"...คอร์รัปชันโดยนักการเมืองที่นักธุรกิจพบโดยตรง เช่น การเข้าถึงการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา การเข้าถึงระบบการประเมินภาษี การอนุมัติโควตาส่งออก-นำเข้าสินค้า การได้รับอนุมัติการกู้ยืมจากสถาบันการเงินของรัฐ การได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ (ป.ป.ช. 2565) เป็นการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้อภิสิทธิ์หรือเพื่อการอยู่รอดทางธุรกิจ ที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงว่ายังทำกันได้ในยุคนี้..."
ทุกวันนี้ ภาคการเมืองคือยอดปิรามิดของคอร์รัปชัน เพราะนักการเมืองคือผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐ ออกกฎหมาย จัดสรรงบประมาณ และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการ มีการพัฒนาเครือข่ายอำนาจต่อทุกวงการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง จึงทำให้ภาคการเมืองเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทั้งทางตรงและทางอ้อมไปทั่วโดยปริยาย
คอร์รัปชันโดยนักการเมืองที่นักธุรกิจพบโดยตรง เช่น การเข้าถึงการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา การเข้าถึงระบบการประเมินภาษี การอนุมัติโควตาส่งออก-นำเข้าสินค้า การได้รับอนุมัติการกู้ยืมจากสถาบันการเงินของรัฐ การได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ (ป.ป.ช. 2565) เป็นการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้อภิสิทธิ์หรือเพื่อการอยู่รอดทางธุรกิจ ที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงว่ายังทำกันได้ในยุคนี้
คอร์รัปชันโดยนักการเมืองที่มีการร้องเรียน เช่น การเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลโครงการหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐ เช่น สัมปทานเหมือง การซื้อขายพลังงาน เช่าที่ดินรัฐ การควบคุมกลไกการออกใบอนุญาตอนุมัติของราชการที่มีมูลค่าการค้าการลงทุนสูงเพื่อรีดไถผู้ที่มาติดต่อ เช่น ตั้งโรงงาน ผลิตอาหารและยา มาตรฐานอุตสาหกรรม การลงขันซื้อตำแหน่งให้ข้าราชการใหญ่ การตบทรัพย์ในสภาฯ เมื่อจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณฯ หรืออ้างอำนาจตรวจสอบของกรรมาธิการ
ยังมีการจ่ายสินบนเพื่อการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ จนเป็นเหตุให้นักลงทุนต้องดิ้นรนแข่งกันเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อปกป้องหรือสร้างโอกาสทางธุรกิจของตนเอง เช่น การกำหนดอัตราภาษีและเกณฑ์การประเมิน การกำหนดนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุน การเปลี่ยนแปลงผังเมือง เป็นต้น
คอร์รัปชันในสายตาประชาชน ยังมีเรื่องฉ้อฉลของนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นอีกมาก ทั้งที่ตกเป็นข่าวและถูกปกปิดไว้
แม้จะคดโกงกันขนาดนี้ แต่เมื่อมีข่าวคอร์รัปชันใหญ่ๆ ที่สังคมสนใจ แทนที่ผู้มีอำนาจจะพูดเรื่องความรับผิดชอบของผู้นำ การตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูล พวกเขากลับบอกคนไทยผ่านสื่อมวลชนว่า ให้ไปหาหลักฐานมาแล้วจะลงโทษตามขอบเขตของ “กฎหมายและพยานหลักฐาน” หากมีจะลงโทษทั้งหมด พูดอย่างนี้ฟังดูดี แต่ในเมื่อภาคการเมืองเป็นหัวหอกของการโกง สมประโยชน์ สมรู้ร่วมคิดกัน ถึงเวลามีปัญหาก็ช่วยเหลือกัน อย่างนี้จะเอาหลักฐานชัดๆ มาจากไหน ถึงมีใครจะกล้าเอาเปิดออกมา
อีกลูกเล่นที่พวกเขาชอบพูดให้ดูดีคือ ยกตนว่าทำงานโปร่งใส แต่ลงมือจริงกลับไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ครบถ้วน เฉไฉจนประชาชนสับสน ครั้นใครจะพูดอะไร ก็ถูกขู่ว่าไม่มีหลักฐาน คิดไปเอง เข้าใจผิด ไม่รู้ความจริงเดี๋ยวจะโดนฟ้องหมิ่นประมาท ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เผยแพร่ข้อมูลเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย อย่างนี้คนทั่วไปย่อมกลัว แม้แต่ข้าราชการดีๆ รู้เห็นอะไรเขาก็ไม่พูด
ดังนั้น เพื่อหยุดกลโกงและการแก้เกี้ยวของนักการเมืองให้ได้ จำเป็นที่คนไทยต้องร่วมกันส่งเสียงบอกให้ทุกพรรคการเมือง ประกาศนโยบายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศให้คนไทยได้ชื่นใจ ต้องเป็นนโยบายที่ชัดเจน เลิกพูดเพียงว่า จะยึดมั่นอุดมการณ์ ส่งเสริมธรรมาภิบาล ฯลฯ แต่ต้องบอกเป็นข้อๆ ว่าจะทำอะไรบ้าง อย่างไรที่ปฏิบัติได้จริง เช่น การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อการตรวจสอบคนร่ำรวยผิดปรกติอย่างไร จะเปิดเผยข้อมูลสาธารณะอย่างไรให้ได้มาตรฐานสากล จะควบคุมพฤติกรรมและลงโทษนักการเมืองของพรรคอย่างไร จะสร้างผู้นำที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่างไร เป็นต้น
เชิญทุกพรรคนำเสนอนโยบายต้านโกงให้ประชาชนตัดสินก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ต้นปี 2566 นี้ได้เลยครับ
เขียนโดย ดร. มานะ นิมิตมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
เขียนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565
เอกสารประกอบ: บทวิเคราะห์คะแนนดัชนีการรับรู้ทุจริตของประเทศไทย, น.3 ป.ป.ช. 26/1/2565