"...การพูดจากหัวใจ ผ่านรูปภาพ จากประสบการณ์ตรงของตนเอง เสียงแห่งความปิติ หรือสำเนียงแห่งความขมขื่น เมื่อมีการรับฟังอย่างเข้าใจและเห็นใจ (Empathic Listening) จากผู้คนรอบข้าง เป็นการเปิดทางให้แก่ความไว้วางใจ เป็นการเปิดพื้นที่ถักทอ ให้ใจสัมผัสใจอย่างลึกซึ้ง..."
กระดาษแผ่นเดียว สร้างแรงสะเทือนใจไปทั่วทั้งโรงเรียน
ธรรมดาเคยแต่เป็นวิทยากรอบรมให้กับผู้เข้าอบรมที่เป็นผู้ใหญ่ เมื่อโรงเรียนมีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ บุรีรัมย์ ให้โอกาสทำกิจกรรมการเรียนรู้กับนักเรียน ม.1- ม.6 จำนวน 139 คน เมื่อ 10 กพ. 66 / 18.30 – 20.00 น.
เพราะเข้าใจสภาพอยู่แล้วว่านักเรียนที่นั่นคุ้นชินกับการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) จึงใช้เทคนิคการวาดและระบายสีภาพ ผู้เขียนขอให้เด็กรวมกลุ่มกันแบบคละชั้นเรียนทั้งหกชั้น รวม 14 กลุ่มๆละ 10 คน มีกระดาษ A4 สีชอล์ค ยางลบ และดินสอประจำทุกกลุ่ม แล้ววางกติกาว่า ให้ทุกคนวาดภาพแล้วระบายสีตามต้องการ โดย
1. ไม่ต้องห่วงว่าภาพจะสวยหรือไม่ ขอให้วาดแล้วอธิบายภาพได้ว่าหมายถึงอะไรก็พอ
2. ให้วาดภาพชีวิตของตนในวัย 8-10 ขวบ จะเป็นภาพตนเองหรือใช้อะไรอื่นเป็นสัญลักษณ์ แทนตัวก็ได้ ว่ากำลังทำอะไร อยู่ในสภาพอย่างไร อาจช่วยแม่ทำกับข้าว อาจกำลังเข้าแถวเคารพ ธงชาติ อาจเล่นกีฬาในสนาม อาจชกต่อยกับเพื่อน หรือทำอะไรก็ได้ที่ยังจำได้ดีและสะท้อนความเป็นตัวตนของเรา
3. เมื่อวาดแล้ว ให้วางภาพนั้นให้เพื่อนทุกคนเห็น แล้วบอกเพื่อนว่า ภาพนั้นสื่ออะไรที่เป็นตัวตนของเรา
4. ขณะคนหนึ่งอธิบายภาพ คนอื่นต้องรับฟังอย่างตั้งใจ ถามได้แต่อย่าตำหนิ ขอให้ทุกคนมองภาพของเพื่อนในทางบวก เพราะทุกภาพมีเหตุผลในตัวเอง
5. เมื่ออธิบายภาพครบทั้งกลุ่มแล้ว ขอให้กลุ่มเลือกภาพที่คิดว่าโดนใจที่สุด เป็นภาพสะท้อน
ความเป็นตัวตนของเจ้าของภาพได้ดีที่สุด แล้วให้เจ้าของภาพ นำภาพนั้นออกมาแสดงให้เพื่อนทั้งหมดเห็น และอธิบายด้วยว่าภาพนั้นสื่อให้เห็นอะไร
เมื่อเริ่มสัญญาณตั้งต้น พื้นที่แห่งเสรีภาพเปิดขึ้น จินตนาการของเด็กลื่นไหลออกมาเป็น ภาพสเก็ตช ด้วยดินสอแล้วระบายสี เป็นบ้าน เป็นทุ่งนา เป็นเรือ เป็นห้องครัว เป็นชายหาด เป็นภาพเด็ก ภาพดอกไม้ ภาพผู้หญิง เมื่อลงสีชอล์ค สวยบ้าง เลอะบ้าง รูปทรงผิดขนาดบ้าง ก็แซว หัวเราะกันไปมา สนุกสนาน
เวลาสำคัญมาถึง คือการนำภาพที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มออกมาเสนอ ขอใช้นามสมมุติ แทนชื่อจริงของเด็กทั้งสี่คนนี้
แหวน นักเรียน ม.1 เขียนภาพตนเองอยู่ในครัว กำลังง่วนอยู่กับการหุงหาอาหาร และทำกับข้าว มีภาพแม่กำกับอยู่ข้างๆ แหวนบอกว่า “วันหนึ่ง แม่ทำกับข้าวให้ไม่ทันใจ จึงต่อว่าแม่ด้วยความโมโหหิว แม่เลยสอนให้หนูทำอาหารกินเอง เพื่อโตขึ้นจะได้พึ่งตัวเองได้ หนูเลยทำอาหารเป็นตั้งแต่อายุ 10 ขวบค่ะ” ทุกคนปรบมือให้ เพราะตอนเผชิญภัยน้ำท่วมโรงเรียนเมื่อปลาย กย. 65 แหวนเป็นกำลังสำคัญในการทำอาหารให้กับเพื่อนๆ
