"...ประตูที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คือ บุหรี่ กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหากเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้อง 3 สิ่งนี้อาจนำไปสู่สารเสพติดอื่น ๆ และการใช้ความรุนแรงต่อไป หากเราไม่รีบเร่งแก้ไขหรือปล่อยไว้อาจส่งอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน เช่น สมอง หัวใจ ปอด และมะเร็ง..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการ ‘บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤตสุขภาวะวัยรุ่นไทย’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ,นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม และผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่, ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และรศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีนางฐาณิษา สุขเกษม คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กับ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวทิยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายงาน
ประตูที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คือ บุหรี่ กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า
เริ่มต้นที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ประตูที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คือ บุหรี่ กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหากเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้อง 3 สิ่งนี้อาจนำไปสู่สารเสพติดอื่น ๆ และการใช้ความรุนแรงต่อไป ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นน่าเป็นห่วง และอาจจะถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ในรายงานการสำรวจสุภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 2562-2563 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นระหว่าง 10-19 ปี เคยลองสูบ ร้อยละ 5.3 สูบเป็นประจำ ร้อยละ 2.9 และที่สำคัญ ร้อยละ 30 เป็นวัยรุ่นหญิงที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นภัยร้ายตัวใหม่สำหรับวัยรุ่น หากเราไม่รีบเร่งแก้ไขหรือปล่อยไว้อาจส่งอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน เช่น สมอง หัวใจ ปอด และมะเร็ง
ประสบการณ์เครือข่ายเด็กและเยาวชน ครู ครอบครัว ต่อวิกฤตบุหรี่ไฟฟ้า
คุณพชรพรรษ์ กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนในปัจจุบันของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ที่ผ่านมาพบว่า เด็ก ป.5 ก็สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นแล้ว แต่ไม่ได้สูบเพียงคนเดียว แต่รวมกลุ่มกันสูบมากกว่า 20 คน
คุณพชรพรรษ์ กล่าวอีกว่า จุดมุ่งหมายของการขายบุหรี่ไฟฟ้า คือ เด็กและเยาวชน เนื่องจาก บุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนาปรับผลิตภัณฑ์ให้เหมือนเครื่องประดับในร่างกาย ทำให้เด็กและเยาวชนหลาย ๆ คนอยากสูบ เพราะรู้สึกเท่ห์ จนกลายเป็นค่านิยมในหมู่วัยรุ่น และตอนนี้ไม่ใช่แค่วิกฤตสุขภาพ และเป็นวิกฤตของประเทศ เราควรพลัดดันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวาระของชาติ ถ้าเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้เร็ว พวกเขาก็จะเข้าสู่สารเสพติดอื่น ๆ รวมถึงการใช้ความรุนแรงได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราต้องกันเด็กและเยาวชนไทยไม่ให้เข้าสู่วงจรสีเทานี้ จึงเป็นภารกิจของทุกคนที่ต้องช่วยกัน
ส่วนคุณฐาณิชชา กล่าวว่า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเด็กและเยาวชนง่ายมากขึ้น ไม่ได้เพียงแต่ซื้อในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ในตลาดก็สามารถหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ รวมถึงในโรงเรียนด้วย อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้าลักษณะภายนอกคล้ายอุปกรณ์เรียนของเด็กและเยาวชน ขณะนี้พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กระดับประถมศึกษาในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย และรู้เท่าไม่ถึงการณ์
คุณฐาณิชชา กล่าวย้ำอีกว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ครู และผู้ปกครอง ให้รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า และมีเครือข่ายที่มีผู้ปกครองช่วยกัน ออกแบบการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชนว่า ควรเชื่อข้อมูลไหนและไม่ควรเชื่อข้อมูลไหน
มุมมอง ‘หมอวัยรุ่น’ ต่อวิกฤตบุหรี่ไฟฟ้า ทำอย่างไร? ‘ถ้าพบว่าลูกติดบุหรี่ไฟฟ้า’ จะมีวิธีการสื่อสารอย่างไร
ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น อาจเกิดจาก การต้องการถูกยอมรับทางสังคมในหมู่วัยรุ่น หรือจากโครงสร้างทางสังคม บีบบังคับทำให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะเป็นทางออกที่ช่วยให้สบายใจและรู้สึกผ่อนคลายขึ้น เช่น ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาที่โรงเรียน หรือปัญหาทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ
ดังนั้นหากผู้ปกครองทราบว่าลูกของท่านสูบบุหรี่ไฟฟ้า ควรสื่อสารด้วยการรับฟังลูก และพยายามทำความเข้าใจด้วยเหตุผล ถ้าเราไม่ฟัง เราจะไม่รู้ ดังนั้นอย่าไปตำหนิ หรือดราม่าใส่ลูก และที่สำคัญอย่าให้ลูกรู้สึกแย่ รู้สึกเจ็บปวด ให้สอบถามด้วยความเป็นห่วง เช่น สอบถามว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยอะไร หรือตอบโจทย์อะไรในชีวิตลูก และชวนลูกคิด สิ่งเหล่านี้ จะนำสู้ความเข้าใจซึ่งกันละกันระหว่างผู้ปกครองและลูก
ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและเยาวชนไทย
รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า เป้าหมายที่แท้จริงของบุหรี่ไฟฟ้า คือเด็กและเยาวชน เมื่อมองน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า สามารถเห็นได้ชัดเจนว่า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่รสชาติที่ต้องการขายให้แก่เด็กและเยาวชน ปัจจุบันน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าน่าจะมีมากกว่า 16,000 กว่ารสชาติ
โดยปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่
-
มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า
-
มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า
-
คนรอบตัวมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ
-
เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน
-
เข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า การวิจัยเปรียบเทียบ นิโลตินในบุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่ธรรมดา พบว่า บุหรี่ไฟฟ้า มีนิโลตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยบุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่งเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดา 20 มวน อีกทั้งเด็กและเยาวชนไทยที่เริ่มต้นด้วยบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่ม 5 เท่า
ขณะเดียวกันน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้ต่อสุขภาพของวัยรุ่น โดยพัฒนาการในสมองอาจผิดปกติ หรือช้าลง และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจะเสียชีวิตเฉียบพลันได้ และ 53 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีภาวะซึมเศร้า และ 7 ใน 10ของเด็กที่ติดบุหรี่ไม่สามารถเลิกได้
ฝากถึงรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยงข้องให้ความสำคัญปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น
คุณพชรพรรษ์ ฝากถึงผู้กำหนดนโยบายภาครัฐว่า ‘ต้องไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย’ และต้องพลัดดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นวาระของชาติ อย่าหวังเก็บภาษีจากสิ่งที่เป็นภัยต่อประชาชน และสังคม
ส่วน ผศ.พญ.จิราภรณ์ ฝากให้นักการเมืองใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไทย เพราะเป็นลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับชาติ เพราะปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น มีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ ผู้ปกครองไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก การศึกษาห่วย ไม่ได้เป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เป็นต้น
สุดท้ายภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย อยากฝากถึงรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยงข้องให้ความสำคัญปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น และเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าให้เข็มงวดขึ้น ทุกคนควรช่วยกันการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น ต้องช่วยกันทำให้บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องปกติของสังคม เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนไทย มีอนาคตที่สดใส และสุขภาพร่างกายแข็งแรง