"...ประเด็นสุขภาพจิต ข้อเท็จจริงคือไม่มีเด็กคนไหนเติบโตโดยที่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง ความมั่นคง ความแข็งแรง พัฒนาเติบโตจนสามารถดูแลตัวเองได้ดีต้องอาศัยผู้ใหญ่บางคนที่เขาไว้ใจ ได้รับการปกป้องคุ้มครอง เมื่อเด็กต้องอยู่ในความดูแลของแม่ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะออกจากสถานการณ์บางความรุนแรงได้ การที่แม่ยืนยันให้เด็กไปอยู่ร่วมครอบครัวเดียวกับพ่อเลี้ยง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ออกมาจากสถานการณ์ได้ยาก ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การถูกล่วงเกินทางเพศจากคนในครอบครัว ค่าเฉลี่ยในการที่เด็กจะเปิดเผยข้อมูลคือ 1 ปีหลังจากถูกกระทำ ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ การถูกขู่ มีผลต่อการทำให้เด็กปิดเรื่องนี้เป็นความลับ..."
เหตุการณ์
เด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปี แม่พามาโรงพยาบาล แจ้งว่าเด็กถูกพ่อเลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งแต่อายุ 14 ครั้งสุดท้ายอายุ 16 ปี พ่อแม่ของเด็กแยกทางกันตั้งแต่เด็กอายุ 2-3 ขวบ เด็กอยู่ในความดูแลของตายาย แม่ทำงานเป็นแม่บ้านที่โรงแรมในกรุงเทพฯ และส่งเงินมาเป็นค่าเลี้ยงดู
เมื่อเด็กจบป.6 แม่รับเด็กมาอยู่กับญาติใกล้กรุงเทพฯ เป็นช่วงที่แม่มีสามีใหม่ โดยทุกเสาร์-อาทิตย์ แม่และพ่อเลี้ยงจะมาเยี่ยมน้อง และค้างด้วยกัน 1 คืน
เหตุการณ์ที่ถูกกระทำครั้งแรก เด็กเล่าว่าเป็นช่วงที่อยู่ ม.2 ห้องนอนเด็กอยู่ชั้น 2 ส่วนแม่และพ่อเลี้ยงนอนชั้นล่าง ช่วงกลางคืนพ่อเลี้ยงขึ้นไปที่ห้องนอนเด็ก มีมีดมาด้วย ขู่ห้ามบอกคนอื่น เด็กกลัว ไม่กล้าบอกใคร ครั้งที่ 2 เมื่อเขาพยายามมาทำอีก แต่แม่ตื่นมากลางดึก ไม่พบพ่อเลี้ยง จึงตามขึ้นไปพบ วันนั้นญาติของแม่บอกให้แม่แจ้งความ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แม่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก พ่อเลี้ยงเป็นคนดูแลทุกอย่าง พาไปหาหมอ แม่จึงตัดสินใจไม่แจ้งความ และเลือกที่จะไม่พาพ่อเลี้ยงมา โดยแม่จะมาหาเด็ก แต่ไม่ได้มาบ่อยเหมือนที่เคย หลังเหตุการณ์นั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับญาติก็ไม่ค่อยดี
เมื่อเด็กเรียนจบ ม.3 แม่ตัดสินใจพาเด็กกลับมาอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ ได้สอบถามแม่ว่า “กังวลไหมว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำ” แม่บอกว่า “ถามว่าห่วงไหมก็ห่วง แต่ว่าทุกอย่าง ณ เวลานั้น พ่อเลี้ยงดูแลทุกอย่าง และคิดว่าตัวเองน่าจะดูแลลูกได้ใกล้ชิดแล้วเลยรับเด็กมา” เหตุการณ์เกิดซ้ำอีกในบ้าน ในช่วงเวลาที่แม่ออกไปตลาด หรือช่วงที่แม่อาบน้ำ เด็กไม่กล้าบอกใครเพราะถูกขู่ทำร้าย และขู่ว่าจะไม่ได้อยู่กับแม่
เหตุการณ์ครั้งสุดท้ายเป็นช่วงที่พ่อเลี้ยง ซึ่งทำงานรับเหมาก่อสร้างเล็ก ๆ น้อย ๆ รับงานที่ไกลจากบ้าน จึงนำทั้ง 3 คนไปอยู่ที่ไซต์งานด้วย ทั้งยังบอกเด็กว่าไม่ต้องไปโรงเรียน ให้เด็กไปช่วยงาน เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในไซต์งาน ครั้งนั้นเด็กขอความช่วยเหลือจากแม่ แม่จึงพาเด็กมาตรวจ
