“...จะมีใครสักกี่คนที่จะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้หมดจดทั้งในสายวิชาชีพของตนและสายยึดมั่นในพระศาสนาอย่างมั่นคงจนถึงปลายฝัน เท่ากับสุภาพบุรุษเปี่ยมความสามารถผู้นี้ สรพงศ์ ชาตรี…”
หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เพจเฟซบุ๊ก ‘ดาราภาพยนตร์’ ได้เผยยแพร่หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘สรพงศ์ ชาตรี’ นักแสดงชื่อดัง และศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี 2551 โดยหนังสือมีชื่อว่า ‘ทางสายเอก 52 ปี ในวงการบันเทิง’ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเนื้อบางส่วนจากหนังสือดังกล่าวมาเผยแพร่ โดยเป็นเนื้อหาในส่วนของการไว้อาลัยโดย 4 ผู้กำกับชื่อดัง ประกอบด้วย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, นายยุทธนา มุกดาสนิท, นายฉลอง ภักดีวิจิตร และนายไพรัช สังวริบุตร เพื่อระลึกถึงนักแสดงระดับตำนานผู้นี้ต่อไป
โดยสามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ ที่นี่
หน้าปกหนังสือ ภาพจาก Facebook: ดาราภาพยนตร์
@รักมึง ไอ้เอก: ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้ชายที่อยู่ข้างหน้าของผมเป็นเด็กหนุ่มผิวเข้มรูปร่างสันทัดจมูกใหญ่กว่าเด็กหนุ่มทั่วไปแต่ไม่ใช่แบบจมูกของฝรั่งซึ่งเป็นที่นิยมของหนุ่มสาวสมัยใหม่ทั่วไป (ถึงกับบินไปเกาหลีเพื่อให้หมอที่นั่นช่วยเหลาจมูกให้ดูเป็นฝรั่งๆ)
“เด็กมันเพิ่งสึกจากเณรที่วัดดาวดึงษ์ครับ” คุณสุรพงษ์ โปร่งมณีผู้เป็นแมวมองและคอสตูมของบริษัทละโว้ภาพยนตร์เล่า
“อยากเล่นหนังอย่างนั้นรึ? แล้วอยากเล่นเป็นตัวอะไร” ผมถาม
"อะไรก็ได้ครับ" คือคำตอบ
คงไม่ได้อยากเล่นเป็นพระเอกหรอกนะ เพราะพระเอกในสมัยนั้นต้องสูงใหญ่สง่าอย่างคุณมิตร ชัยบัญชา หรือกำยำล่ำสันอย่างคุณสมบัติ เมทะนี หรืออย่างน้อยก็เอารูปร่างสมส่วนอย่างคุณไชยา สุริยันที่บทบาทได้ตุ๊กตาทองถึง 3 ตัว ก็ทำให้คุณไชยาเป็นพระเอกได้เต็มตัว
แต่อย่างเด็กหนุ่มที่คุณจี๊ด (สุรพงษ์ โปร่งมณี) นำมาฝาก อย่างมากก็เป็นได้เพียงพระรองเท่านั้น
“แกชื่ออะไร” ผมถาม
“ชิ้นครับ” เด็กหนุ่มตอบ
“อะไรนะ?” ผมถาม
“ชิ้นครับ” เด็กหนุ่มตอบและว่า “พ่อของผมชื่อชั้น ผมเลยชื่อชิ้น”
“ชื่อชิ้นก็คงไม่ได้” คุณลองคิดดูสิ มิตร ชัยบัญชา แสดงประกบคู่กับชิ้น
“ใช้อีกชื่อก็ได้นี่ครับ” คุณจี๊ดบอก
“ชื่ออะไรเหรอครับ?” ผมถาม
“พิทยา เทียมเศวตครับ” คุณจี๊ดตอบ
“พิทยา…ก็ยังดีกว่าชิ้น” ผมตอบและว่า “สมบัติ เมทะนี เล่นประกบกับพิทยา เทียมเศวต…”
ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ภาพจาก Facebook: ดาราภาพยนตร์
“พ่อตั้งชื่อให้เอง” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ บิดาของผมตัดบท
“เอาตัวท้ายของชื่อพ่อ มาผนวกกับตัวท้ายของชื่อคุณจี๊ด คือ ‘พงษ์’ เป็น ‘สรพงศ์’ ”
“สรพงศ์ เทียมเศวต?” ผมถาม
“ไม่ใช่เอาชื่อของ ‘มุ้ย’ มาเป็นนามสกุลเป็น ‘สรพงศ์ ชาตรี’ “
สรพงศ์ ชาตรี? ชื่อค่อนข้างจะลิเกไม่น่าจะเป็นชื่อของพระเอกได้นะครับ แต่ผมพลาดอย่างจังเลยครับ
เพราะต่อมาสรพงศ์ ชาตรีได้เป็นดาราอันดับ 1 ของประเทศไทย และได้เป็นดาวค้างฟ้าจนถึงวันที่ สรพงศ์ ชาตรีจากเราไปในวันที่ 10 มีนาคม 2565 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เมื่ออายุได้ 73 ปี
ภาพจากหนังสือ ทางสายเอก
ตลอดระยะเวลา 52 ปีที่สรพงศ์ ชาตรีอยู่ในวงการบันเทิง สรพงศ์ ชาตรี แสดงภาพยนตร์กว่า 500 เรื่องและมีเพลงฮิตถึง 5 อัลบั้ม ทั้งงานแสดงละครโทรทัศน์อีกมากมาย
ฝากผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในความคิดของผมคือ การสร้างสมเด็จพระพุฒาจารย์ (หลวงปู่โต พรหมรังสี) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้ความเป็นนักแสดงที่ประชาชนรักร่วมกันสร้างขึ้นมา
มันเป็นไปได้อย่างไรผมจะเล่าให้ฟังครับ ว่าไปแล้วมันเริ่มต้นที่ผม ปกติแล้วผมจะทดสอบผู้ที่มาสมัครเป็นนักแสดงในหนังของผม
ในกรณีของสรพงศ์ ชาตรี วันที่เขามาสมัครเป็นนักแสดง เขาแต่งตัวด้วยชุดที่ดีที่สุดของเขาคือชุดสากลใส่เสื้อนอกผูกไทด์ (ผมมารู้ทีหลังว่าเป็นชุดเก่งชุดเดียวของเขา)
“เอ้า! เอก (ผมเรียกสรพงศ์ว่า เอก) แกอุ้มเด็กคนนั้นแล้วกระโดดข้ามร่องน้ำมันนั่น”
โดยไม่ลังเลแม้แต่น้อย สรพงศ์ ชาตรี ก้มลงอุ้มเด็กน้อยคนนั้น แล้ววิ่งแล้วกระโดดข้ามร่องน้ำที่ผมบอก ผลก็คือ สรพงศ์ ชาตรีกับเด็กน้อยกระโดดไม่ข้าม ทำให้สรพงศ์ ตกลงไปในร่องน้ำ ชุดเก่งของสรพงศ์ ชาตรี เปรอะเปื้อนไปทั้งตัว
ผมคิดว่า สรพงศ์ ชาตรียังจำวันนั้นได้ เพราะหลายปีต่อมา เมื่อสรพงศ์กับเด็กคนนั้น (ตุ๊กตา จินดานุชหรือ ไพเราะ โชคดีภูษิต อดีตนักแสดงเด็กชื่อดัง) ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในวันเดียวกันจากเรื่อง ‘ถ้าเธอยังมีรัก’ ร่วมกับคุณเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ซึ่งสรพงศ์ยังได้พูดถึงเรื่องที่เขาอุ้ม ตุ๊กตา จินดานุช กระโดดข้ามร่องน้ำในวันนั้นเมื่อนานมาแล้ว
สิ่งหนึ่งที่ผมนิยมในตัวของสรพงษ์ก็คือเขาไม่เลือกบท ถ้าบทนั้นเป็นบทที่น่าสนใจ เช่น ในเรื่อง ‘ห้องสีชมพู’ สรพงศ์ ชาตรี เลือกรับบทเป็นพิชัยซึ่งเป็นตัวโกง การแสดงของสรพงศ์ ชาตรีประทับใจผมมาก
