"...ทั้งหมดล้วนเป็น 'คอร์รัปชันเชิงระบบ' (Systemic Corruption) ที่อาศัยทรัพยากรของรัฐ กฎหมาย อำนาจหน้าที่ อิทธิพลของเครื่องแบบ เป็นเครื่องมือทำผิดและปกปิดความผิด โดยทำงานเป็นทีม มีการวางแผน แบ่งงานกันทำ โดยคนในหน่วยงานเดียวกัน หลายหน่วยงานหรือร่วมมือกับคนนอก มีการแบ่งปันผลประโยชน์และเกื้อกูลกันใน 'เครือข่ายอุปถัมภ์' (Patronage Networking for Corruption) ของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติการ นายทุน ผู้มีอิทธิพล หากเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่หรือให้ผลประโยชน์มากก็มักมีนักการเมืองเชื่อมโยงอยู่ด้วย..."
ประเด็นคอร์รัปชันที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เปิดโปงเผยให้เห็นว่า อุปสรรคใหญ่ที่กีดขวางการปราบคอร์รัปชันของไทย คือเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมมือกันเป็นเครือข่ายคอร์รัปชัน โดยใช้จุดบอดของระบบราชการเป็นเครื่องมือ ใช้หน่วยราชการเป็นแหล่งโกงกินอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ขณะที่ผู้มีอำนาจระดับสูงก็ไม่รับผิดชอบอะไร มัวแต่รักษาหน้า เกรงใจหรือมีผลประโยชน์แอบแฝง
เรื่องเลวร้ายที่พรั่งพรูในช่วงไม่กี่วันมานี้ นับจากคดีอธิบดีกรมอุทยาน คดีตู้ห่าวและคดีสืบเนื่อง คดีนักท่องเที่ยว VVIP ที่สนามบินสุวรรณภูมิ คดีตบทรัพย์นักท่องเที่ยวสาวไต้หวัน คดีบ่อนพนันออนไลน์ที่มีนายพลตำรวจเป็นเจ้าของและเครือข่ายบ่อนใหญ่ที่จ่ายสินบนก้อนโตให้นายพลตำรวจไซเบอร์แลกกับการคุ้มครอง
ทั้งหมดล้วนเป็น 'คอร์รัปชันเชิงระบบ' (Systemic Corruption) ที่อาศัยทรัพยากรของรัฐ กฎหมาย อำนาจหน้าที่ อิทธิพลของเครื่องแบบ เป็นเครื่องมือทำผิดและปกปิดความผิด โดยทำงานเป็นทีม มีการวางแผน แบ่งงานกันทำ โดยคนในหน่วยงานเดียวกัน หลายหน่วยงานหรือร่วมมือกับคนนอก มีการแบ่งปันผลประโยชน์และเกื้อกูลกันใน 'เครือข่ายอุปถัมภ์' (Patronage Networking for Corruption) ของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติการ นายทุน ผู้มีอิทธิพล หากเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่หรือให้ผลประโยชน์มากก็มักมีนักการเมืองเชื่อมโยงอยู่ด้วย
อะไรทำให้คดีเหล่านี้ถูกเปิดโปงรวดเร็วมาก?
ปัจจัยหลักคือ ประชาชนอย่างคุณชูวิทย์ไม่ได้หยุดนิ่งหรือเกรงกลัว แต่เดินหน้าเปิดโปง ชี้เป้า ชี้ประเด็น ช่วยให้สื่อมวลชนเกาะติดสร้างกระแสได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่คดีตู้ห่าวทางอัยการสูงสุดได้เข้ามารับเป็นคดีอาชญากรรมข้ามชาติตั้งแต่เริ่ม ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้มากขึ้น
อีกมุมที่ไม่เคยเห็นจากวงการตำรวจคือ การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบันไม่ได้แสดงท่าทีปกป้องตัวบุคคลด้วยการเฉไฉ เบี่ยงประเด็น ดึงเรื่องหรือข่มขู่ประชาชนเหมือนที่ชอบทำกัน แต่ท่านได้แสดงความเป็นผู้นำที่รับผิดชอบด้วยการจัดทีมตรวจสอบจนความจริงปรากฏ จุดยืนเช่นนี้ช่วยกู้ศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตำรวจกลับมาได้บ้าง
ส่วนหน่วยงานอย่าง ป.ป.ช. ที่มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชันยังไม่แสดงบทบาทหรือสร้างความเข้าใจต่อประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งเช่นนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น
ก่อนหน้านี้ คดี 'บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา' ได้สะท้อนความล้มเหลวของตำรวจและอัยการ คำถามของประชาชนที่ไม่เคยมีคำอธิบายคือ นายตำรวจและอัยการคนไหนบ้างที่มีส่วนร่วมล้มคดี พวกเขาทำได้อย่างไร ใครบงการ นักการเมืองและนายทุนคนไหนชักใยอยู่เบื้องหลัง
แต่แล้วทุกคนก็ฝันสลายเมื่อผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุดอาจารย์ วิชา มหาคุณ ถูกเก็บขึ้นหิ้ง
เช่นเดียวกับคดีค้ามนุษย์ของเสี่ยอาบอบนวดย่านรัชดา เมื่อปี 2561 ที่สุดท้ายก็ลอยนวลหลังมีข่าวว่าเคลียร์กับตำรวจได้แล้ว วันนี้จึงเอาทรัพย์สินออกมาทำมาหากินสบาย โดยไม่กี่ปีก่อนหน้ามีข่าวอื้อฉาวเมื่อ อดีต ผบ.ตร. อ้างว่า ตนไปยืมเงิน 300 ล้านบาทจากเสี่ยคนนี้
วันนี้คนไทยต้อง 'ไม่ยอม' ให้สังคมไทยกลับสู่วัฏจักรคอร์รัปชันเดิมๆ การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลภาครัฐอ่อนแอ ทำให้คอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบไทยๆ การขจัดคอร์รัปชันให้หมดไปจะหวังแต่ผู้นำรัฐบาลและ ป.ป.ช. จึงเป็นไปไม่ได้
ทุกฝ่ายต้องเร่งทำงานอย่างต่อเนื่อง ปลุกกระแสสังคม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องเชิญชวนให้คนไทยมีความกล้าหาญและจิตใจที่ไม่ยอมทนพวกโกงกินชาติ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สมควรได้รับคำขอบคุณและยกย่องเป็นอย่างยิ่ง การกระทำครั้งนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทยอย่างมีพลัง ช่วยเปิดให้เห็นโลกแห่งความจริงของคอร์รัปชันในต้นทางของกระบวนการยุติธรรมและระบบราชการที่เน่าเฟะเกาะกินสังคมไทยมายาวนาน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
เขียนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566