แต่มันสะสมในร่างกาย รอวันสะสมครบแล้วก็จะป่วย ซึ่งตรงนี้คือความเสียหายแล้ว แค่เรายังไม่ได้ไปหาหมอ เรายังไม่ได้ไปจ่ายเงินเท่านั้น และเวลามีคนเจ็บป่วย เราต้องไปเฝ้าที่โรงพยาบาล คนเจ็บป่วยเองก็อดทำงาน นี่คือค่าเสียโอกาสในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วย
แล้วเรายังต้องซื้อเครื่องฝากอากาศ หน้ากากอนามัย คำถาม คือ ทำไมเราต้องใช้ด้วย ถ้าเรามีอากาศที่สะอาด เราเอาเงินไปเที่ยว ไปหาข้าวกินอร่อยๆดีกว่าไหม นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้น ขณะที่ผลกระทบที่นำเสนอในครั้งนี้ ยังไม่รวมผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เวลามีฝุ่น PM2.5 เข้ามา ธุรกิจโรงแรมที่พักแถวภาคเหนือก็ได้รับกระทบ เพราะคนหนีไม่ไป หรือธุรกิจที่จัดวิ่งมาราธอน ถ้าจัดในช่วงที่ฝุ่นเยอะ คนก็อาจไม่มาลงทะเบียน”
อย่างไรก็ตาม หากปรับใช้ค่าแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งพบว่า PM2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เพิ่มขึ้นจากในอดีตมาก ส่งผลให้มูลค่าความเสียหายจะสูงขึ้นจากที่รายงานไว้ข้างต้น
ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 WHO ได้ยกระดับการเตือนภัย PM2.5 ด้วยการปรับค่าแนะนำใหม่เป็น 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี จากเดิมที่กำหนดค่าแนะนำที่ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี กล่าวคือ หากปริมาณ PM2.5 ค่าสูงเกินกว่าค่าแนะนำ จะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งลำไส้ใหญ่ หลอดเลือดในสมองอุดตัน หัวใจล้มเหลว สมองเสื่อม ภูมิแพ้ และหอบหืด เป็นต้น
"ถ้าเราย้อนไปดูค่าฝุ่นในช่วง 2 ปีที่แล้ว เรามีโชคดีอยู่บ้าง คือ เกิดปรากฏการณ์ 'ลานีญา' ทำให้ฝนเยอะ และการเผาน้อยลงอย่างมาก เพราะฝนช่วยดับไฟเยอะ ซึ่งทำให้ต้นทุนความเสียหายมีแนวโน้มลดลง แต่รายได้ของคนก็ลดลงด้วย เพราะเราเจอโควิดเช่นกัน ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมรัฐบาลที่พยายามแก้ปัญหา อีกส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณธรรมชาติด้วย
แต่มาปีนี้เราจะเจอของจริงมากขึ้น เพราะฝนจะช่วยน้อยลง ทำให้ปีนี้ต้นทุนทางสังคมน่าจะกลับมาและสูงขึ้นกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และถ้าดูจากข้อมูลพยากรณ์อากาศคร่าวๆ จากนี้ไปจะมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ คือ ร้อนและแล้งจะมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเผาทำได้ง่ายขึ้น ปัญหาการเผาจะรุนแรงขึ้น และปัญหามลพิษทางอากาศจะกลับมารุนแรงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน"
เหตุใดมลพิษทางอากาศของประเทศไทยถึงทวีความรุนแรงมากขึ้น? งานวิจัยพบว่า หลักๆแล้วมาจาก 3 ประเด็น ได้แก่
1.ที่ผ่านมา ไทยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจมากและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมน้อย สังเกตได้จากงบประมาณแผ่นดินที่ตั้งไว้สำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้เพียง 8,361-12,868 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 2560-2566 หรือคิดเป็น 0.270-0.491% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ส่วนในปี 2566 ล่าสุด ตั้งงบประมาณไว้เพียง 0.33% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยกว่ามาเลเซียถึง 2 เท่า และสหภาพยุโรปถึง 5 เท่า
อีกหนึ่งตัวอย่าง ได้แก่ การเก็บภาษีรถเก่าในอัตราที่ต่ำกว่ารถใหม่ คือ รถยิ่งเก่าภาษียิ่งถูก ทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น เนื่องจากรถเก่าปลดปล่อยมลพิษที่มากกว่ารถใหม่ ขณะที่รถเก่าที่มีอายุการใช้งานนานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถบรรทุกที่มีการปล่อยมลพิษสูงมาก ซึ่งจากข้อมูลในปี 2565 พบว่ารถบรรทุกที่มีอายุมากกว่า 20 ปี อยู่ที่ 4.09 แสนคัน เทียบกับปี 2555 ที่รถบรรทุกที่มีอายุมากกว่า 20 ปี มีจำนวน 1.93 แสนคัน
“เราต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรการ เช่น ถ้ารถยิ่งเก่า เราต้องปรับโครงสร้างภาษีกันใหม่ คือ ยิ่งเก่ายิ่งต้องเก็บภาษีแพง และต้องมีมาตรการเข้มงวดกวดขันในการตรวจควันดำ หรืออาจใช้นโยบายให้ประชาชนนำรถเก่ามาแลกรถใหม่ เช่น รถ EV หรือรถอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นรถใหม่ โดยรัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือ เช่น 1 แสนบาท เป็นต้น โดยรถ EV ควรช่วยเหลือมากหน่อย ส่วนรถที่ใช้น้ำมันก็ช่วยน้อยหน่อย เพื่อให้เกิดความแตกต่าง”
2.ที่ผ่านมา ไทยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยมาก กล่าวคือ มาตรการส่วนใหญ่ที่ใช้แก้ไขปัญหามักมีลักษณะบังคับให้ปฏิบัติตาม อาทิ มาตรการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง การใช้มาตรฐานไอเสียและน้ำมัน เป็นต้น โดยมาตรการบังคับเหล่านี้ทำให้เอกชนไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตให้ดีขึ้น
