"...จะทำยังไงให้คนที่ทำผิดซ้ำจะไม่ทำผิดซ้ำ คือ จะต้องเปลี่ยนแปลงเขา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้เราเปลี่ยนแปลงไม่ถูกคน คือ เราไปเปลี่ยนคนที่ดี ๆ อยู่แล้ว เช่นใน 50% ของผู้ต้องขังที่พื้นเพดีอยู่แล้ว มี 36% ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วน 14% เราไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงเขา เพราะเราไปทำกับคน 14% ที่ไม่ค่อยสนใจจะทำ..."
สืบเนื่องสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอรายงาน เจาะงบประมาณคุก : ส่องค่าใช้จ่ายคุมขัง ผู้ต้องโทษ 1 ราย รัฐต้องใช้เงินเท่าไหร่? ที่มีการกล่าวถึงแนวทางการลดปริมาณผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำในคดีเดิม
ล่าสุดสำนักข่าวอิศราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำในคดีเดิม มีรายละเอียดดังนี้
นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษ TIJ
ภาพรวมของสาเหตุและปัญหาของผู้กระทำความผิดซ้ำแล้วกลับมาติดคุกใหม่
นายนัทธีกล่าวว่า สาเหตุมีอยู่ 2 ประการ 1. กลับไปแล้วไม่มีงานทำ 2. กลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเดิม เพื่อนฝูงเดิม เครือข่ายเดิม สิ่งสำคัญ คือ เขาถูกขัดเกลา ถูกทำลาย ในสิ่งแวดล้อม ในสังคมมาเป็นเวลานาน เติบโตมาในสลัม เติบโตมาในครอบครัวที่แตกแยกต่าง ๆ เป็นแบบนั้นมานาน แล้วก็เข้ามาอยู่ในเรือนจำแค่ 2 – 3 ปี แล้วจะให้กลับออกไปก็กลับไปอยู่ในสภาพเดิม เรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรเขาได้ แต่ก็มีคนส่วนใหญ่ที่เขาทำผิดที่เขาไม่ได้มาจากสภาพแวดล้อมนั้น ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำผิด บางคนที่เขาพลาดมา เช่น ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำผิดแล้วติดคุก เขาออกไปเขากลับไปสู่สังคม ครอบครัวเดิม ถ้าเขาพื้นเพมาดี เข้ามาอยู่ในคุก กลับออกไปดี แต่ถ้าพื้นเพเป็นมาไม่ดี มาอยู่ในคุก ถ้ากลับออกไปมีโอกาสที่จะทำผิดซ้ำเพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ทำผิดซ้ำ ก็คือพื้นเพเดิม เป็นมายังไงก็กลับออกไปอย่างนั้น ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนคนที่พื้นเพไม่ดี ให้สามารถไม่กระทำผิดซ้ำได้ หรือให้คนพื้นเพดีกลับออกไปไม่กระทำผิดซ้ำด้วยเหมือนกัน ไม่แย่ลงไปกว่าเดิม อันนี้เป็นหน้าที่ที่กรมราชทัณฑ์จะต้องทำ
สถิติของผู้ที่กระทำความผิดซ้ำ
ในจำนวนสถิติคนที่ทำผิดซ้ำในขณะพ้นโทษ 100 คน ในเวลา 1 ปีแรก จะทำผิดซ้ำ 14 คน อีก 36 คนคือยังก้ำกึ่ง ซึ่ง 36 คนข้างต้นมีพื้นเพชีวิตดีบ้างไม่ดีบ้าง ผสมกับคนที่มาจากพื้นเพชีวิตที่ดีหน่อย มีครอบครัวรองรับ มีงานทำ เมื่อพ้นโทษออกไปเขาก็กลับไปสู่การงาน ที่มีพี่น้องต่าง ๆ คอยช่วยเหลือ ก็ไม่ทำผิดซ้ำ แต่พอปีที่ 2 คนที่อยู่ใน 36 คน มีประมาณ 10 คนที่มาทำผิดซ้ำ เพิ่มเป็น 24 คน และพอมาปีที่ 3 คนใน 36 คนก็ทำผิดซ้ำอีก 10 คน ก็เลยเป็น 34 คน เพราะฉะนั้นสรุปคือคนที่ออกไปจากคุก 100 คน ภายใน 3 ปี จะกลับมาในคุก 1 ใน 3 หรือ 34% ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ค่อนข้างสูง
แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เช่น อเมริกามีสถิติคนทำผิดซ้ำในขณะพ้นโทษ 50% ญี่ปุ่น 48% ฝรั่งเศส 60% ประเทศไทยยังถือว่าต่ำกว่า แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศเหล่านั้นได้ เพราะสถิติข้างต้นขึ้นอยู่กับการส่งคนประเภทไหนเข้าไปในคุก ส่วนใหญ่อเมริกาจะส่งคนพื้นเพไม่ดีเข้าไปในคุก คนพื้นเพดีเขาจะเอาไปคุมประพฤติแทน พอมาคิดเป็นร้อยละสถิติของเขาเลยมีคนทำผิดซ้ำสูง
ต้องเปลี่ยนแปลงผู้ต้องขัง
จะทำยังไงให้คนที่ทำผิดซ้ำจะไม่ทำผิดซ้ำ คือ จะต้องเปลี่ยนแปลงเขา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้เราเปลี่ยนแปลงไม่ถูกคน เราไปเปลี่ยนคนที่ดีอยู่แล้ว เช่นใน 50% ของผู้ต้องขังที่พื้นเพดีอยู่แล้ว มี 36% ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วน 14% เราไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงเขา เพราะเราไปทำกับคน 14% ที่ไม่ค่อยสนใจจะทำ เขาอยากกลับไปเสพยาเสพติด กลับไปขโมยของเขาเหมือนเดิม เพราะบ้านของเขาเหลวแหลก เขาเหมือนแก้วที่แตกสลาย อยู่ในสังคมนั้นมา 30 ปี ย่อมถูกทำลายหมดแล้ว
แล้วใช้เวลา 2 – 3 ปีมาเปลี่ยนเขา มันยาก เพราะฉะนั้นเรือนจำเลยไปแก้ตรงคนที่เปลี่ยนเขาง่าย ๆ เช่น พักโทษ จะทำได้ก็ต้องมีญาติมารับรองงานทำ ต้องมีนิสัยดี ต้องมีการศึกษา คนเหล่านั้นคือคนที่มีพื้นเพดี ยังไงก็ไม่ทำผิดซ้ำและก็ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
ในขณะที่คนพื้นเพไม่ดี อบรมอะไรไปก็ไม่อยากอบรม เจ้าหน้าที่ก็เลยไม่อบรมคนพวกนี้ พอออกไปคนส่วนนี้ก็เลยทำผิดซ้ำ พูดง่าย ๆ คือเราอบรมผิดคน เราไปอบรมคนดี เพราะคนไม่ดีอบรมยากและก็ไม่อยากอบรม การฝึกอาชีพ การแก้ไขผู้กระทำความผิดของกรม จึงเน้นเรื่องของคนดี ๆ ก็ทำให้เขากลับเข้าสู่สังคมได้ จริง ๆ ไม่ต้องทำอะไรเขาก็กลับได้อยู่แล้ว คนที่ไม่ดีก็ไม่ทำอะไรกับเขา เพราะเขาก็ไม่อยากทำ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากอบรม เพราะอบรมแล้วก็ไม่ค่อยเอาถ่าน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหามันอยู่ตรงนี้
ทางออกของปัญหา คือ ราชทัณฑ์จะต้องหันมาอบรมคนที่พื้นเพไม่ดี
วิธีแก้ไขคือราชทัณฑ์จะต้องหันมาอบรมคนที่พื้นเพไม่ดี จัดโปรแกรมอบรมให้คนเหล่านี้ ต้องสนใจคนเหล่านี้ด้วย ทรัพยากรไปใช้กับคนพื้นเพดี ๆ จนทรัพยากรไม่เหลือไปอบรมคนไม่ดี ต้องสนใจทรัพยากรมาอบรมคนไม่ดี วิธีการ คือ
1. เลือกคนมาอบรมให้ถูก คือคนพื้นเพไม่ดีหรือมีความเสี่ยงสูง
2. วิธีการอบรมที่จะต้องเปลี่ยนความคิดของคนที่พื้นเพไม่ดีให้มองเห็นคุณค่าของตนเอง
เพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่ไม่เคยได้รับอะไรมาจากในสังคม ไม่เคยมีความหวังในสังคม ไม่มีเป้าหมายในชีวิต อยู่ไปวัน ๆ เสพยาบ้าง ลักขโมยบ้าง เราต้องทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองก่อน ทำให้เห็นว่าตัวเขาก็มีคุณค่า มีสิ่ง ๆ ดี มีพรสวรรค์อยู่ในตัว
หน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องดึงพรสวรรค์ ดึงสิ่งดี ๆ ของเขาออกมา ทุกคนมีความเก่งมีความดีอยู่ในตัว
ยกตัวอย่าง เด็กผู้หญิงอายุ 18 ปี คดียาเสพติดเข้ามาในคุก ถูกคนอายุมากในคุกรังแก เขาก็สู้คนไม่ยอมถูกรังแก ปรากฏเราเห็นแววว่าเขาสู้คน เลยเอาเขามาฝึกมวย ฝึกจนเป็นแชมป์โลก ชื่อ แซมซั่น ส.ศิริพร กลายเป็นนักโทษคนแรกของโลก ที่กลายเป็นแชมป์โลกในตอนที่เป็นนักโทษอยู่ ออกชกหน้าคลองเปรม ชกเสร็จกลับไปนอนในคุกเหมือนเดิม พออกคุกก็ไปเป็นแชมป์ต่อ มีเงินเป็นล้าน ๆ ชีวิตเขาพลิกผัน เพราะเราเห็นศักยภาพในตัวเขา เขาก็เห็นว่าตัวเองมีคุณค่า
นอกจากนี้ก็มีพวกร้องเพลงประสานเสียง เราจับมาร้องเพลงประสานเสียง พันธกิจเรือนจำคริสเตียนก็เข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนให้ไปร้องเพลงบนเวทีหอประชุมแห่งชาติ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ประมาณ 400 คน คนดู 5000 คน ปรบมือให้เขาทุกคน เขาเลยรู้สึกว่าถ้าเขาทำความดีก็ทำได้ คนยอมรับเขา สังคมยอมรับเขา ปรากฏว่าเขาออกมาจากคุก เขาก็ไปอยู่ในพันธกิจเรือนจำคริสเตียน ที่เคยเป็นคนสอนเขาร้องเพลงประสานเสียง มีคนเปลี่ยนศาสนาเลยก็มี ไปอยู่มูลนิธิบ้านพระพรก็มี เขาก็ให้การศึกษา หางานให้ทำ ก็ทำให้เขากลับตัวได้
อีกตัวอย่าง คือ แพท พาวเวอร์แพท เขาบอกว่าโชคดีที่ติดคุก ถ้าไม่ติดคุกอาจจะตายไปแล้วก็ได้ เพราะใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยง เขาเรียนจบปริญญาตรี 2 ใบในคุก เรียนวาดรูป ไม่เคยคิดว่าก่อนว่าเขามีความสามารถในการวาดรูป เขาออกมาเขาก็คิดได้ เปลี่ยนแปลงความคิด
ต้องมีหน่วยงานมารองรับผู้ที่เพิ่งพ้นโทษ
ถ้าเรือนจำมีการเปลี่ยนวิธีคิดเขา ได้ดึงศักยภาพในตัวเขาออกมา ให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง ดึงศักยภาพในตัวเขาออกมา บางคนทำเค้ก ทำอาหารเก่ง แต่ไม่เคยรู้ เขารักอะไร เราก็ฝึกงานนั้นให้เขา ให้เขาตั้งเป้าหมายในชีวิต แล้วสนับสนุนฝึกเขาให้เต็มที่ อีกทั้งจะต้องมีองค์กร หน่วยงาน ห้างร้าน มีที่ต่าง ๆ มารับรองคนเหล่านี้ เช่น มูลนิธิบ้านพระพร มูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ หรือ TIJ ที่ให้รถเข็นทำสตรีทฟู้ด แต่ถ้าให้กรมราชทัณฑ์ทำ จะทำไม่ได้ เพราะมีหน้าที่แค่อบรม เพราะฉะนั้นข้างนอกต้องมีหน่วยงานอื่นมาช่วย เช่น ตึก TIJ ตึกใหม่ จะมีร้านทำผม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เราจะจ้างผู้พ้นโทษมาทำ ทำจนชำนาญ จนเปิดร้านเองได้ ต้องมีที่มารับรองการกลับเข้าสู่สังคมของเขา