"...แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่คนไทยใช้เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวพักผ่อนและเกื้อหนุนเศรษฐกิจของชาติ น่าเสียดายที่เกิดการบุกรุกจนสภาพแวดล้อมถูกทำลายด้วยความละโมบและคอร์รัปชัน ขณะที่หน่วยงานของรัฐก็ด้อยประสิทธิภาพและละเลยจนไม่สามารถบริหารจัดการได้..."
การรุกล้ำลำน้ำสาธารณะโดย 'ชาวบ้าน นายทุนและรัฐ' กำลังเป็นปัญหาคุกรุ่นทั่วประเทศที่ภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการได้เพราะอุปสรรคด้านกฎหมาย ความไม่รู้ ไม่ใส่ใจ ผลประโยชน์ที่นำไปสู่คอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง
วิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมทำให้มีผู้คนไปตั้งบ้านเรือน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแหล่งน้ำธรรมชาติ คลอง บึง ธารน้ำตก แอ่งน้ำเหนือเขื่อน ชายหาด ป่าชายเลน ฯลฯ เช่นเดียวกับโรงงานและธุรกิจขนาดใหญ่ก็นิยมเลือกทำเลริมน้ำด้วยหลายปัจจัย เช่น ความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่ง การนำน้ำมาใช้ การทิ้งของเสีย เป็นต้น
แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่คนไทยใช้เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวพักผ่อนและเกื้อหนุนเศรษฐกิจของชาติ น่าเสียดายที่เกิดการบุกรุกจนสภาพแวดล้อมถูกทำลายด้วยความละโมบและคอร์รัปชัน ขณะที่หน่วยงานของรัฐก็ด้อยประสิทธิภาพและละเลยจนไม่สามารถบริหารจัดการได้
ใครบ้างเป็นผู้บุกรุก
การรุกล้ำลำน้ำด้วย ‘สิ่งปลูกสร้างและการใช้สอย’ เกิดจากการกระทำของประชาชน พ่อค้า อภิสิทธิ์ชน นักการเมือง รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่ไร้ความรับผิดชอบ ด้วยการถมตลิ่ง ถมทะเล ถมคูคลอง สร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น สร้างโรงเรือน ท่าเทียบเรือ เขื่อนกันน้ำกัดเซาะ กระชังปลา โรงสูบน้ำ ทางเดินเลียบฝั่ง สะพานข้ามคลอง รวมถึงการทิ้งน้ำเสียหรือสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มปศุสัตว์และโรงงาน ฯลฯ
ปัญหาตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น การตั้งร้านอาหารในธารน้ำตก การแย่งชิงที่นั่งตามโขดหินและจุดชมวิวริมน้ำ ตามชายหาดมีการยึดครองพื้นที่โดยตั้งร่ม เตียงผ้าใบ ร้านค้าและโรงแรมปักป้ายแสดงบริเวณชายหาดส่วนตัว
การเอาเปรียบสังคมเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออภิสิทธิ์ชนนิยมสร้างที่พักหรู ศาลาริมน้ำ ท่าเทียบเรือใหญ่โตในแม่น้ำกีดขวางทางน้ำและเป็นอันตรายต่อผู้คนที่สัญจรทางน้ำ มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม คอนโด ออกโฉนดรุกล้ำแหล่งน้ำ บางกรณียังพบว่าเป็นโครงการของหน่วยงานรัฐเอง เช่น รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า ประปา แก๊ส/น้ำมัน เดินท่อสายเคเบิ้ล หรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อภารกิจของหน่วยงานเอง หลายพื้นที่เกิดความขัดแย้งจากการบุกทำลายสภาพแวดล้อม มีการร้องเรียนจากประชาชนแทบทุกจังหวัดไปยัง ป.ป.ช. ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต มีส่วนร่วมรู้เห็น ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิมิชอบ บุกรุก ใช้ประโยชน์บนที่ดินรัฐอย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบันยังมีผู้ร้องทุกข์ไปยังกรมเจ้าท่ากว่า 1,000 เรื่อง
กฎหมายกลายเป็นตัวปัญหา
ทุกวันนี้การควบคุมดูแลเรื่องนี้มีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้อง 22 แห่งตามอำนาจกฎหมาย 22 ฉบับที่มีรายละเอียดและจุดเพ่งเล็งต่างกัน เช่น กรมเจ้าท่า กรมโรงงาน กรมชลประทาน ตำรวจ กรมธนารักษ์ กรมประมง กรมทรัพยากรฯ ผังเมือง เทศบาล/อบต. ฯลฯ บางกฎหมายมีการมอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นแล้วบางเรื่อง เช่นกรมเจ้าท่ามอบอำนาจให้ อปท. ทำหน้าที่แทน 4 เรื่อง
