“…ความสมบูรณ์แบบอาจจะเหมือนน้ำอันน้อยนิดที่หยดลงบนทะเลทรายแห่งโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ ณ จุดที่ความสมบูรณ์แบบเกิดขึ้น มันคือความอิ่มเอมในรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยให้เรารับรู้ว่ายังมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องใส่ใจ ให้คุณค่าจนกว่าการเดินทางของชีวิตจะจบลง…”
ในภาพของคนส่วนใหญ่จะรู้จักคนญี่ปุ่นว่า เป็นคนเขินอาย ขี้เกรงใจ สงวนท่าที รักษาความเป็นส่วนตัว แต่ถือเป็นคนมีมารยาทสุภาพ เอาใจใส่ในทุกรายละเอียดและมีวินัย เป็นวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มาจากปรัชญาการใช้ชีวิตในหลายรูปแบบตามที่ได้เขียนไว้ใน weekly mail สัปดาห์ที่แล้ว ตั้งแต่ อิคิไก (Ikigai) แนวคิดรับรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตและใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า คินสึงิ (kintsugi) การหลุดพ้นจากอาการที่เหงา เศร้าซึม และหมดไฟ วะบิ ซะบิ (Wabi Sabi) การใช้ชีวิตในสภาวะที่เป็นจริง ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง จนถึง โคดาวาริ (Kodawari) ความตั้งใจแน่วแน่ในการทำบางสิ่งให้ออกมาดีที่สุด ซึ่งรวมถึงความพิถีพิถัน และใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
ด้วยปรัชญาการใช้ชีวิตข้างต้น ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีนิสัยขัดแย้งในตัวเองในหลายมิติ เช่น ภาพของความเขินอาย เวลาผู้หญิงหัวเราะมักจะเอามือปิดปาก แต่ถ้าอยู่ในบ่อออนเซ็นกลับเป็นคนละคนกัน พร้อมลงแช่ในบ่อเดียวกับผู้อื่นแบบเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ มองเป็นคนรักษาวินัย ไม่ส่งเสียงเวลาอยู่บนรถโดยสาร (แม้กระทั่งไม่พูดคุยโทรศัพท์) แต่ในสถานการณ์อื่นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เช่น หากเดินไปตามท้องถนน พนักงานตามร้านจะยืนตะโกนเรียกลูกค้าอยู่หน้าร้านอย่างเอิกเกริก หรือการส่งเสียง “อิรัชชัยมาเสะ (いらっしゃいませ)” ต้อนรับลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้านอาหาร แบบได้ยินกันไปทั่วร้าน แต่ที่จะขัดแย้งกันสุดขั้วคงไม่พ้น ความเป็นคนสมบูรณ์แบบ เอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ตามปรัชญาโคดาวาริ และการใช้ชีวิตในแบบ วะบิ ซะบิ ที่ชื่นชมและเห็นคุณค่าของความเรียบง่ายความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่มีจิรังของสิ่งรอบ ๆ ตัว ซึ่งแนวทางดำเนินชีวิตทั้งสองอยู่ในคน ๆ เดียวดูเหมือนจะย้อนแย้งเป็นที่สุด
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า ความพยายามที่จะทำให้ตนเองสมบูรณ์แบบ ใส่ใจในทุกรายละเอียดนั้น นำไปสู่การพัฒนาตนเองแบบไม่สิ้นสุด ทุกสัปดาห์ที่ผมเขียน weekly mail จะต้องศึกษาค้นคว้า ทุกตัวอักษรและประโยคที่บรรจงออกมา มีความตั้งใจที่จะทำให้บทความมีคุณภาพมากที่สุด ตัวสะกดทุกตัวไม่อยากให้ผิดพลาด และเมื่อได้ส่งออกไปแล้ว คิดว่าเป็น weekly mail ที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อได้มีโอกาสอ่านอีกครั้ง มักจะพบได้ว่า บทความนั้นมีจุดต้องปรับปรุงหลายจุด ไม่ดีอย่างที่หวัง ทำให้ต้องยอมรับว่า การไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบไม่มีวันสิ้นสุด และนั่นก็คือจุดที่ วะบิ ซะบิ เข้ามาอยู่ในความรู้สึก ให้ยอมรับถึงความเรียบง่าย ความไม่มีจิรังขอสิ่งรอบ ๆ ตัวเพื่อให้รับรู้ถึงสัจธรรมของชีวิต
คุณปริญญา สำโรงทรัพย์ ได้ให้ความเห็นในบทความเรื่อง 'ความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ' ว่า “ความสมบูรณ์แบบอาจจะเหมือนน้ำอันน้อยนิดที่หยดลงบนทะเลทรายแห่งโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ ณ จุดที่ความสมบูรณ์แบบเกิดขึ้น มันคือความอิ่มเอมในรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยให้เรารับรู้ว่ายังมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องใส่ใจ ให้คุณค่าจนกว่าการเดินทางของชีวิตจะจบลง”
แนวทางการดำเนินชีวิตของเชฟจิโร่ โอโนะ (Jiro Ono) เจ้าของร้านซูชิแรกของโลกที่ได้มิชลินสตาร์ 3 ดาว มุ่งมั่นใส่ใจในทุกรายละเอียด แสวงหาความสมบูรณ์แบบในอาหารที่ทำทุก ๆ วัน เพื่อทำให้ทักษะตนเองเพิ่มขึ้น และยกมาตรฐานรสชาติของซูชิให้สูงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันจิโร่ยอมรับความจริงว่า ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบ เพียงแค่วันนี้ เราเริ่มลงมือทำและทำให้ดีที่สุด เหมือนกับแนวคิดของ วะบิ ซะบิเห็นคุณค่าของความไม่สมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็นถ้วยชารูปทรงบิดเบี้ยว หรือกำแพงปูนที่สีหลุดจนเห็นอิฐด้านใน ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้จิโร่สามารถใช้ชีวิตกับปัจจุบันอย่างมีความสุข
ดังนั้น การดำเนินชีวิตทั้งสองรูปแบบคือ โคดาวาริ และวะบิ ซะบิไปพร้อม ๆ กัน เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่หล่อหลอมร่วมกันได้อย่างลงตัว
รณดล นุ่มนนท์
เขียนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566
แหล่งที่มา:
-โบ๊ท JapanPerspective 5 นิสัยแสนขัดแย้งในตัวเองของคนญี่ปุ่น Kijji Magazine, 15 March 2021 https://kiji.life/5-japanese-confusing/
-Parinya Samrongsap ความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ, December 6, 2008 https://medium.com/@ZabbDev
-รังสินี ไชยคุณ “วะบิซะบิ” คืออะไรหนอ ? Kijji Magazine, 13 February 2008 https://kiji.life/wabisabi/