"...ปัจจุบันร้านยาชุมชนมีบทบาทการให้บริการมากกว่าการจำหน่ายยา โดยมีการให้บริการทางด้านสุขภาพ เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เป็นต้น นอกจากนี้ บางร้านยามีการจัดทำสมุดบันทึกประวัติผู้ป่วย, ช่วยคัดกรองโรคเบื้องต้น, จ่ายยากรณีที่อาการไม่รุนแรง, ให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิด และจ่ายยาแทนโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เช่น เบาหวาน ความดันสูง ส่วนความต้องการในการรับบริการของประชาชน ..."
จากสถานการณ์ความแออัดในโรงพยาบาลที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น หากระบบสุขภาพยังไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ดีเท่าที่ควร และจากข้อมูลของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ พบว่า ในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ อยู่ที่กว่า 200 ล้านครั้ง/ปี ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นมีเพียง 2 ใน 5 เท่านั้นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจริงๆ ที่เหลือเป็นอาการที่สามารถรับบริการในศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพเบื้องต้นได้ และใกล้ชิดผู้ป่วยมากกว่า1 รวมทั้งในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศโรคดังกล่าวให้เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จึงจำเป็นต้องลดการไปโรงพยาบาลในผู้ป่วยที่ไม่มีความเร่งด่วน เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ซึ่งการรับยาที่ร้านยา นับเป็นทางเลือกที่ประชาชนยังสามารถได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นการพัฒนาบทบาทหน้าที่วิชาชีพของเภสัชกรที่ร้านยา เพราะการบริบาลทางเภสัชกรรมไม่ใช่เพียงการจ่ายยาตามใบสั่งยาเท่านั้น แต่มุ่งให้เภสัชกรคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ และกระตุ้นให้ประชาชนมีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยจากการใช้ยา
ร้านยาจึงนับเป็นสถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีความสำคัญต่อประชาชน เนื่องจากร้านยาตั้งอยู่ใกล้ชิดประชาชน และกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในชุมชน มีความสะดวกในการใช้บริการ ไม่ต้องเสียเวลานานในการรอรับบริการ นอกจากนี้ร้านยายังเป็นสถานที่ปฏิบัติการด้านวิชาชีพที่สำคัญของเภสัชกรอีกด้วย ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ย้ำถึงบทบาทของร้านยาชุมชนว่า การรับยาที่ร้านยา นอกจากช่วยสนับสนุนเรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาลแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยด้วยบทบาทการดูแลสุขภาพของเภสัชกรร้านยา ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการให้เกิดระบบที่มีการใช้ทั้งทรัพยากรและบุคลากรในระบบสุขภาพอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพราะเภสัชกรไม่ใช่เป็นแค่เพียงคนขายยาเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยาที่สามารถให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดการรักษาและดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง
เพราะฉะนั้นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ศักยภาพให้เต็มที่ของเภสัชกรที่ร้านยา สามารถช่วยลดภาระของบุคลากรในโรงพยาบาล และลดความแออัดในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี แม้ปัจจุบันเภสัชกรที่ร้านยาจะมีความตื่นตัว และพัฒนาบทบาทด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาเชิงระบบในเรื่องต่างๆ มีความเป็นไปได้ของการนำไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เป็นอยู่ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งงานวิจัย “แนวทางและความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาในชุมชน” เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ สวรส. มีเป้าหมายเพื่อศึกษาความต้องการของประชาชน และแนวทางในการขยายการให้บริการด้านยาจากโรงพยาบาลไปสู่ร้านยาชุมชน ตลอดจนประเมินต้นทุนจากการขยายรูปแบบการให้บริการดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอจากงานวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการให้บริการในระดับปฐมภูมิที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นหัวใจหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาแนวทางการให้บริการด้านยาที่ร้านยาชุมชนคือ การรู้ถึงความต้องการของประชาชน รวมทั้งปัจจัยและสาเหตุที่ส่งผลต่อการตัดสินใจให้ประชาชนมารับยาที่ร้านยา ตลอดจนการประเมินต้นทุนที่เกิดขึ้นกับร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านงานวิจัย โดยมี ผศ.ดร.สมหมาย อุดมวิทิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายวิจัย สวรส. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันร้านยาชุมชนมีบทบาทการให้บริการมากกว่าการจำหน่ายยา โดยมีการให้บริการทางด้านสุขภาพ เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เป็นต้น นอกจากนี้ บางร้านยามีการจัดทำสมุดบันทึกประวัติผู้ป่วย, ช่วยคัดกรองโรคเบื้องต้น, จ่ายยากรณีที่อาการไม่รุนแรง, ให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิด และจ่ายยาแทนโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เช่น เบาหวาน ความดันสูง ส่วนความต้องการในการรับบริการของประชาชน