ทำให้ผมคิดถึงสรพงศ์ ชาตรีในบทพระเอกเรื่อง ‘มันมากับความมืด’ เรื่องของเรื่องก็คือพระเอกที่หม่อมอุบล (หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา) แม่ของผมครับเลือกไว้ เขานัดเราตอนสามโมงเช้า (09:00 น.) ซึ่งผมกับทีมงานตื่นตั้งแต่ตีห้า แต่พระเอกคนดังของเราเดินทางมาถึงตอนสามทุ่ม
ผมบอกแม่ของผมว่า “ผมขอเปลี่ยนพระเอก”
แม่ของผมเข้าใจ เพราะพระเอกคนเดียวกันนัดถ่ายหนังของเสด็จที่สระบุรี แต่พระเอกคนดังเกิดหมดอารมณ์เมื่อเดินทางมาได้ครึ่งทาง ก็หันรถกลับกรุงเทพฯ ปล่อยให้กองถ่ายของเสด็จกว่า 100 ชีวิตค้างเติ่งอยู่ในถ้ำที่สระบุรี
“คิดดีแล้วหรือว่าจะเอาเจ้าเอกเล่นเป็นพระเอก” หม่อมอุบลไม่ค่อยจะแน่ใจ
“คิดดีแล้วจ้ะ” ผมตอบแต่ในใจไม่ค่อยมั่นใจนัก แต่เป็นอันว่า เราเลือกสรพงศ์ ชาตรีเป็นพระเอกหนังเรื่อง มันมากับความมืด
แต่ก่อนที่ผมจะเอาสรพงศ์ ชาตรีเป็นพระเอกผม ในฐานะเป็นผู้กำกับยุคเบบี้บูม ทำให้ผมมีทัศนคติ (Mindset) เหมือนกับคนร่วมสมัยในยุคนั้นคือ พระเอกหนังควรจะเป็นผู้ชายที่ดูสมชายมาดแมนสมบูรณ์แบบ นอกจากนั้น ยังต้องพาไปฝึกอีกหลายอย่าง ทั้งส่งฝึกดำน้ำด้วยเครื่องสกูบ้า เรียนคิวบู๊ การใช้อาวุธต่างๆ เพราะจะเป็นพระเอกนี่ต้องรู้จักคิวบู๊รู้จักวิธียิงปืน
วันแรกวันเปิดกล้อง คุณจี๊ดจัดชุดให้สรพงศ์ ชาตรี แต่งเสื้อผ้าตามคาแรคเตอร์มาถ่ายรูป พอถึงเวลาที่ต้องมาโพสต์ท่าถ่ายภาพช่างภาพนิ่งออกความเห็นทันที
“ไม่เหมือนพระเอกที่หมอเลือกเลยครับ”
“ไม่หล่อเลยดำก็ดำจมูกก็โต จะถ่ายยังไงให้หล่อได้”
ผมนั่งฟังคำดูแคลนสารพัดที่พรั่งพรู จนพระเอกที่น่าสงสารของผมน้ำตาไหลออกมา
ผมคิดในใจว่า “ไอ้พระเอกตัวดำจมูกโตคนนี้แหละ วันนึงจะครองตุ๊กตาทองมากกว่าพระเอกหนังทุกคนในประเทศไทย”
“มันมากับความมืด” จบไปแล้ว มันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้นัก แต่มันก็ได้สร้างพระเอกนางเอกคู่ใหม่ แล้วยังสร้างดวงดาวใหม่ประดับวงการ เช่น คมน์ อรรฆเดช, โดม สิงห์โมลี, ดามพ์ ดัสกร, พนม นพพร, ถนอม นวลอนันต์ ฯลฯ หลังจากนั้น สรพงศ์ ชาตรีก็ได้รับพระราชทานรางวัลพระสุรัสวดีรางวัลตุ๊กตาทอง 5 ตัวซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ชีวิตการทำงานร่วมกันตลอด 50 กว่าปี เราเคยปีนขึ้นภูกระดึง 4 ครั้งภายในปีเดียว เราเรียนผจญภัยร่วมกันทั่วโลก ท่องเที่ยวเอเชีย ยุโรป อเมริกา ทั้งตะลุยภูเขาไฟเมาเอ๊ตน่า บนเกาะซิซิลี่ ประเทศอิตาลี ที่กำลังจะระเบิดเพื่อท่องโลกหาโลเคชั่นถ่ายหนัง
