"...แกรนต์ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “การประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การแข่งกันชิงดีชิงเด่น แต่ความสำเร็จมาจาก 'การให้' ผมเชื่อว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตคือการช่วยเหลือให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน” (Instead of saying it is all about winning a competition. People will realize success is really about contribution.)..."
จากผลการศึกษาของอดัม แกรนต์ (Adam Grant) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผู้เขียนหนังสือ พลังแห่งการให้ และรับ (Give and Take) พบว่า 'ผู้ให้' สามารถสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างยั่งยืน ทำให้เกิดความร่วมมือและความคิดสร้างสรรค์ ช่วยเป็นพลังจุดไฟที่มอดแล้วขึ้นมาใหม่ แกรนต์ ได้ยกตัวอย่างของ คอรีย์ คัลลาแฮน (Corey Callahan) ครูจากโครงการ Teach for America ที่รู้สึกหมดไฟในการทำงาน เนื่องจากปัญหามากมายนับไม่ถ้วนในชีวิต แต่เธอสามารถกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วย 'การให้' จัดตั้งองค์กรให้คำปรึกษาแก่นักเรียนในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ไฟที่มอดไปแล้วค่อย ๆ ลุกโชนขึ้นมา ทำให้ชีวิตมีความหมายอีกครั้ง [1]
อย่างไรก็ดี การเป็น 'ผู้ให้' สามารถเป็นได้ทั้งผู้อยู่ตรงจุดต่ำสุดหรือสูงสุดแห่งความสำเร็จ ดังนั้น การจะเป็น 'ผู้ให้' ที่ทรงพลังและไม่กระทบต่อเป้าหมายของตนเอง คือ รู้จัก 'การให้' อย่างถูกวิธี การเป็น 'ผู้ให้' ที่ใจดีมากเกินไป โดยไม่รู้จักปฏิเสธคนอื่นอย่างเหมาะสม ต้องคิดให้ดีเสียก่อนว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อตัวเราอย่างไร ทั้งต่องาน และต่อครอบครัว เช่น หากเรามีงานกองเต็มโต๊ะที่ต้องทำให้เสร็จวันนี้ แต่หากรับจะช่วยงานเพื่อน นั่นอาจหมายถึงงานที่กองบนโต๊ะจะส่งไม่ทัน และการเร่งรีบทำงานให้เพื่อน งานอาจจะออกมาไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ สรุปคือได้รับผลกระทบกันไปหมด
ลิลเลียน บาวเออร์ (Lillian Bauer) ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำแห่งหนึ่งภายหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ด้วยพื้นเพการศึกษาและผลงานของเธอ ทำให้เพื่อนร่วมงานคาดว่าเธอคือดาวรุ่งพุ่งแรง จะได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทเร็วกว่าคนอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เพื่อนร่วมงานต่างได้เลื่อนตำแหน่งก่อนเธอ เหตุผลหลักเป็นเพราะบาวเออร์เป็นฝ่ายให้มากเกินไป จนส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง แม้เธอจะเป็นคนมีพรสวรรค์และมีความมุ่งมั่น เพื่อนร่วมงานกล่าวถึงเธอว่า “เธอใจกว้างมากและชอบสละเวลาจนอาจทำให้ตัวเองถูกเอาเปรียบ” บาวเออร์ได้รับบทเรียนอันล้ำค่า เมื่อเธอได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ด้วยการติวเข้มให้กว่า 50 ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ จนเพื่อนเธอได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ไม่นานกลับขอย้ายไปประจำที่สำนักงานในต่างประเทศ ถือเป็นการฝ่าฝืนนโยบายของบริษัท บาวเออร์กล่าวว่า “นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความรู้สึกของฉันก็เปลี่ยนไป ฉันไม่ทำตัวใจกว้างขนาดนั้นอีกแล้ว” ดังนั้น การใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นเกินไปมักจะถูก 'ผู้รับ' เอาเปรียบ การให้ควรจะพุ่งเป้าไปที่ความคิดของผู้รับมากกว่าความรู้สึก [2]