จากการสำรวจผู้ใช้บริการจำนวน 255 ราย ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบว่า ส่วนใหญ่พบปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้อยละ 84.30 เป็นการรอพบแพทย์นาน และร้อยละ 74.10 เป็นการรอรับยานาน สำหรับพฤติกรรมการใช้บริการร้านยา ผู้รับบริการส่วนใหญ่มีการไปร้านยา 2-3 เดือนต่อครั้ง และมักไปร้านยาที่ใกล้บ้าน/ใกล้ที่ทำงานเป็นหลัก ด้านความต้องการบริการเพิ่มเติมจากร้านยา บริการที่ต้องการสูงสุดคือ การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น รองลงมาคือ การดูแลและรับยาต่อเนื่องในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการดูแลฉุกเฉินด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยา รวมไปถึงการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการกว่าร้อยละ 80 มีความต้องการไปรับยาที่ร้านยา แต่ร้อยละ 75 ยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการรับยาที่ร้านยา
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มจะมารับยาที่ร้านยาคือ ปัญหาความแออัดและการรอรับยาเป็นเวลานานที่โรงพยาบาล, การมีร้านยาใกล้บ้านเข้าร่วมโครงการ, ขั้นตอนไม่ยุ่งยากและสะดวก, ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
สำหรับการขยายบริการด้านยาของร้านยาชุมชนและต้นทุนที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.สมหมาย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการสัมภาษณ์เภสัชกรร้านยาชุมชน เครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาเภสัชกรรม สมาคมร้านยา และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน เจ้าหน้าที่และผู้บริหารโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยา พบว่า ทุกกลุ่มที่สัมภาษณ์มีความเห็นตรงกันว่า รูปแบบการให้บริการที่ร้านยาที่สามารถถ่ายโอนหรือจัดเป็นบริการเสริมจากโรงพยาบาลมาสู่ร้านยาในชุมชน ได้แก่
-
การวัดความดัน
-
การวัดระดับน้ำตาลในเลือด
-
การจัดส่งยาถึงบ้าน
-
การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องยาและดูแลการจัดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
-
การอธิบายผลข้างเคียงของยาและการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของยา
-
การให้คำปรึกษาผ่านอีเมล/โทรศัพท์/ช่องทางอื่นๆ
-
การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น และ
-
การรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ส่วนแนวทางในการดำเนินโครงการรับยาที่ร้านยา ที่น่าจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุดคือ การที่ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยา สำรองยา และจ่ายยาให้กับผู้ป่วย แล้วเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด เนื่องจากโมเดลนี้ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งยาของโรงพยาบาลแม่ข่าย และร้านยามีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรเจรจากับบริษัทตัวแทนจำหน่ายยาให้ร้านยาสามารถซื้อยาในราคาเท่ากับที่โรงพยาบาลจัดหา
กรณีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ร้านยาชุมชนทุกร้านที่สำรวจ เห็นตรงกันว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งหมายถึงรายได้ที่หายไปของร้านยา ที่มาจากเวลาในการให้บริการที่เพิ่มขึ้น อยู่ในช่วง 6.25-10.42 บาท/คน/ครั้ง ตามขนาดและทำเลของร้านยา ทั้งนี้ในภาพรวมภาครัฐอาจสนับสนุนค่าเสียเวลาในการให้คำปรึกษาและให้บริการ กรณีรวมค่ายาด้วย ประมาณ 187.50-312.50 บาท/คน/ครั้ง กรณีไม่รวมค่ายา จ่ายเฉพาะค่าคัดกรองและให้คำปรึกษา ประมาณ 65.00-109.50 บาท/คน/ครั้ง ทั้งนี้ตัวเลขการประเมินดังกล่าว เป็นการประเมินที่คิดจากกำไรที่หายไปร้อยละ 35 ของร้านยา
จากงานวิจัยสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการขยายบริการด้านยาสู่ร้านยาชุมชน ผศ.ดร.สมหมาย เสนอว่า รูปแบบการให้บริการของร้านยาชุมชน ควรขยายบริการโดยทำหน้าที่เป็นหน่วยคัดกรองและให้คำปรึกษา โดยบริการที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ คือ การคัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น ปวดหัว ตัวร้อน โรคผิวหนัง ตลอดจนโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และการดูแลฉุกเฉินต่างๆ ที่เกี่ยวกับยา นอกจากนี้ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เรื่องการให้บริการที่ร้านยา โดยเฉพาะในกลุ่มที่ประสบปัญหาการรอรับยาเป็นเวลานานที่โรงพยาบาล โดยควรย้ำให้เห็นว่า คุณภาพยาที่จะได้รับจากร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ มีคุณภาพไม่แตกต่างกับยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล และยังช่วยให้ประชาชนประหยัดเวลา สามารถทำได้โดยง่ายและมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก
ในอนาคตหากมีการพัฒนาระบบการจัดการของร้านยาให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น มีการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ และมีการกระจายตัวของร้านยาอย่างเหมาะสม คาดว่าจะนำไปสู่การการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง และส่งผลให้ประชาชนได้รับความสะดวก ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ดีทั้งต่อสุขภาพและดีต่อใจ
ข้อมูลจาก : โครงการวิจัย แนวทางและความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาในชุมชน, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (2563), รับยาร้านยา ตัวช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล? https://www.hitap.net/176056