"...อันโตเนียตัดสินใจขอคำปรึกษาจากคุณหมอวินซ์ก่อนจะสายเกินแก้ คุณหมอได้แนะนำวิธีการปฐมพยาบาลด้วยการให้กล่าวคำขอโทษที่จริงใจและตรงจุด ซึ่งในกรณีของอันโตเนีย การกล่าวคำว่า “หนูขอโทษ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก และการเข้าไปรีบช่วยเหลือแม่ไม่ได้เป็นสิ่งที่แม่ต้องการมากที่สุด เพราะสิ่งที่แม่ต้องการคือ เธอต้องไม่หันหลังให้แม่แล้วเดินหนีทุก ๆ ครั้งที่ทะเลาะกัน เพราะแม่คิดว่าเป็นการแสดงที่ไม่เคารพและให้เกียรติกัน นอกจากนั้น คุณหมอยังสั่งยาเพิ่มเติมโดยให้อันโตเนีย “ให้อภัยตัวเอง” เพราะการให้อภัยตัวเองช่วยลดความรู้สึกผิดและทำให้เราไม่อยากหลีกเลี่ยงคนที่เราทำร้ายอีกต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความสุขกับชีวิตได้มากขึ้น..."
หากพวกเราหกล้มเกิดแผลถลอกที่เข่า เราจะรีบทำความสะอาดและปิดผ้าพันแผลทันที เพราะเราเรียนรู้ที่จะรีบปฐมพยาบาลป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อถือเป็นสัญชาตญาณตั้งแต่เด็ก แต่หากให้ถามว่าเราทำอย่างไรกับความเจ็บป่วยทางจิตใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งจากการถูกปฏิเสธ ความรู้สึกเหงา ความผิดหวัง ความสูญเสีย และความรู้สึกผิด เรากลับไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเพราะเราไม่มียารักษาแผลทางใจที่ชัดเจนเท่ากับแผลทางกาย ทั้ง ๆ ที่การปฐมพยาบาลรักษาแผลทางใจมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเช่นกันเพราะหากไม่ดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้บาดแผลทางใจยิ่งรุนแรงและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่ยากต่อการรักษาได้ [1]
หนังสือ “ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ” (Emotional First Aid) เขียนโดย กาย วินซ์ (Guy Winch) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐ ผู้เขียนหนังสือจิตวิทยาขายดีหลายเล่ม เช่น How to Fix a Broken Heart และ The Squeaky Wheel ได้บรรยายถึงอาการบาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริง ที่คนไข้ได้เข้ามาปรึกษา พร้อมเสนอแนวทางปฐมพยาบาลเบื้องต้นว่าควรจะทำอย่างไร เปรียบเสมือนกับ ตู้ยาสามัญประจำบ้านที่มียาครบครัน บรรยายถึงสรรพคุณและวิธีการรักษา
หนังสือเล่มนี้มีถึง 7 บท หนาถึง 382 หน้า และเพื่อให้พวกเรานึกภาพแก่นหลักเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ชัดเจนขึ้น จะขอยกตัวอย่าง “ความรู้สึกผิด” อาการบาดแผลทางจิตใจที่พบบ่อยมากที่สุด เป็นพิษต่อทั้งความสงบทางใจของเราและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เรารักและผูกพัน ซึ่งหากปล่อยสารพิษของความรู้สึกผิดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย การบำบัดจะยิ่งยากขึ้น ทั้งนี้ เรามักคิดว่า การกล่าวคำขอโทษต่อการกระทำของเราจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ในบางสถานการณ์อาการกลับยิ่งเลวร้ายลง