นอกจากนั้น การเป็น 'ผู้ให้' ที่ดีต้องเป็นนักต่อรองที่ดีด้วย แกรนต์ได้หยิบยกประสบการณ์ตนเองสมัยเรียนชั้นปีหนี่งในมหาวิทยาลัย เมื่อรับงานหาพื้นที่โฆษณาให้กับหนังสือคู่มือท่องเที่ยวชื่อเล็ตส์โก (Let’s Go) วันหนึ่งเจ้าของบริษัทซี่งเป็นลูกค้าของเขาได้โทรศัพท์มาร้องเรียนว่า ข้อมูลที่ลงโฆษณาเป็นข้อมูลเก่า ก่อให้เกิดความเสียหาย ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แกรนต์จึงยอมลดค่าโฆษณาให้ ซึ่งผิดนโยบายของบริษัท แต่ในเวลาต่อมา แกรนต์พบว่า ลูกค้าภายใต้การดูแลของเขาต่อสัญญาได้น้อยมาก ในขณะที่ เล็ตส์โกมีอัตราต่อสัญญากับลูกค้าเก่าถึงร้อยละ 95 ทำให้เขาเรียนรู้ว่า การเป็นผู้ให้ ช่วยเหลือผู้อื่นสามารถทำให้ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะเหมือนกันได้ เพราะผลประโยชน์ของผู้รับไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้ให้เสมอไป แกรนต์สวมบทบาทเป็น 'ผู้ให้' ด้วยการนำกลยุทธ์การต่อรองมาใช้ เช่น เมื่อมีลูกค้าบริษัทหนึ่งจะขอถอนโฆษณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่เมื่อแกรนต์ได้ยื่นขอเสนอจัดทำคู่มือฉบับพิเศษเป็นการเฉพาะลูกค้าก็เปลี่ยนใจลงโฆษณาตามเดิม [3]
อนึ่ง การเป็น 'ผู้ให้' ที่สามารถทำให้เกิดแนวร่วม ปรับ 'ผู้รับ' ให้มีมุมมองของการเป็น 'ผู้ให้' มากขึ้น ยิ่งจะสร้างพลังมากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการตั้งเป้าหมายร่วมกัน และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันเพื่อประโยชน์ของตัวเราเองและองค์กร เช่น เว็บไซต์ชื่อว่า ฟรีไซเคิล (Freecycle) รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่คนอยากจะบริจาคมารวมไว้ที่เดียวกัน คิดค้นโดย เดรอน บีล (Deron Beal) ชาวโอไฮโอเมื่อปี 2003 โดยเว็บไซด์นี้มีกติกาง่าย ๆ คือของทั้งหมดจะต้องถูกแจกจ่ายกันแบบฟรี ๆ ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 30 คน ปัจจุบันจำนวนสมาชิกสูงถึง 6.8 ล้านคนกว่า 121 ประเทศ แต่สถิติที่น่าสนใจคือ ผู้ให้สิ่งของโดยเฉลี่ย 21 ชิ้นบนฟรีไซเคิล ส่วนผู้รับที่ปกติไม่เคยให้คนอื่นกลับแจกสิ่งของโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 9 ชิ้น ถือได้ว่า ฟรีไซเคิลได้ส่งเสริมให้ผู้รับและผู้แลกเปลี่ยนทำตัวเหมือนผู้ให้ด้วย ซึ่งจากผลการศึกษา พบว่าเมื่อผู้ให้อยู่ในลักษณะเป็นกลุ่ม ก็จะหาหนทางทำให้ตัวเองไม่ถูกเอาเปรียบ ด้วยการทำให้ทุกคนทำตัวเหมือนผู้ให้มากขึ้น [4]
การมีพื้นเพคล้ายคลึงกันถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดพฤติกรรม 'การให้' ทั้งนี้ นักจิตวิทยาในอังกฤษได้เกณฑ์แฟนบอลทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมาเข้าร่วมทดลอง ด้วยการให้มีนักวิ่งลื่นล้มต่อหน้าแฟนบอลเหล่านั้น ผลปรากฏว่ามีแฟนบอลเพียงร้อยละ 33 ที่เข้าไปช่วยเหลือ หากให้นักวิ่งใส่เสื้อยืดทีมลิเวอร์พูล ปรากฏว่ามีแฟนบอลเข้ามาช่วยเหลือร้อยละ 70 แต่หากให้นักวิ่งใส่เสื้อยืดทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปรากฏว่ามีแฟนบอลถึงร้อยละ 92 วิ่งเข้ามาไปช่วยเหลือ เป็นปฏิกิริยาที่แจ๊ค โดวิดิโอ (Jack Dovidio) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเยลเรียกว่า 'การกระตุ้นเอกลักษณ์ที่มีร่วมกัน' คือ 'การให้' แบบนึกถึงใจเขาใจเรา ถ้าเราช่วยเหลือคนที่เรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ก็เท่ากับเรากำลังช่วยเหลือตัวเองด้วย [5]
แกรนต์ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “การประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การแข่งกันชิงดีชิงเด่น แต่ความสำเร็จมาจาก 'การให้' ผมเชื่อว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตคือการช่วยเหลือให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน” (Instead of saying it is all about winning a competition. People will realize success is really about contribution.) [6]
แหล่งที่มา:
[1] Adam Grant เขียน วิโรจน์ ภัทรทีปกร แปล พลังแห่งการให้ และรับ (Give and Take) สำนักพิมพ์วีเลิร์น 2022 หน้า 239-243
[2] Adam Grant เขียน วิโรจน์ ภัทรทีปกร แปล หน้า 279-318
[3] Adam Grant เขียน วิโรจน์ ภัทรทีปกร แปล หน้า 309-314
[4] Adam Grant เขียน วิโรจน์ ภัทรทีปกร แปล หน้า 322-324
[5] Adam Grant เขียน วิโรจน์ ภัทรทีปกร แปล หน้า 334-335
[6] Are you a giver or a taker? By Adam Grant, TEDTALK Jan 24, 2017 www.youtube.com/watch?v=YyXRYgjQXX0