ในชีวิตจริงไอ้เอกกับผมเป็นมากกว่าดารากับผู้กำกับหรือเจ้านาย เอกคือเพื่อน เป็นสิ่งที่เสียดายที่สุดที่ไอ้เอกจากไปก่อนแบบนี้มีสิ่งค้างคาที่อยากทำด้วยอีกมากมายนัก
มึงจะอยู่ในใจกูเสมอ รักมึงไอ้เอก
ภาพจากหนังสือ ทางสายเอก
@จากเพื่อนเก่า ด้วยรักและเคารพ : ยุทธนา มุกดาสนิท
เมื่อหยาดฝนหยดพราวจากราวฟ้า หมื่นแสนห่าไล่แล้วทุกแห่งหน
ก็เปรียบเหมือนมวลมหาประชาชน จักท่วมท้นเต็มแน่นท่วมแผ่นดิน
นี่เป็นบทกวีสั้นๆ ในบทนำภาพยนตร์ ‘ฝนแสนห่า’ หนังเรื่องแรกของผม ที่มีเอกเป็นดารานำ ผมได้ประจักษ์ในความสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นตัวละครได้อย่างน่าทึ่งของเอก โดยไม่ต้องซักซ้อมอะไรมากมาย เพียงแต่อธิบายให้เขาเข้าใจก็พอเพียง น่าชื่นชมมาก
แม้หนังที่ถ่ายไปกว่า 75% แล้ว แต่ถูกระงับการทราบด้วยผู้สร้างปิดกิจการไปเสียก่อนแต่ผมก็ได้ประสบการณ์ในการกำกับภาพยนตร์และเอกก็ได้เริ่มต้นชีวิตคู่กับนางเอกหนังเรื่องนี้ที่ผมคัดเลือกมาจากเพื่อนร่วมรุ่นที่ธรรมศาสตร์ พิมพ์จันทร์ ใจวงศ์…
ความจริงผมชื่นชอบเอกมาตั้งแต่ ปี 3 เมื่อเขารับบทหมอชาวบ้านใน ‘เขาชื่อกานต์’ และเมื่อผมเรียนจบได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยท่านมุ้ย (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) เอกก็แสดงเป็นดารานำในบทหนุ่มศิลปากร ‘ความรักครั้งสุดท้าย’ ที่แตกต่างกันมาก ผมสังเกตเห็นความมีวินัยความทุ่มเทที่เขามีต่องานเสมอ เอกเป็นคนยิ้มง่าย ไม่เครียด เป็นมิตรและมีอารมณ์ขันเสมอเมื่ออยู่หลังกองถ่าย แต่เมื่อผู้กำกับสั่งแอคชั่น เขาก็เปลี่ยนเป็นตัวละครได้ทันทีอย่างน่าทึ่ง
ต่อมาผมได้ร่วมงานกับเอกอีกในหนังของคุณเชิด (เชิด ทรงศรี) 'แผลเก่า' ในหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับ เอกยิ่งพิสูจน์ถึงศักยภาพในการแสดงจนถึงขีดสุดในบท 'ไอ้ขวัญ' หนุ่มชาวบ้าน ขี่ควบตีลังกาบนหลังควาย โดยไม่ต้องซักซ้อม จะด้วยประสบการณ์เฉพาะตัว หรือพระอาจารย์ท่านมุ้ยที่เอกรักและเคารพท่านมากๆสอนมาดี ให้มีความจริงใจกับการแสดงเสมอนั้น ถือว่าศิษย์มีความกตัญญูต่อครูย่อมพาเขาไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริง…เอกเป็นคนเช่นนั้น
ผมดีใจมากที่ได้ร่วมกำกับกับเพิ่มพล (เพิ่มพล เชยอรุณ อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง) ‘ชีวิตบัดซบ’ ที่มีส่วนทำให้เอกในบทครูผู้ถูกกดดันจากสังคมรอบด้าน ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดารานำชายยอดเยี่ยมตัวที่ 2 ปี ติดกับ ‘สัตว์มนุษย์’ อนาคตทางการแสดงของเขาก็พุ่งขึ้นไปเป็นดาวบนฟ้าอย่างไม่มีอะไรมาขวางได้ต่อมาอีกนาน…จนได้เป็นศิลปินแห่งชาติในที่สุด
