"...ประเทศไทยถูกประเมินว่า 'มีความเสี่ยงในการฟอกเงินและเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ก่อการร้าย' มากเป็นอันดับที่ 40 ของโลกจาก 128 ประเทศ ด้วยคะแนน 5.8 จากคะแนนเต็ม 10 (คะแนนยิ่งต่ำยิ่งดี) ดีที่สุดในรอบ 11 ปี และเป็นครั้งแรกที่ได้ต่ำกว่า 6 คะแนน แต่ก็ถือว่าสอบตกและมีหลายเรื่องที่ต้องสังคายนา..."
สถาบันบาเซิลฯ ชี้ปัญหาฟอกเงินในไทย มี 'ความเสี่ยงสูง' แม้อันดับโลกจะดีขึ้น
ประเทศไทยถูกประเมินว่า 'มีความเสี่ยงในการฟอกเงินและเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ก่อการร้าย' มากเป็นอันดับที่ 40 ของโลกจาก 128 ประเทศ ด้วยคะแนน 5.8 จากคะแนนเต็ม 10 (คะแนนยิ่งต่ำยิ่งดี) ดีที่สุดในรอบ 11 ปี และเป็นครั้งแรกที่ได้ต่ำกว่า 6 คะแนน แต่ก็ถือว่าสอบตกและมีหลายเรื่องที่ต้องสังคายนา
ในการประเมินและจัดอันดับประจำปี 2565 นี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน พบว่า ดัชนีความเสี่ยงของไทยต่ำกว่าพม่า (7.78) กัมพูชา (7.36) และเวียดนาม (7.04) ตามลำดับ แต่ยังเสี่ยงสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ (5.68) มาเลเซีย (5.33) อินโดนีเซีย (5.19) และสิงคโปร์ที่อันดับดีที่สุด (4.28)
สถาบันบาเซิลเพื่อธรรมาภิบาล (Basel Institute on Governance) เป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การฟอกเงิน การสืบสวนเส้นทางการเงินและการติดตามทรัพย์สินคืนระหว่างประเทศ ได้ประเมินความเสี่ยงฯ จาก 18 แหล่งข้อมูล เช่น ธนาคารโลก และ World Economic Forum เพื่อนำไปวิเคราะห์และประเมินให้ครอบคลุม 5 ด้าน คือ
1. นโยบายรัฐด้านป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
2. การให้สินบนและคอร์รัปชัน
3. มาตรฐานและความโปร่งใสทางด้านการเงิน
4. หลักความโปร่งใสและความสำนึกรับผิดชอบ
5. ความเสี่ยงทางด้านการเมืองและกฎหมาย
สถาบันฯ ยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงฯ ในแต่ละประเทศคือ สภาพแวดล้อมหรือโครงสร้างทางการเมือง หลักนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นอิสระ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือถูกเบี่ยงเบนด้วยความกดดันทางการเมือง
สำหรับประเทศไทย ผลการประเมินล่าสุดนี้ยังน่าผิดหวัง เพราะหลายปีมานี้รัฐบาลแสดงท่าทีให้ความสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาให้ได้มาตรฐานสากล โดยให้การสนับสนุน ปปง. ทั้งยกระดับกฎหมาย เพิ่มฐานความผิด วางแนวพัฒนาตามกรอบการปฏิรูปฯ วางกติกาบังคับเข้มงวดกับสถาบันการเงิน หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ทำให้ปัจจุบันคดีฟอกเงินมีมากถึง 28 ฐานความผิด เช่น ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งมักเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ
นั่นเท่ากับว่า คะแนนของไทยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นผลดีจากระบบที่ทำไป มิใช่พฤติกรรมหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่มีอำนาจ พูดง่ายๆ คือ อำนาจมี คนมี เครื่องมือมี แต่จะก้าวหน้าได้ต้องรอให้มีผู้นำที่จริงจังพร้อมแก้ไข หยุดพฤติกรรมอื้อฉาวทั้งปวง พัฒนาศักยภาพคนและการ ทำงานอย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ดังนั้น เพื่อควบคุมการฟอกเงินให้ได้ผลจำต้องอาศัยนโยบายรัฐที่ชัดเจน ความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องอย่าง ปปง. ป.ป.ช. สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานอัยการคดีระหว่างประเทศ กรมจัดเก็บภาษี ฯลฯ เพื่อช่วยให้การทำงานของภาครัฐและองค์กรภายนอกเป็นไปในทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนี้การเชื่อมโยงฐานข้อมูลของรัฐและการใช้ประโยชน์จาก Big Data จะช่วยให้วิเคราะห์ ประมวลผลและตรวจสอบข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการบริหารจัดการที่ดียิ่งขึ้น สามารถพัฒนานโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้แม่นยำ
ที่ผ่านมา ปปง. ในฐานะผู้ดูแลปัญหาการฟอกเงิน มักถูกวิจารณ์เรื่องธรรมาภิบาลบกพร่อง ประเด็นหนึ่งคือ กฎหมายให้อำนาจเลขาธิการมากเกินไป คือนอกจากควบคุมงานธุรการขององค์กรแล้ว ยังเป็นคณะกรรมการธุรกรรม (บอร์ดเล็ก) คุมอำนาจสั่งยึดอายัด คณะกรรมการ ปปง. (บอร์ดใหญ่) ควบคุมระดับนโยบาย ทำให้มีอิทธิพลควบคุมทิศทางขององค์กรและควบคุมได้ทั้งคดีใหญ่และเล็ก จนอาจตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและช่องทางหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้ง่าย
เชื่อว่าสิ่งที่สังคมอยากเห็นวันนี้ คือ ผู้บริหาร ปปง. ต้องไม่กินสินบน ไม่ตบทรัพย์ ไม่รับใต้โต๊ะ ไม่ก้มหัวให้อำนาจหรืออิทธิพลใด ไม่เล่นพรรคเล่นพวก แต่ตั้งมั่นบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
นางสาวธัญญกร ทิพยโภคิน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
26 ธันวาคม 2565
ที่มา: Basel AML Index 2022: https://index.baselgovernance.org/api/uploads/221004_Basel_AML_Index_2022_72cc668efb.pdf