"...ในส่วนของการติดตามสถานการณ์ด้านจริยธรรมสื่อมวลชนไทย ปี 2565 ได้มีการสรุปเรื่องร้องเรียนที่อาจเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และเรื่องที่คณะกรรมการจริยธรรม คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และคณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หยิบยกขึ้นมาพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้..."
ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในเรื่องนิเวศสื่อที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อำนาจและอิทธิพลของสื่อออนไลน์มีบทบาทสูงขึ้น การถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนในสถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในฐานะองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสำหรับสื่อมวลชน ซึ่งยกระดับจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 มีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนทุกแขนงให้คงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของสังคม โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการที่ประกอบด้วยภาคส่วนสำคัญต่างๆ ทั้งนักวิชาชีพ นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนอย่างเข้มแข็ง ได้มีการติดตามสถานการณ์ด้านจริยธรรมสื่อมวลชนในประเทศไทย และผลักดันกิจกรรมที่จะช่วยให้สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถปรับตัว เติบโต เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยคงไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพ และเป็นที่พึ่งพิงของสังคมได้อย่างยั่งยืน
ในส่วนของการติดตามสถานการณ์ด้านจริยธรรมสื่อมวลชนไทย ปี 2565 ได้มีการสรุปเรื่องร้องเรียนที่อาจเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และเรื่องที่คณะกรรมการจริยธรรม คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และคณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หยิบยกขึ้นมาพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้
1. การเสนอข่าวกรณีกราดยิงศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในกรณีนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้หารือร่วมกันและออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชนทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก ให้พึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวที่มีลักษณะอุจาดและสร้างความรู้สึกสยดสยอง พึงระมัดระวังการตั้งคำถาม และนำเสนอภาพ ในลักษณะซ้ำเติมความทุกข์ รวมถึงการกดดันซ้ำเติม หรือเป็นการดูถูกเหยียดหยามผู้ก่อเหตุแม้จะเสียชีวิตแล้วก็ตาม พึงระมัดระวัง การนำเสนอข่าวในลักษณะขุดคุ้ยเรื่องราวทั้งผู้เสียชีวิต และผู้ก่อเหตุ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ ต่อครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องในระยะยาว และพึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลของคนร้าย รายละเอียดของการกระทำ ประวัติในอดีต หรือสิ่งที่คนร้ายเคยแสดงออก เช่น โพสต์ระบาย หรือจดหมายก่อนลงมือก่อเหตุ
2. การเสนอข่าวนักแสดงสาว 'แตงโม' ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ (นิดา พัชรวีระพงษ์) ตกน้ำเสียชีวิต คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อได้จัดเสวนาถอดบทเรียน และศึกษาการนำเสนอข่าวของสื่อผ่านทางโซเชียลมีเดียในประเด็น 'บทบาทสื่อกับการป้องกันแก้ไขความสูญเสีย จากกรณีการเสียชีวิตของหมอกระต่ายและแตงโม นิดา' โดยใช้ฐานข้อมูลของ WISESIGHT (Thailand) ในการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ 'ZOCIAL EYE' ช่วง 2 สัปดาห์ หลังการเสียชีวิตของหมอกระต่าย และ 2 สัปดาห์ หลังวันที่แตงโมตกจากเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ผลการศึกษาทั้งสองกรณีการเสียชีวิตได้ข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอว่า การทำหน้าที่ของสื่อ นอกจากนำเสนอข่าวในมิติเหตุการณ์ ทั้งในเชิงรายงานเหตุการณ์ การรายงานเชิงสืบสวนแล้ว ควรทำหน้าที่ให้ข้อมูล ความรู้ ทั้งกระตุ้นเตือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติการป้องกัน แก้ไข เพื่อลดความสูญเสีย
3. ตรวจสอบการเสนอข่าว 'หลวงปู่แสง' ของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ซึ่งคณะกรรมการจริยธรรม ได้ทำหนังสือถึงสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ขอให้ใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรของเครือไทยรัฐ ตรวจสอบจริยธรรมในการนำเสนอข่าว โดยได้รับการตอบกลับมาว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรของเครือไทยรัฐได้พิจารณาและมีมติให้ลงโทษผู้ปฏิบัติงานแต่ละส่วนแล้ว
4. การเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของดารา ไมเคิล พูพาร์ต ซึ่งสื่อมวลชนนำเสนอเรื่องนี้อย่างละเอียดทั้งคลิปเสียง จดหมายลาตาย แรงจูงใจ ในขณะนั้นคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ อยู่ระหว่างจัดทำร่างแนวปฏิบัติการรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ จึงให้ศึกษาวิเคราะห์การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของไมเคิล พูพาร์ต เพื่อประโยชน์ทางวิชาการและปฏิบัติการการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติฯ กับสถานการณ์จริงของเหตุการณ์
5. การเสนอข่าวกรณีการทำร้ายร่างกาย นายศรีสุวรรณ จรรยา หลังร้องเรียนให้สอบนายอุดม แต้พานิช (โน้ส) และ เค ร้อยล้าน ทำร้ายร่างกายนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่าควรให้นำเสนอผ่านทางรายการวิทยุ รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 'บทบาทสื่อ ในการลดความรุนแรง-เกลียดชัง' ทางวิทยุ เอฟเอ็ม 100.5 อสมท.
6. กรณีข้อร้องเรียนการนำเสนอข่าวนักเรียนชาย-หญิง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในร้านกาแฟ แต่เนื่องจากขณะนี้มีคณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ ประกอบด้วย สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทางคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อของสภาการสื่อมวลชน ฯ จึงส่งให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาก่อน โดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเป็นผู้รับเรื่องไปดำเนินการก่อนหากยังไม่มีความคืบหน้าในเวลาตามสมควร อาจส่งเรื่องไปยัง กสทช. ต่อไป
7. ข้อร้องเรียนว่าสำนักข่าวบางแห่งได้คัดลอกข่าวจากเว็บไซต์ candyclover ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแม้ว่าสื่อมวลชนเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ แต่คณะทำงานฯ ได้ติดตามตรวจสอบและพบว่าสำนักข่าวเหล่านั้นได้ขอแจ้งขออภัยไปยังเว็บไซต์เจ้าของข้อมูลแล้ว
ส่วนกรณีอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนเข้ามา พบว่า เป็นเรื่องการนำเสนอข่าวไม่ตรงตามความจริง 3 กรณี ซึ่งทางคณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบไปยังสื่อมวลชนที่ถูกร้องเรียนพบว่าเป็นการทำหน้าที่รายงานข่าวตามความเป็นจริง 1 กรณี สื่อมวลชนยอมรับในความผิดพลาด 1 กรณี และสื่อมวลชนไม่ชี้แจงกลับมาแต่ดำเนินการลบข่าวที่ถูกร้องเรียนแล้ว 1 กรณี
นอกจากการติดตามสถานการณ์ด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติยังได้ดำเนินงานโครงการวิจัย 'การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม' ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เล็งเห็นถึงบทบาทของสื่อวิชาชีพทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ในฐานะที่เป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นที่พึ่งและตอบสนองความคาดหวังของสังคมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความอยู่รอดทางธุรกิจด้วย พร้อมทั้งเตรียมที่จะดำเนินโครงการ 'พัฒนาแนวทางการสอนจริยธรรมและกฎหมายสื่อยุคใหม่' ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้แก่วงการวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ภายใต้องค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัย และมีความเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
แหล่งที่มา : https://www.presscouncil.or.th/8482