3.ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและขาดกฎหมายที่บูรณาการการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ กล่าวคือ ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลคือกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการกับปัญหา เพราะมักจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นๆ ด้วย นอกเหนือไปจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หากมีการลักลอบปล่อยมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการเชิงปฏิบัติ เพราะขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
สำหรับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนั้น ผู้กำหนดนโยบายควรเร่งดำเนินการ ดังนี้
1.ควรสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษทางอากาศให้ทุกคนได้รับทราบอย่างทั่วถึงทั้งเกษตรกร ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำสุด แต่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่สูงมาก
2.ควรเพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยจากมลพิษและเชื่อมโยงแอปพลิเคชันเพื่อส่งข้อมูลเตือนภัยคุณภาพอากาศแบบ real-time ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
3.พิจารณาปรับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยให้เข้มงวดมากขึ้นจากปัจจุบันที่เข้มงวดน้อยกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกกว่า 3 เท่า
4.ควรเร่งแก้ปัญหาตามแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศ ซึ่งหลักๆ ประกอบด้วย
1) การเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาคยานยนต์และการขนส่ง โดยสิ่งที่เราต้องทำ คือ การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ และต้องทำมาตรการเสริม เช่น ทำให้คนมีขับรถ ขับได้ยากขึ้น มีต้นทุนมากขึ้น เพื่อให้หันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชน แต่ก็ต้องทำให้ระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนถูก และสะดวกสบาย หรือนำมาตรการเก็บค่าธรรมเนียนผ่านทางในพื้นที่ที่มีการจราจรแออัด คือ ที่ไหนที่มีรถติดหรือรถมาก เมื่อขับเข้าไปในพื้นที่นั้น ต้องจ่ายเงิน ซึ่งช่วยลดฝุ่นได้
2) การเผาในที่โล่งแจ้งภาคเกษตรและป่าไม้ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่เผา อาทิ ภาครัฐอาจมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแบบมีเงื่อนไข หรือการสร้างตลาดให้กับวัสดุทางการเกษตร เช่น ถ้าไม่เผาใบอ้อย และเผาฟางข้าว วัสดุเหล่านี้ต้องขายได้ ซึ่งในส่วนของฟางข้าวนั้น วันนี้เกษตรกรเองพยายามขายฟางข้าวให้แหล่งเลี้ยงสัตว์ หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่มีปัญหาเรื่องต้นทุนขนส่งสูงมาก ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยตรงนี้ เช่น เป็นแหล่งรวบรวมและส่งไปให้โรงไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ มีข้อมูลว่าหลังจากประเทศไทยเข้มงวดกับการเผาในที่โล่งแจ้งของภาคเกษตรและป่าไม้ โดยเฉพาะการเข้มงวดในการปลูกข้าวโพดแล้วห้ามเผาในช่วงปี 2560-61 พบว่ามีการเคลื่อนย้ายฐานการปลูกข้าวโพดจากไทยไปเมียนมาร์ และจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาร์มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วแม้ว่าไทยจะห้ามเผา แต่ในพื้นที่ประเทศเมียนมาร์ยังมีการเผาอยู่
จึงจำเป็นต้องสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับว่า หากมีการนำเข้าสินค้าสุ่มเสี่ยงต่อการเผาหรือก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ก่อนนำเข้ามาในประเทศไทยจะต้องมีการตรวจสอบก่อน และหากสินค้าใดมีการเผาหรือก่อคาร์บอนสูง ต้องมีการเก็บภาษีมากขึ้นหรือไม่ เพื่อจูงใจให้การเผาลดลง
3) การเผาไหม้เชื้อเพลิงและกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพูดถึงกันน้อยมาก และงานวิจัยเองก็มีน้อย เพราะประเทศไทยแทบจะไม่มีข้อมูลเลย ดังนั้น ภาครัฐต้องมีกลไกที่ทำให้การเผยแพร่ และเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษและการเคลื่อนย้ายต่างๆของโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันมี 7 หมื่นแห่งให้ได้ จากปัจจุบันที่ให้มีการรายงานและเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษเฉพาะโรงงานที่มีขนาดใหญ่เพียง 800 แห่งเท่านั้น
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่ามลพิษทางอากาศในแต่ละแหล่งกำเนิดมีช่วงเวลาการปล่อยและสาเหตุที่แตกต่างกัน และมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นชั่วคราวและแก้ไขกันเฉพาะหน้าในระยะสั้นแต่ละปีเท่านั้น
5.ควรประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการต่างๆ เนื่องจากแม้จะมีแผนหรือมาตรการที่ดี แต่การปฏิบัติจริงมักไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น ควรสร้างตัวชี้วัดเพื่อประเมินความสำเร็จของมาตรการข้างต้น พร้อมระบุบุคคลและหน่วยงานผู้รับผิดชอบตั้งแต่หน่วยงานส่วนกลางลงไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นระดับพื้นที่