เพราะไม่ได้รักษาถูกจุด ถูกวิธี เช่น ในกรณีของจูดี้ อันโตเนีย นักศึกษาวิทยาลัยวัย 20 ปี ลูกคนที่สามในจำนวนพี่น้องถึง 12 คน ครอบครัวเป็นคนเชื้อชาติอิตาลี เธอมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับแม่มากนัก มักจะทะเลาะและขึ้นเสียงกันบ่อย ๆ แต่เหตุการณ์วันหนี่งทำให้ทุกอย่างดูเลวร้ายลง เมื่อเธอกลับไปเยี่ยมแม่ และเกิด “เทศกาลกรีดเสียง” กับแม่เธอขึ้น อันโตเนียตัดสินใจหันหลังกลับไปขึ้นรถ แต่แม่ยังตามมาต่อว่าต่อขานเสียงดังได้ยินกันจนทั่วทั้งหมู่บ้าน ทำให้เธอสติแตก ออกรถโดยเหยียบคันเร่งเต็มแรง และกว่าจะแตะเบรกได้ทัน ยางรถก็ทับเท้าแม่พอดี พร้อมกับเสียงร้องเจ็บปวดสุด ๆ อันโตเนียรีบลงจากรถกล่าวคำโทษ “แม่ หนูขอโทษ! หนูไม่รู้ว่าพวงมาลัยหักเลี้ยวอยู่! หนูขอโทษค่ะ!” แต่แม่ไม่สบตาเธอ พร้อมปฏิเสธให้เธอพาไปส่งโรงพยาบาล โชคดีที่อาการของแม่ไม่หนักหนาสาหัสเท่าที่คิด แม้ว่าจะต้องใช้เวลารักษาแรมเดือน แต่ “ความรู้สึกผิด” เป็นบาดแผลทางจิตใจที่อันโตเนียยังหาหนทางรักษาไม่ได้ และดูเหมือนอาการยิ่งจะรุนแรงขึ้น เพราะบรรยากาศภายในบ้านไม่เหมือนเดิม เต็มไปด้วยความตึงเครียด เพราะแม่ดูเหมือนยังไม่ให้อภัย ในขณะที่พี่และน้องของเธอมองหน้ากันไม่ติด [2]
อันโตเนียตัดสินใจขอคำปรึกษาจากคุณหมอวินซ์ก่อนจะสายเกินแก้ คุณหมอได้แนะนำวิธีการปฐมพยาบาลด้วยการให้กล่าวคำขอโทษที่จริงใจและตรงจุด ซึ่งในกรณีของอันโตเนีย การกล่าวคำว่า “หนูขอโทษ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก และการเข้าไปรีบช่วยเหลือแม่ไม่ได้เป็นสิ่งที่แม่ต้องการมากที่สุด เพราะสิ่งที่แม่ต้องการคือ เธอต้องไม่หันหลังให้แม่แล้วเดินหนีทุก ๆ ครั้งที่ทะเลาะกัน เพราะแม่คิดว่าเป็นการแสดงที่ไม่เคารพและให้เกียรติกัน[3] นอกจากนั้น คุณหมอยังสั่งยาเพิ่มเติมโดยให้อันโตเนีย “ให้อภัยตัวเอง” เพราะการให้อภัยตัวเองช่วยลดความรู้สึกผิดและทำให้เราไม่อยากหลีกเลี่ยงคนที่เราทำร้ายอีกต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความสุขกับชีวิตได้มากขึ้น[4]
“ความรู้สึกผิด” ของอันโตเนียและวิธีการรักษาเยียวยาจิตใจ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ในสัปดาห์หน้า ผมจะได้นำ 7 แนวทางการปฐมพยาบาลบาดแผลทางอารมณ์ที่คุณหมอวินซ์ได้แนะนำให้นำมาเก็บไว้ในตู้ยา เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาวะทางอารมณ์ของเราที่ลุกลามไปมากกว่านี้
แหล่งที่มา:
[1] Emotional First Aid ทำไมเราควรปฐมพยาบาลอารมณ์ [online] Available at: <https://fonthipward.com/th/emotional-first-aid/> [Accessed 2 October 2022].
[2] กาย วินซ์ เขียน ลลิตา ผลผลา แปลซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid) สำนักพิมพ์ Being พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2565 หน้า 181-183
[3] กาย วินซ์ เขียน ลลิตา ผลผลา หน้า 192-193
[4] กาย วินซ์ เขียน ลลิตา ผลผลา หน้า 197-198