เอื้อน นักเรียน ม.6 เขียนภาพใบหน้าตนเอง มุมปากคว่ำลง มีแถบผ้าคาดตา ที่ส่วนศีรษะ มีภาพเด็กน้อยนั่งชันเข่า แสดงอาการหมองเศร้า เอื้อนเปิดเผยกับเพื่อนๆทั้งหมดว่า “พ่อกับแม่ทะเลาะกันอย่างรุนแรง หนูไม่อยากเห็นภาพนั้น แต่ก็ได้เห็นเป็นภาพจำเจอยู่ทุกวัน จนในที่สุดพ่อกับแม่แยกทางกัน หนูต้องไปอยู่กับยาย หนูสงสัยว่าทำไมโลกช่างมืดมนกับหนูอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม หนูเก็บความรู้สึกไว้ภายใน และไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ หนูพยายามปิดหูปิดตา ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่รับรู้ ประคองใจของหนูให้ผ่านพ้นวันคืนเหล่านั้นมา จนผ่านมาได้ถึงวันนี้” เพื่อนๆ ในห้องประชุม รู้สึกหมองเศร้าไปตามเรื่องราว
เมื่อตรวจสอบดูชีวิตประจำวันที่สัมพันธ์กับเพื่อน ก็พบว่า เอื้อนเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใส ไม่มีร่องรอยความหมองเศร้าใดๆ ในใจเลย เอื้อนเป็นพื้นที่แห่งความไว้วางใจของ เพื่อนๆ ที่ใครมีทุกข์ ก็มาหา ใครกลุ้มใจก็มาระบาย เอื้อนรับได้หมด เพราะเอื้อนรับแรงสะเทือนทางอารมณ์มาอย่างหนักหน่วงตั้งแต่อายุ 10 ขวบแล้ว
เจน นักเรียน ม.5 รูปร่างสูงใหญ่ เขียนภาพตนเองอยู่กลางเรือลำหนึ่ง “พ่อผมมีเรือรับนักท่องเที่ยวท่องทะเลที่เกาะช้าง ผมลงทะเลไปกับพ่อทุกวัน ผมจึงฝึกขับเรือจนชำนาญ จะเรียกว่าเป็นกัปตันเรือ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบก็ได้ เมื่อพ่อป่วยจำต้องขายเรือออกไป ผมเสียดายมากเพราะเรือเป็นชีวิตของผม”
เตย นักเรียน ม.4 เขียนภาพกุหลาบชูดอกขึ้นมาท้าทายลมฝน เตยเล่าเรื่องอย่างถอดอารมณ์ว่า “ดอกกุหลาบเป็นตัวหนูเอง หนูไม่คาดฝันว่า แม่หนูต้องคดีจำคุก 4 ปี เป็นเรื่องราวที่หนักหนาเกินกว่าเด็ก 10 ขวบ อย่างหนูจะทนได้ แต่หนูเป็นดอกกุหลาบที่แข็งแรง แม้ฝนจะเปียกปอน แม้พายุจะกระหน่ำ ดอกกุหลาบก็ยังอยู่รอด กุหลาบมีหลายสี เหมือนตอนนั้น หนูมีความเศร้า ความชินชา ความคิดถึง ความสับสน หนามอันแหลมคมที่ก้านดอก เหมือนปมความเจ็บปวดในใจ แต่ก็เป็นความเจ็บปวดที่สวยงาม เพราะกุหลาบเป็นตัวแทนแห่งความรัก รักที่หนูมีให้กับตัวเองที่จะต้องไม่ยอมพ่ายแพ้กับอุปสรรค หนูจึงสามารถเติบโตมาถึง วันนี้ได้”
คนทำหน้าที่ครู ได้ฟังเรื่องของเตย ถึงกับสะอึกว่าเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งต้องเผชิญกับชะตากรรมสาหัสสากรรจ์ แต่เธอสามารถฝ่าฟันผ่านมาได้อย่างทระนง เมื่อตรวสอบดู ชีวิตในฐานะนักเรียนประจำ ก็ได้พบว่า เตย ก็ดุจเดียวกับ แหวน ที่กลายเป็นเด็กที่รับฟังปัญหาของเพื่อนๆ และน้องๆ ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง
เทคนิคการเรียนรู้ด้วยการวาดภาพ ทำให้ทุกคนมีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวตนเองให้เพื่อนๆรู้จัก ขณะเดียวกันก็ได้ไปรู้จักเพื่อนๆ ที่ต่างก็มีเรื่องราวหนหลังซึ่งเปี่ยมสุข ระทมทุกข์ ไปตามสภาพครอบครัวและบริบทแวดล้อม
การพูดจากหัวใจ ผ่านรูปภาพ จากประสบการณ์ตรงของตนเอง เสียงแห่งความปิติ หรือสำเนียงแห่งความขมขื่น เมื่อมีการรับฟังอย่างเข้าใจและเห็นใจ (Empathic Listening) จากผู้คนรอบข้าง เป็นการเปิดทางให้แก่ความไว้วางใจ เป็นการเปิดพื้นที่ถักทอ ให้ใจสัมผัสใจอย่างลึกซึ้ง
พระพุทธเจ้าสอนว่า “จิตเดิมแท้นั้น ประภัสสร” นั่นคือจิตบริสุทธิ์ มีอยู่ในมนุษย์ทุกรูปนาม รวมทั้งในเด็ก เมื่อพื้นที่เสรีภาพแห่งการพูดและการรับฟังเปิดกว้าง จิตเดิมแท้ย่อมประกายแสงเรืองรอง เป็นแรงดลใจ ให้กับความจริง ความดี และความงาม
ประสาร มฤคพิทักษ์