ไม่ใช่ฝึกเสร็จแล้วปล่อยเขาไป เพราะส่วนใหญ่ไม่รอด ฝึกในคุกทำได้ แต่พอออกคุกไป เขาไม่รู้การหาทำเล การขาย อยู่ในคุกก็ขายได้ แต่ข้างนอกเขามีการขายแบบใหม่ ๆ แล้ว ในปัจจุบันขายของผ่านไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า แอปพลิเคชันมากมาย ชีวิตในการค้าขายเปลี่ยนไปจากเดิม เขาไม่เคยรู้มาก่อน ต้องมีคนมาคอยช่วยสอน ทำให้กลับเข้าสู่สังคมได้
ความคิดเห็นต่อการปรับตัวของคนในชุมชนที่มีต่อผู้ที่เคยติดคุก
เป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ของหลายฝ่าย ของ TIJ ของกรมราชทัณฑ์ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง โดยกรมราชทัณฑ์ต้องผลิตผลงานให้ดี นักโทษคุณต้องอบรมให้ดี ไม่มาก่อเหตุ ถ้ามีคนทำผิดแค่คนเดียว แต่จะเกิดการมองเหมารวมนักโทษทั้งหมดว่าไม่ดีแม้ว่าบางคนจะไม่ได้ทำ จะต้องสร้างภาพลักษณ์ สร้างการรณรงค์ ให้คนในสังคมยอมรับผู้พ้นโทษมากขึ้น ส่วนคนในสังคมต้องมองผู้ต้องขังหรือผู้พ้นโทษอย่างแยกแยะ ว่าไม่ใช่ผู้พ้นโทษทุกคนที่เป็นคนไม่ดี ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคนดี ทุกสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกัน ส่วนใหญ่ผู้ที่พ้นโทษที่ได้รับการอบรม เราปรับเปลี่ยนเขาสำเร็จ เขาต้องการจะเป็นคนดี สังคมไม่ควรรังเกียจเขา แต่คนที่ออกจากคุกแล้วไม่ไปทำงานก็ยังมีอยู่ซึ่งต้องจัดการอีกที
การยอมรับและแยกแยะในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ
ยกตัวอย่างร้านกาแฟของเรือนจำ ที่มีบอร์ดหน้าร้านเขียนว่า ยินดีต้อนรับคุณ ถ้าคุณฝึกอาชีพแล้วได้ดี ถ้าคุณออกมาเรายินดีกลับเข้าสู่สังคม แล้วเอากลับไปติดในเรือนจำให้เขาเห็นว่าคนภายนอกเขายินดีต้อนรับคุณ ไม่ต้องกลัว ถ้าคุณทำตัวดีแล้วจะไม่มีใครรังเกียจคุณ หรือการเอาเขาออกมาแสดงข้างนอก ร้องเพลง คนปรบมือกันเป็นแถว ทำให้คนข้างนอกเห็นว่าผู้ต้องขังทำได้ มีฝีมือ และไม่ใช่คนเลวหมดทุกคน
ในสิงคโปร์มีโครงการ Yellow Ribbon หรือโบสีเหลือง มีที่มาจากเหตุการณ์ในสมัยที่อเมริกามารบที่เวียดนาม ทหารจะกลับบ้านเขาก็กลัวว่าที่บ้านจะไม่ยอมรับเขาที่เป็นทหารผ่านศึกจากเวียดนาม ถ้ายอมรับให้เอาโบสีเหลืองผูกไว้ สิงคโปร์ก็ทำโครงการนี้กับผู้ต้องขัง คือ เห็นโบสีเหลืองแปลว่าข้างนอกยอมรับคุณ ไม่ต้องกลัว รณรงค์ให้ห้างร้านต่าง ๆ รับผู้พ้นโทษมาทำงาน มีการวิ่งมาราธอนเพื่อระดมทุน ประชาสัมพันธ์ให้ผู้พ้นโทษ วิ่งรอบคุก ทำให้คนเห็นว่าคุกไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นโรงเรียนสำหรับการเปลี่ยนคน โรงเรียนชีวิตของผู้ต้องขัง