ประเด็นกฎหมาย
การข่มขืนกระทำชำเรา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนอายุ 15 ปี กับช่วงหลังอายุ 15 ปี ถ้าช่วงก่อนอายุ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราผู้อื่นที่อายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตามกฎหมาย ซึ่งโทษจำคุกหนักมาก สูงสุด 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต แล้วแต่ลักษณะของการกระทำความผิด เวลาที่พนักงานอัยการฟ้อง จะดูจากจำนวนครั้ง 1 ครั้งคือ 1 กระทง และจะมีประเด็นว่าล่วงละเมิดทางเพศที่ไหน ต้องดำเนินคดีที่นั่น เป็นการกระทำที่แยกจากกัน
ถ้าอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ให้ดูประเด็นเรื่องความยินยอม ถ้ายินยอมจะไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา แต่ตามข้อเท็จจริงโดยลักษณะอาการที่แสดงออกของเด็ก การร้องขอความช่วยเหลือ แสดงว่าเด็กไม่ยินยอมมีเพศสัมพันธ์ถึงแม้จะไม่มีการต่อสู้ เบื้องต้นตีความได้ว่า ไม่เต็มใจมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงเป็นคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งในอดีตเป็นคดีความผิดที่ยอมความได้ แต่ปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 กฎหมายแก้ไขใหม่ ‘เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้’ แปลว่า 1. แจ้งความเมื่อไรก็ได้ 2. ใครแจ้งความก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ จะเป็นคนที่พบเห็น หรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือเจ้าหน้าที่ พมจ. ที่เข้าไปช่วยเหลือ สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ ถ้าเราแจ้งความไปโดยสุจริต ไม่ได้ใส่ร้าย ไม่ได้ปั้นแต่งข้อเท็จจริง จะไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ถึงแม้ภายหลัง พนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลเรื่องพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือฟ้องศาลไปแล้วศาลพิพากษายกฟ้องก็ไม่ต้องกลัวเรื่องการโดนฟ้องกลับ
เรื่องการพิสูจน์พยานหลักฐาน คดีข่มขืนกระทำชำเราเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคน 2 คน จากข้อเท็จจริงที่บอกมา ไม่มีการต่อสู้ จะไม่มีรอยขีดข่วน ไม่พบเนื้อเยื่อจากซอกเล็บ ดังนั้นระยะเวลาในการแจ้งความเป็นสาระสำคัญ เพราะพยานหลักฐานสูญหายได้ภายใน 2-3 วัน อย่างเนื้อเยื่อตามซอกเล็บ หรือน้ำเชื้ออสุจิ การชำระล้าง ก็จะล้างพยานหลักฐานออกไปได้
กระบวนการยุติธรรมออกแบบมาเพื่อลดการกระทำที่ซ้ำซ้อนกับตัวเด็ก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ การสอบปากคำพยานเด็ก เพื่อลดการตื่นกลัว กฎหมายออกแบบว่า 1. การสอบปากคำ ให้แยกห้องเป็นส่วนสัดไม่ต้องไปนั่งรวมกับพนักงานสอบสวนคดีอื่น 2. มีคนที่เด็กไว้วางใจ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ อาจจะเป็นแฟน เพื่อน ครูที่สนิท เข้าไปนั่งให้กำลังใจ 3. มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ ที่เข้าใจสภาพจิตใจของเด็ก