เอกเป็นที่เคารพของทุกคนในวงการ ด้วยความสามารถ วินัย ความทุ่มเทให้กับการแสดงอย่างจริงจังจริงใจ ความเสมอต้นเสมอปลาย และความไม่ถือตัวเลยสักนิด ย่อมรู้กันไปถ้วนด้วยนิยามว่า เอกเป็นคนดี
เอกเป็นคนพูดจาสุภาพไพเราะผมยังไม่เคยเห็นเอกอารมณ์เสียทะเลาะวิวาทหรือเกรี้ยวกราดต่อทีมงานหรือใครๆเลย มีอยู่ครั้งเดียวใน 'ไฟนรกขุมโลกันต์' หนังบู๊แฟนตาซีของผม ที่ถ่ายฉากเอกวิ่งพา 'ลลนา' (ลลนา สุลาวัลย์ อดีตนางเอกชื่อดัง) หนีเหล่าร้ายทั้งโขยงในเชิงเขาหิน ของผมที่ถ่ายฉากเอกวิ่งพาลลนาหนีเหล่าร้ายทั้งโขยงในเชิงเขาหิน โดยมีผมกับตากล้องถ่ายในเฮลิคอปเตอร์ตามไปอยู่นาน จนเอกหยุดวิ่งแล้วตะโกนลั่นขึ้นมาว่า ‘หง่าว ลองลงมาวิ่งเองบ้างสิ ไม่ตัดเสียที’
ผมหันไปถามตากล้อง (พิพัฒน์ พยัคฆะ) ‘มันนานเหรอเล็ก?’ ‘เกือบหมดแม็กเลยหง่าว’เล็กตอบ และมารู้จากปากเองภายหลังว่าที่สกลราชขึ้นมาไม่ใช่เพราะโกรธแค่ตะโกนแข่งกับเสียงคอปเตอร์เท่านั้น
ยุทธนา มุกดาสนิท ภาพจาก Facebook: Euthana Mukdasanit
เอกเป็นคนยึดมั่นในพระศาสนา เพราะบวชเรียนมาแต่เล็ก ตั้งแต่รู้จักกันมานานปี เวลาคุยเล่นอะไรก็มักจะวกเข้ามาหาพุทธภาษิตเสมอ ความยึดมั่นศรัทธานี้ไม่เคยลดน้อยลง กลับเพิ่มพูนขึ้นไปตามเวลาจากการชอบทำบุญผ้าป่ากฐิน ไปจนถึงสร้างพุทธสถานวัดหลวงพ่อโตขึ้นอย่างมุ่งมั่นทีละเล็กละน้อยจนสำเร็จงดงามยิ่งเป็นพุทธบูชา
เมื่อหลายปีก่อนผมได้เดินทางไปชมเจอเอกออกมาต้อนรับและพาทัวร์พุทธสถานนี้ทั้งวิหารเป็นแบบกุฎาคารอันโอฬาร ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โตพรหมรังสีวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราชโรงทานบริการด้านอาหารและห้องน้ำสุขาฟรีรายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยงดงามนัก
ในตอนเย็นหลังทัวร์วัดแล้ว เอกพาผมเดินกลับตามทางร่มไม้งดงาม พร้อมเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปเรื่อย ผมลอบสังเกตเห็นดวงตาที่เป็นประกาย เปี่ยมไปด้วยศรัทธาของเอกขณะเล่า จนผมเกิดความปิติยินดีไปด้วยอย่างยิ่ง จะมีใครสักกี่คนที่จะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้หมดจดทั้งในสายวิชาชีพของตนและสายยึดมั่นในพระศาสนาอย่างมั่นคงจนถึงปลายฝัน เท่ากับสุภาพบุรุษเปี่ยมความสามารถผู้นี้ สรพงศ์ ชาตรี และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่ได้เจอเอก