เรื่องยากสำหรับเจ้าหน้าที่
การมีกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากแต่ขาดการประสานงานกัน ทำให้ขาดความชัดเจนในหมู่เจ้าหน้าที่ว่า ใครมีอำนาจอย่างไร แค่ไหน ขั้นตอนใด
อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานแต่ละพื้นที่ย่อมมีประสบการณ์ต่างกัน อาจด้วยอายุงานและการโยกย้าย ความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบของปัญหาที่ไม่เท่ากัน การใช้ดุลยพินิจและการตีความกฎหมายจึงต่างกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งในชุมชนหรือการละเมิดกฎหมายจึงมีทักษะไม่เท่ากันในการแก้ไขปัญหา ที่แย่กว่านั้นคือ เพื่อ“หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ” และปัญหาที่อาจตามมา เจ้าหน้าที่จึงมักใช้อำนาจกำกับดูแลหรือให้คำแนะนำแก่ผู้มาติดต่อเท่าที่จำเป็น หากใครมีปัญหาใหม่วันข้างหน้าค่อยว่ากัน
ปัญหาจะเลวร้ายหนักไปอีกหาก 1) เจ้าหน้าที่ฉ้อฉล เรียกรับสินบนหรือรีดไถคนที่คู่กรณีไม่ว่าทำถูกหรือผิดกฎหมาย 2) กรณีบุกรุกนั้นอยู่ในอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วนักการเมืองท้องถิ่นเกิดเกรงใจฐานเสียง มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือต้องการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
เรื่องยากเกินไปสำหรับประชาชน!!
ประชาชนและผู้ประกอบการยิ่งสับสนและเสี่ยงมากกว่า จากหลักปฏิบัติในการติดต่อราชการ เช่น ต้องไปขอที่ใคร ขอใครก่อน แต่ละที่มีขั้นตอนเงื่อนไขอย่างไร ใช้เวลามากแค่ไหน เช่นเคยมีการตีความว่า การสร้างโป๊ะ ท่าเทียบเรือหรือเรือนริมน้ำ แม้จะขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าแล้ว แต่สิ่งปลูกสร้างนั้นอาจกีดขวางลำน้ำและการจราจรทางน้ำ จึงต้องไปขออนุญาตจากผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทยด้วย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มีการตีความว่า การอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างตามชายหาด ไม่ใช่การอนุญาตให้ถมทะเลเพราะขัดกฎหมายการเดินเรือ และหากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตชุมชนโดยรอบ ก็ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก
แน่นอนว่าการมีเงื่อนไขของกฎหมายและเจ้าหน้าที่จำนวนมากทำให้เกิดเรื่องยุ่งยาก ภาระ ค่าใช้จ่ายและเสียเวลาดังนั้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การทำผิดกฎหมายและคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ก็ตามมา
บทสรุป
วันนี้ปัญหารุกล้ำลำน้ำยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นระบบ เชื่อว่าในอนาคตปัญหาจะมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำมาสู่ความขัดแย้งของสังคมและเกิดช่องทางคอร์รัปชันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง
การอยู่อาศัยริมน้ำเป็นสิทธิของประชาชนที่รัฐยอมรับ การทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้จำต้องมีกติกาชัดเจนและยอมรับร่วมกัน โดยเริ่มจากการทำให้ประชาชนรู้สิทธิของตน เพื่อจูงใจให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการผลประโยชน์และดูแลชุมชนอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องชัดเจนในเรื่องหลักปฏิบัติและมีการรวมศูนย์การบริหารจัดการ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
นางสาวชนันท์พิชาญ์ โพธิ์นอก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)