ช่วยเปลี่ยนถ้อยคำภาษากฎหมาย แปลคำพูดของพนักงานสอบสวนให้เข้าใจง่ายขึ้น 4. พนักงานอัยการก็จะลงไปนั่งร่วมด้วยเพื่อดูแลข้อกฎหมายให้เสร็จสรรพในการสอบปากคำในครั้งเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการถามปากคำที่ซ้ำซ้อน และ 5. กฎหมายบังคับให้บันทึกเทปวิดีโอไว้ เมื่อต้องไปเบิกความเป็นพยานในชั้นศาล สามารถใช้วิดีโอตัวนี้เปิดให้กับคู่ความดูก่อน ผู้เสียหายจะได้ไม่ต้องนั่งเล่าซ้ำเรื่องเดิมอีกครั้งหนึ่ง พอเปิดให้ทุกคนดูเสร็จเรียบร้อยเหลือประเด็นอะไรก็ถาม ต้องถามไปที่ผู้พิพากษา โดยจัดแยกเด็กไว้อีกห้องหนึ่ง
ทั้งนี้เราต้องเข้าใจบริบทของทนายจำเลย เขารักษาสิทธิของจำเลย โดยมีสมมติฐานว่าจำเลยไม่ผิด เช่น ผู้หญิงเต็มใจมีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้ข่มขืน ดังนั้นสิ่งที่เขาจะถาม เช่น ท่าทางการมีเพศสัมพันธ์ การข่มขืนโดยปกติถ้าไม่มีอาวุธ ไม่มีการมอมเหล้า มอมยา ผู้ชายควรจะต้องอยู่บนตัวผู้หญิง ฉะนั้น ถ้ามีท่าทางร่วมเพศที่ผู้หญิงอยู่บนตัวผู้ชาย ก็อาจเป็นการส่อแสดงว่า ผู้หญิงเต็มใจมีเพศสัมพันธ์ การถามถึงท่าทางมีเพศสัมพันธ์เป็นประเด็นในคดี ถ้าไปถามตรง ๆ ผู้เสียหายก็รู้สึกไม่ดี เลยต้องถามผ่านผู้พิพากษา ผู้พิพากษาจะถามผ่านไมโครโฟนไปที่หูฟังของนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งนั่งอยู่อีกห้องหนึ่งก็จะเปลี่ยนเป็นคำพูดที่เบาลงกับน้องผู้หญิงคนนั้น โดยจะเล่าแสดงออกมาหรือจะวาดรูปก็ได้ ยูนิเซฟจะทำเป็นตุ๊กตาที่เป็นผู้หญิงผู้ชาย มีมาตราส่วน มีอวัยวะ รูปร่างร่างกายเหมือนจริงออกมา เพื่อใช้อธิบายประกอบคำเบิกความ เพราะบางครั้งเราไปเจอผู้เสียหายบางคนตกใจกลัวจนไม่สามารถที่จะพูดคำเหล่านั้นออกมาได้ ก็ต้องใช้ลักษณะท่าทางมาแสดง ดังนั้นสิ่งที่ย้ำ คือ 1. ควรแจ้งความหรือตรวจร่างกายให้เร็วหลังเหตุการณ์ 2. เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ 3. การได้รับกระบวนการคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล
ประเด็นทางกายและสุขภาพจิต
ในการตรวจร่างกาย การตรวจเร็วที่สุดจะดีที่สุด เช่น ตรวจเจออสุจิในช่องคลอดในวัยรุ่นอาจได้ถึง 3 วัน ถ้าเก็บตรวจจากปากมดลูกอาจได้นานกว่า แต่ถ้าก่อนวัยรุ่นจะตรวจพบได้ภายใน 1 วันเท่านั้น พยานหลักฐานตรงนี้ในทางการแพทย์จะหายเร็วมาก
ประเด็นสุขภาพจิต ข้อเท็จจริงคือไม่มีเด็กคนไหนเติบโตโดยที่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง ความมั่นคง ความแข็งแรง พัฒนาเติบโตจนสามารถดูแลตัวเองได้ดีต้องอาศัยผู้ใหญ่บางคนที่เขาไว้ใจ ได้รับการปกป้องคุ้มครอง เมื่อเด็กต้องอยู่ในความดูแลของแม่ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะออกจากสถานการณ์บางความรุนแรงได้ การที่แม่ยืนยันให้เด็กไปอยู่ร่วมครอบครัวเดียวกับพ่อเลี้ยง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ออกมาจากสถานการณ์ได้ยาก ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การถูกล่วงเกินทางเพศจากคนในครอบครัว ค่าเฉลี่ยในการที่เด็กจะเปิดเผยข้อมูลคือ 1 ปีหลังจากถูกกระทำ ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ การถูกขู่ มีผลต่อการทำให้เด็กปิดเรื่องนี้เป็นความลับ