ของไทยก็พยายามที่จะทำ เช่น มีคลิปออกมาเพื่อยอมรับผู้พ้นโทษมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้พ้นโทษที่ออกมาจะสร้างความเดือดร้อนอีกหรือไม่ ซึ่งยังมีบางส่วนที่ออกไปแล้วสร้างความเดือดร้อน แต่เรือนจำต้องจำแนกให้ได้ โดยขังคนเหล่านั้นเก็บไว้ ล่าสุดมีพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือกฎหมาย JSOC โดยกระทรวงยุติธรรม ที่จะขังคนที่ทำผิดในคดีโหดเหี้ยม เช่น ฆ่าข่มขืนเด็ก ฆาตกรรมต่อเนื่อง ข่มขืนต่อเนื่อง ดูแล้วมีความผิดปกติทางจิต เขาก็จะเก็บไว้นาน ๆ ให้ความชราภาพทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรม ออกมาก็หมดฤทธิ์
สมัยก่อนการปฏิบัติต่อคนทำผิดไม่ว่าจะเป็นคนร้ายหรือดี เราก็ปฏิบัติเหมือนกันหมด เช่น การลดโทษ เราก็ลดเหมือนกันหมด แต่ตอนนี้มีการแยกแยะแล้ว ถ้ามีการลดโทษมาแล้วคุณอยู่ในการทำผิดคดีร้ายแรง เราจะไม่ปล่อยเขาออกไป ยังไม่ลดโทษ แต่ถ้าคดีทำผิดเล็กน้อย เราก็จะปล่อยเขาออกไป และก่อนออกไปก็ฝึกเขาอย่างหนัก เพื่อให้เขากลับเข้าสู่สังคมได้ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบราชทัณฑ์ทั้งหมด
คนที่ทำผิดซ้ำที่ไม่ใช่คดีร้ายแรง แต่เป็นพวกคดียาเสพติด ลักทรัพย์เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ทำผิดซ้ำบ่อย ๆ โทษยาเสพติดโทษ 2 – 3 ปี ไม่นานก็ออก แล้วก็จะทำผิดซ้ำ พวกนี้ยังไม่ทันได้อบรมก็พ้นโทษแล้ว ต้องอบรมคนพวกนี้ให้มาก
แนวทางการจัดการกับคนที่ทำผิดในอนาคตที่ไม่ใช่การขังคุก
อีกหน่อยคุกจะกลายเป็นพิพิธพันธ์ การคุมขังคนที่ทำผิดจะเป็นวิธีการที่ล้าสมัย เหมือนก่อนที่จะมีระบบเรือนจำ เราใช้ระบบเฆี่ยนตี ทรมาน ถือเป็นการลงโทษคน เมื่อ 200 ปีก่อน เราคิดระบบคุกมาแทนเพื่อคุมคน และในอีกไม่นาน 20 – 30 ปี ระบบเรือนจำจะไม่จำเป็นแล้ว จะมีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มาแทนที่คุก จะไม่ใช้กำแพงในการขังคนอีกต่อไป จะไม่ใช่โซ่ตรวนในการขังคนอีกต่อไป จะมีเทคโนโลยีเช่น การฝังชิป ยาอะไรต่าง ๆ ที่ทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมคน อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก แต่เทคโนโลยีมาเร็วมาก
ฝากถึงคนในสังคมและผู้ที่ทำความผิดซ้ำ
สำหรับคนในสังคม ฝากว่าขอให้มองผู้พ้นโทษอย่างแยกแยะ และเปิดโอกาสให้เขากลับเข้าสู่สังคม เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนจะกระทำผิดซ้ำหรือเป็นคนเลวหมด ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ก็พยายามอบรมที่ไม่ค่อยดีอย่างเต็มที่แล้ว และคิดว่าแนวทางใหม่ที่กำลังดำเนินการจะได้ผล คนที่ทำผิดซ้ำลดน้อยลง ขณะเดียวกันผู้ที่กระทำผิดซ้ำอยู่ต่อไปก็ขอให้คิดว่า ถ้าคุณทำผิดซ้ำบ่อย ๆ เขาก็จะถูกขังนาน ๆ เขามีกฎหมายใหม่ออกมาแล้ว อยู่จนเบื่อไปเลย จะไม่ปล่อยออกมาง่าย ๆ เหมือนเดิมแล้ว ถ้าคุณทำดี เรียนรู้แก้ไข คุณก็จะได้ออกมาเร็วและมีชีวิตใหม่ ที่นั่นจะเป็นโรงเรียนในการเปลี่ยนชีวิตของคุณ อยู่ในนั้นให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด อย่าปล่อยให้เวลาว่างไปจนเปล่าประโยชน์
หมายเหตุ: ที่มาภาพนายนัทธี จิตสว่าง www.tijthailand.org