"...โดยผลการวิจัยพบว่า ราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อไทยเกินครึ่งไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยมหภาคที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของราคาในหมวดย่อยที่เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ ไม่ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เป็นวงกว้างอีกด้วย..."
...............................
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER Research) เผยแพร่บทความ ซึ่งเป็นงานวิจัยของ ดร.พิม มโนพิโมกษ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , นายชัยธัช จิโรภาส เจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธปท. และ ดร.นุวัต หนูขวัญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยใช้ข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์เงินเฟ้อไทยในเชิงลึก
สรุปว่า เงินเฟ้อไทยไม่ค่อยอ่อนไหวไปกับปัจจัยมหภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะของแต่ละสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ผลของปัจจัยเฉพาะไม่ได้มีการส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในวงกว้างเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารกลางในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน ทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะ สามารถคลี่คลายไปได้เองและไม่ส่งผลยืดเยื้อ
ดร.นุวัต ให้ข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในระดับจุลภาคมีความแตกต่างกันมากในแต่ละเดือน ทั้งในแง่ของขนาดและทิศทางการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีทั้งสูงและต่ำไปกว่าตัวเลขรวม เช่น ในช่วงต้นปี 65 การเปลี่ยนแปลงของราคาเนื้อสุกรเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าสูงถึง 22.6% ในขณะที่ราคาสินค้าหลายรายการไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับลดลง
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้ารายย่อยที่มีความแตกต่างกันมากย่อมสะท้อนให้เห็นว่า shock หรือปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อมีความหลากหลาย โดยแบ่งปัจจัยดังกล่าวออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) ปัจจัยร่วม หรือปัจจัยมหภาค ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ หรือการดำเนินนโยบายการเงิน เป็นต้น
และ (2) ปัจจัยเฉพาะ ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการบางประเภทเท่านั้น เช่น ผลจากโรคระบาดในสุกรข้างต้น สภาพอากาศแปรปรวนที่กระทบราคาผักผลไม้ มาตรการภาครัฐที่อุดหนุนค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
ผลการวิจัยพบว่า บทบาทของปัจจัยร่วมต่อเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาลดน้อยลงมาก ในขณะที่ปัจจัยเฉพาะสินค้ามีความสำคัญมากขึ้น โดยสามารถอธิบายความผันผวนของเงินเฟ้อไทยได้สูงถึง 85% ส่วนใหญ่แล้วมาจากปัจจัยเฉพาะที่กระทบสินค้าในหมวดพลังงาน เช่น น้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งสะท้อนสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงของไทย ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไทยเป็นปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก
นายชัยธัช เล่าว่า ด้วยความสามารถของธนาคารกลาง (ธปท.) ที่สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชนได้เป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสูงขึ้นในการอธิบายเงินเฟ้อไทย ผ่านสองช่องทางสำคัญ โดยทำให้ราคาสินค้าและบริการรายย่อยอ่อนไหวไปกับวัฏจักรเศรษฐกิจน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อว่าธนาคารกลางจะสามารถดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้
โดยผลการวิจัยพบว่า ราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อไทยเกินครึ่งไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยมหภาคที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของราคาในหมวดย่อยที่เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ ไม่ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เป็นวงกว้างอีกด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นในหมวดสินค้าหนึ่งๆ สามารถอธิบายความผันผวนของราคาในหมวดอื่นๆ ได้โดยเฉลี่ยเพียงแค่ 3% เท่านั้น จึงทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่ยืดเยื้อ
ในบริบทของไทยที่ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายการเงินจึงย่อมมีความท้าทาย เนื่องจากปัจจัยเฉพาะเหล่านี้มักมีความผันผวนสูงและเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่นโยบายการเงินไม่สามารถควบคุมได้
ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายควรมองผ่าน (look through) ความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวของเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี หากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องเข้าดูแลเพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน
นอกจากนี้ ผลการวิจัยนี้ยังมีนัยต่อการติดตามและประเมินความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีความจำเป็นมากขึ้น ที่ต้องอาศัยข้อมูลราคาในเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ที่มาของเงินเฟ้อ และประเมินการส่งผ่านผลกระทบของปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นนั้นด้วย
อ่านบทวิจัยฉบับเต็ม : เรื่อง 'เจาะลึกเงินเฟ้อไทยผ่านข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อย'