อีกประเด็นคือ เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องระยะยาว ในบางรายผู้กระทำทำให้เด็กมีอารมณ์เพศร่วมด้วยได้ อาจทำให้คนแปลว่าเป็นการเต็มใจ
ในส่วนของแม่ ข้อที่น่าสังเกตคือ ทั้งที่เคยรู้ว่ามีประวัติแบบนี้ ทั้งที่ก็เคยงดพาพ่อเลี้ยงมาเยี่ยม แต่ในท้ายที่สุดกลับพาลูกไปอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับพ่อเลี้ยง อาจตั้งข้อสันนิษฐานว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า แม่รับรู้ เวลาทำงานต้องระวังไม่ให้มองเครือญาติในแง่ร้าย แต่ควรฝึกการตั้งข้อสังเกตอย่างให้ครอบคลุมรอบด้าน เพราะบางครั้งการอยู่กันเป็นครอบครัว ในความสัมพันธ์จะมีลักษณะของการมีอิทธิพล มีอำนาจเหนือต่อกัน เป็นกลไกที่ซับซ้อน การที่ต้องพึ่งพา พ่อเลี้ยงอาจมีอิทธิพลในการขอร้องให้แม่ไปรับเด็กมาหรือเปล่า ตรวจสอบเรื่องภาวะพึ่งพิง การถูกกดทับ กดดัน การที่แม่เป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้แม่ไม่สามารถหลับนอนกับพ่อเลี้ยงหรือไม่ ทำให้พ่อเลี้ยงใช้เรื่องนี้มาเป็นตัวหว่านล้อมให้แม่ยอมตามหรือเปล่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม่เป็นคนพาเด็กเข้าแจ้งความดำเนินคดี จึงมีความเป็นไปได้ว่า แม่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ และอาจคิดว่าตัวเองจะสามารถป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงได้
ขอย้ำว่า ถ้าเคยมีเหตุการณ์การล่วงเกินทางเพศต่อเด็กมาก่อน ต้องไม่ยอมให้ผู้กระทำอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ห้ามพักอาศัยด้วยกัน และห้ามการอยู่ด้วยกันตามลำพัง
เพิ่มเติม
ประเด็นการสมยอมหรือไม่ บางรายเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง เด็กอาจมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกับยอมทำตามสิ่งที่ผู้กระทำขอให้ทำ หรือเหมือนกับทำด้วยตนเอง จะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือไม่
อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม เป็นภาษากฎหมาย ครอบงำ คือ ผู้เสียหายเต็มใจมีความรู้สึกอย่างนั้นด้วย โดยการใช้อำนาจมากดทับเอาไว้ให้ปฏิบัติผิดไปจากแนวปกติ เช่นกรณีนี้ ช่วงแรกลูกเลี้ยงอาจไม่เต็มใจ โดนข่มขืน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ พ่อเลี้ยงดูแลทั้งแม่และเด็ก อย่างนี้ถือเป็นการใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม คือใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจในอิทธิพลต่าง ๆ มาทำให้เกิดการปฏิบัติที่ผิดไปจากปกติ