ในวาระนี้ผมจึงขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวเอก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลบุญที่เขาได้อุทิศต่อพระศาสนาทั้งทางวัตถุและจิตใจที่มุ่งมั่นของเขา คุณพระศรีรัตนตรัยจะช่วยคุ้มครองนำพาเขาไปสู่สุคติในสัมปรายภพ ตามผลบุญที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิตด้วยเทอญฯ
ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ ชีวิตบัดซบ (2520) ภาพจากหนังสือทางสายเอก
@เอกหลานรัก: ฉลอง ภักดีวิจิตร
เอ่ยชื่อเอก-สรพงศ์ ชาตรี ไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จัก เขาเป็นศิษย์เอกของท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล ท่านมุ้ยปั้นให้เขาเป็นพระเอกมากับมือจนโด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทย โดยส่วนตัวแล้วเอกเป็นคนดีมีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี รู้จักเขารู้จักเรา ใครที่ได้สัมผัสเขาจะชอบและนับถือเขา
สรพงศ์ ชาตรี เคยร่วมงานกับผม เป็นคนตรงต่อเวลา ผมรักเขาเหมือนลูกเหมือนหลานคนหนึ่ง ระลึกถึงเขาเสมอ แต่เขามาด่วนจากไปก่อนวัยอันควร ขอให้วิญญาณของเอกหลานรัก จงไปสู่สุคติภพด้วยเถิด
ฉลอง ภักดีวิจิตร ภาพจาก https://www.chonburiindex.com/forum/showthread.php?p=82063
@พระเอก ศิลปินแห่งชาติ : ไพรัช สังวริบุตร
จากแล้ว ขวัญใจประชาชนทราบ ทราบข่าว เราใจหาย…อาลัย เสียดายจริงๆ ‘สรพงศ์ ชาตรี’ นามนี้ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ท่านมุ้ยของพวกเราประทานมา ดูแลเขาตลอดชีวิตดุจบุตรบิดาบังเกิดเกล้า สมแล้วใครๆก็รักเขา
ชีวิตหักเหเกินคาดคิด เราเห็นภาพเขากับภรรยา ‘ดวงเดือน จิไธสงค์’ ในชุดขาวบริสุทธิ์ต้อนรับผู้คนที่มาแสวงบุญด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข บ้างก็พาครอบครัวมาขอก่อนถ่ายรูปกับพระเอก บ้างก็มาขอสนทนาธรรมเพื่อสร้างสมบุญบารมี มีเขาเป็นสะพานบุญด้วยเครดิตความซื่อสัตย์ น้ำใจแฟนคลับและเพื่อนฝูง อัญเชิญสร้างหลวงพ่อโต พรหมรังสีเป็นพระบารมีอันศักดิ์สิทธิ์ จนเกิดวิหารใหญ่โตดุจวิมานก็ไม่ปานผู้คนขนานนามว่า ‘วัดสรพงศ์’
ป่านนี้ เขาคงเสวยสุขบนทิพย์วิมานที่เขาปรารถนา การเกิดขึ้นแล้วจากไป กฎธรรมดาของโลก แต่เราเป็นมนุษย์อดไม่ได้ที่จะเสียใจอะไรเสียดายสุภาพบุรุษสรพงษ์ ขอกุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าสร้างมาจงส่งผลไปถึงเขาด้วยเถิด
ภาพจาก หนังสือทางสายเอก
อ่านประกอบ
'สรพงศ์ ชาตรี'เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 71 ปี หลังป่วยด้วยมะเร็งปอด