อย่างปกติสังคมไทย พ่อเลี้ยงไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์กับลูกเลี้ยง เป็นมาตรฐานในทางสังคม ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้ห้าม กฎหมายไทยไม่มีกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัวเดียวกัน เพียงแต่คุณต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเรื่องอายุ เรื่องความยินยอม เรื่องความเต็มใจ แต่อย่างรายนี้ ตามกฎหมาย ถ้าอายุต่ำกว่า 15 ปี ผิดแน่นอน แต่พอถึง 15 ปี ต้องกลับไปดูว่า เด็กเต็มใจอย่างแท้จริงหรือเปล่า ถ้าเต็มใจอย่างแท้จริง เช่นมีอารมณ์ทางเพศ ซึ่งเราเคยเจอหลายเคสที่ตอนแรกไม่เต็มใจมีเพศสัมพันธ์ แต่หลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปนาน ๆ สุดท้ายเด็กเต็มใจ การที่เต็มใจมีเพศสัมพันธ์ในภายหลัง ไม่ได้ยกเลิกการกระทำผิดในครั้งก่อน ๆ ก็ยังดำเนินคดีต่อไปได้ นี่คือประเด็นที่ 1
ประเด็นที่ 2 การใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม กฎหมายไทยจะคุ้มครองจนถึงอายุ 18 ปี โดยหลักถ้ามีกรณีที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 4 บอกว่า ถ้าผู้ที่อยู่ในครอบครัวใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมไปปฏิบัติ ถึงแม้เด็กจะเต็มใจ เช่น เต็มใจมีเพศสัมพันธ์ เต็มใจให้ทุบตี อย่างนี้ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้
คำถาม
กรณีนี้มาที่โรงพยาบาลรัฐ ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน สามารถเอามาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ไหม
โรงพยาบาลรัฐ หมอเป็นข้าราชการ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ออกเอกสารคือใบรับรองแพทย์ ถือเป็นเอกสารทางราชการซึ่งจะได้รับความเชื่อถือ ว่าถูกต้องแท้จริง การที่ใครจะพิสูจน์ว่ามันผิด ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์หักล้าง แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน คนที่ทำก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เอกสารที่ออกก็เป็นเอกสารเอกชน ดังนั้นสามารถถูกโต้แย้งสิทธิ์กันต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ดี คุณหมอที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน เป็นบุคคลภายนอกผู้ไม่มีส่วนได้เสีย ได้แสดงความเห็นโดยสุจริตก็พอมีน้ำหนัก รับฟังได้
ดังนั้น การไปโรงพยาบาลรัฐดีที่สุด แต่ในกรณีจำเป็น เร่งด่วนจริง ๆ ไปโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ แต่โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรวจเพราะต้องไปเบิกความต่อ คือแพทย์ต้องไปเบิกความรับรอง ใบรับรองแพทย์ตัวเองที่ศาล ซึ่งอาจไม่สะดวกใจในการที่จะไป
คำถาม
กรณีนี้มีการเกิดเหตุต่างพื้นที่ เขาต้องมีการไปแจ้งความต่างพื้นที่แล้ว ผลตรวจร่างกายจะต้องเอาเด็กมาตรวจซ้ำอีกไหมในแต่ละสน. (สถานีตำรวจ)
พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่จะต้องการเอกสารต้นฉบับเข้าสู่สำนวนของตัวเอง ดังนั้นกรณีเกิดขึ้นหลายท้องที่ ถูกต้องจริง ๆ ต้องไปแจ้งความทุกที่ สมมติเกิดขึ้นที่ภาคเหนือ คุณต้องไปแจ้งความภาคเหนือ ไปเกิดที่ภาคใต้ก็ต้องไปแจ้งความที่ภาคใต้ พนักงานสอบสวนแต่ละพื้นที่ก็อยากได้ใบรับรองแพทย์ที่เป็นต้นฉบับ แต่ถ้ามีการตรวจครั้งสุดท้ายแค่ครั้งเดียว สามารถใช้สำเนา ให้แพทย์รับรองสำเนาถูกต้อง ส่งให้กับทุกสำนวนได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องไปตรวจทุกโรงพยาบาล ยกเว้นในกรณีที่เขาเคยไปตรวจโรงพยาบาลอื่น ก็ใช้ใบรับรองแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับครั้งนั้น ๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม
กรณีนี้พอมาแจ้งความ ตรวจร่างกายแล้ว พบว่าเด็กตั้งครรภ์ ก็เข้าคณะกรรมการและยุติการตั้งครรภ์ของโรงพยาบาล และต้องวางแผนเรื่องที่อยู่ของแม่และเด็ก ขณะที่ผู้ถูกกระทำยังไม่ถูกจับกุม ประสานกับพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก เลือกเป็นบ้านพักฉุกเฉินหลังการยุติการตั้งครรภ์ และเป็นช่วงที่เด็กใกล้สอบจะทำอย่างไรไม่ให้เขาถูกตัดสิทธิ์เรื่องการเรียน ก็ทำงานร่วมกับโรงเรียน โรงเรียนก็ให้ความร่วมมือ คุณครูประจำชั้นก็ตามงานทุกอย่างเพื่อให้เด็กมาทำที่บ้านพักฉุกเฉิน สุดท้ายแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ก็นำข้อสอบมาให้เด็กสอบที่บ้านพักฉุกเฉิน เด็กคนนี้ก็จบการศึกษา ม.4 และวางแผนร่วมกับครอบครัวว่า หลังจากนี้อีก 2 ปี เขาจะทำอย่างไร ก็มาได้คำตอบร่วมกันในระหว่างแม่และทีมเจ้าหน้าที่ว่า เป็นโรงเรียนประจำที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งบ้านพักฉุกเฉินมีเครือข่ายในการทำงานประสานกับโรงเรียน เด็กก็เข้าสู่ระบบของการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง เรียนจนจบ ม.6 แล้ว เรื่องคดีความก็มีการประสานงานในเรื่องคดีจนผู้กระทำถูกจับกุม ร้อยเวรที่รับเรื่องครั้งแรกได้ประสานงานไปยังอีก 2 สน. ว่าเกิดเหตุตรงนี้ เมื่อนักสังคมสงเคราะห์ประสานไปที่ผู้กำกับก็ทราบว่าเขาเตรียมร้อยเวรที่จะมารับเรื่องให้ เด็กก็ไปแจ้งความอีกครั้งหนึ่ง ใช้ผลตรวจเดิมที่ตรวจในครั้งแรกเป็นผลประกอบในการดำเนินคดี ท้ายที่สุดก็ถูกตัดสินจำคุก ตอนนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเด็กในการที่จะกลับมาสู่ครอบครัวเขาอีกครั้ง
กรณีนี้สามารถลงโทษผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีนี้ได้แม้จะผ่านเหตุการณ์มานาน เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ สามารถตรวจดีเอ็นเอจากตัวอ่อนได้
เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ แม้ว่าไม่ใช่การทำแท้งเสรี กฎหมายไทยเปิดโอกาสให้ทำแท้งได้มากขึ้น โดยแบ่งตามช่วงอายุครรภ์
อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ อย่างรายนี้ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เลย ไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเกิดขึ้นจากการข่มขืน หรือมีเพศสัมพันธ์กันโดยเต็มใจ คือ อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เลยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้ใด
ถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 บอกว่า ต้องปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ หรือเวชกรรมก่อน เมื่อปรึกษาแล้วตัดสินใจได้เลยว่าจะยุติหรือไม่ยุติการตั้งครรภ์
ไม่จำกัดอายุครรภ์ ทำได้ 3 กรณี 1. การตั้งครรภ์เกิดจากการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา 2. การตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นอันตรายต่อแม่ 3. ตัวอ่อนทุพพลภาพอย่างร้ายแรง สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้
เรื่องการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2559 มาตรา 6 เด็กนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในระหว่างเรียนหนังสือ ห้ามไล่ออกจากโรงเรียน โดยอาจจัดการศึกษาให้ที่บ้าน หลังคลอดหรือยุติการตั้งครรภ์แล้ว ต้องนำเข้าสู่ระบบการศึกษา จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย
หลักการของการทำงานที่เด็กได้รับความรุนแรง ไม่ได้เป็นเพียงการดูแลเรื่องคดีความ ไม่ได้แค่ทำให้การทำร้ายนั้นหยุดลงเฉย ๆ แต่เป็นกระบวนการดูแลชีวิตรอบด้าน เรื่องการเรียน ที่อยู่ ความปลอดภัย และการวางแผนอนาคตร่วมกับครอบครัว
คนทำงาน อาจมีความคิดว่าผู้กระทำโหดร้าย คุกคาม ต้องการความปลอดภัย จนบางครั้งไม่ส่งเด็กกลับบ้านด้วยความกลัว ทั้งนี้ควรประเมินอย่างรอบคอบก่อน เพราะที่ที่ดีที่สุดเพื่อเลี้ยงดู กล่อมเกลาให้เด็กเติบโต ไม่มีที่ไหนดีกว่าครอบครัวที่ปลอดภัย โรงเรียนประจำที่น่าจะดี ก็ไม่สามารถทดแทนครอบครัวที่พร้อม เด็กคนนี้เคยโตมากับครอบครัวของตายายซึ่งตรงนั้นอาจเป็นแหล่งพักพิงที่ดี ซึ่งสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาคือ ประเด็นคุกคาม ความเสี่ยงที่จะเข้าถึงตัว และทำร้าย การตรวจสอบความปลอดภัย ควรหาข้อมูลจากครอบครัว และสอบถามเด็ก ว่าพวกเขารู้สึกถึงการถูกคุกคามในการทำร้ายหรือเปล่า พฤติกรรมที่รุนแรงที่สุดที่ผู้กระทำเคยทำคืออะไร พวกเขาอยู่กันมาเป็นปี ๆ ข้อมูลตรงนี้ไม่ยากที่จะค้นหา ข้อมูลที่ดีจะช่วยให้เราตัดสินใจความจำเป็นว่าจะต้องนำเด็กเข้าสู่สถานพักพิง โรงเรียนประจำ หรือควรทำงานกับครอบครัวเครือญาติ เพื่อให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นครอบครัว ที่จะช่วยให้เด็กฟื้นตัวได้ดีกว่า
หลาย ๆ ครั้ง เมื่อหยุดเหตุการณ์การทำร้ายลงได้ แต่เด็กถูกทำร้ายในรูปแบบของการถูกแยกออกจากครอบครัว และอาจจะมีปัญหามากขึ้นกว่าเดิม จึงควรทำงานด้านครอบครัวทดแทนให้มากขึ้น โดยเน้นที่การหาครอบครัวเครือญาติก่อน โดยเฉพาะตายาย พนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก สามารถกำหนดให้ตายายหรือบุคคลอื่นที่ปลอดภัยเป็นผู้ดูแลทดแทนได้ และควรซักซ้อมความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ซักซ้อมกับเด็กเรื่องการขอความช่วยเหลือ เมื่อรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย รวมทั้งการที่สามารถใช้กฎหมายในเรื่องการห้ามเข้าเขตกำหนด และมาตรการความปลอดภัยอื่น ๆ
มีคนเคยถามพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงเป็นเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งว่า การทำแท้ง เป็นบาปกรรมหรือเปล่า ท่านตอบว่า ‘ให้ดูที่เจตนา’ ถ้าเจตนาที่จะทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ก็ถือว่าไม่บาป สำหรับหมอที่ช่วยทำแท้งให้กับผู้ที่ไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อ ส่วนใหญ่พวกเขาทำเพราะต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น ช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น และทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้
คำถาม
กรณีวัยรุ่นถูกล่วงเกินทางเพศจากคนในครอบครัว จนตั้งครรภ์ ปกติใช้เวลากี่ปีในการเยียวยาเขากลับมาเป็นปกติ
ขึ้นอยู่กับพื้นฐานเดิมเป็นอย่างไร กับสิ่งที่เขาจะเจอต่อไปเป็นอย่างไร การที่อยู่ในครอบครัวที่ยอมรับเขา เห็นตัวตนที่ดีของเขา เขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ไม่ว่าเขามีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์หรือไม่ อันนี้จะช่วยในการเยียวยาได้อย่างดี แต่ถ้าเขาต้องแยกออกจากครอบครัว จะทำให้การเยียวยาเกิดขึ้นช้ากว่า
เรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพ กรณีที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือยังไม่ได้ดำเนินคดี หรือกรณีที่พ่อเลี้ยงออกจากคุกมาแล้ว ทั้ง 3 กรณีนี้มีวิธีการทางกฎหมายในการคุ้มครองสวัสดิภาพได้ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 4 ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชน หมวด 15 มาตรา 174 คือสามารถที่จะไปขอที่ศาลเยาวชน แจ้งว่าคนในครอบครัวจะมาทำอันตราย โดยมีเหตุการณ์ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น แชตไลน์ โทรศัพท์มาขู่ฆ่า มีคลิปวิดีโอ คนข้างบ้าน ญาติเห็น มีร่องรอยการทุบตีทำร้าย เป็นต้น สามารถติดต่อที่ศาลคดีเยาวชนในพื้นที่ได้เลย ถ้าไปยื่นคำร้อง 1. จะมีเจ้าหน้าที่นิติกรของศาลมาคอยบันทึกเอกสารให้ เรียกว่า คส 2 ถ้าไม่สะดวกใจก็อาจไปติดต่อที่สำนักงานอัยการคดีเยาวชนทั่วประเทศในการช่วยร่างคำร้องได้ หรือไปติดต่อที่ พมจ. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) ก็ได้ เพราะ พมจ. กับอัยการทำงานเครือข่ายเดียวกันอยู่แล้ว เวลามีกรณีความรุนแรงในครอบครัว หรือเป็นคดีที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ ตัวอย่าง คดีระหว่างการดำเนินคดี ผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัวขู่ผู้เสียหายว่าอย่าไปให้ปากคำกับตำรวจ สามารถแจ้งพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ หรือไปที่ศาลเพื่อไปบอกแจ้งเรื่องการข่มขู่ โดยเฉพาะการขู่ฆ่า ศาลอาจพิจารณาถอนการประกันตัว
สุดท้ายคือ ประเด็นสุขภาพจิตทั้งแม่และลูก ประเมินเด็กว่ารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ความรู้สึกต่อตัวตนเป็นอย่างไร เสียหายเพราะเรื่องนี้หรือไม่ ประเมินแม่ โดยเฉพาะความรู้สึกผิด คือนอกจากประเด็นทั้งด้านเศรษฐกิจเนื่องจากการขาดพ่อเลี้ยงที่เคยเป็นที่พึ่งพา ประเด็นสุขภาพจิตและความสัมพันธ์แม่ลูกก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยให้เด็กและครอบครัวดำเนินชีวิตต่อไปได้
ผู้ร่วมอภิปรายกรณีศึกษา
พันตำรวจโทหญิงวาริณี ขันธสิทธิ์ นักสังคมสงเคราะห์ สบ 3 กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ในศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ
อัยการวุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว สำนักงานอัยการสูงสุด
รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก