"...รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 159 และบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ได้บัญญัติให้ช่วง 5 ปีแรก เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ.....ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมจะต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภาจะต้องจัดประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่.....เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาจะต้องเรียกประชุมสมาชิกเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยในการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะต้องพิจารณาก่อนว่านายกรัฐมนตรีคนเดิมได้ดำรงตำแหน่งรวมกันครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะต้องเป็นผู้พิจารณาเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่าถึงเวลาต้องให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว หรือยังไม่ถึงเวลา..."
การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หรือการที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ทำหนังสือถึงประธานสภา นายชวน หลีกภัย เพื่อส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปอีกได้..... ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศให้ความสนใจว่าจะจบลงอย่างไร
การเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก และการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน มีประเด็นต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือไม่ ? หากดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วครบ 8 ปี
2. ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจในการวินิจฉัย หรือไม่ ? ว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นการดำรงตำแหน่งที่จะชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
3. รัฐสภาจะต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อใด ?
จากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พอที่จะไขข้อสังเกตของประเด็นดังกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า
1. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องทำการลาออกจากตำแหน่ง เมื่อดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วครบ 8 ปี แต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องมีการลาออกก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยอัตโนมัติ
2. หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติอยู่ในมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญ และในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีต่าง ๆ รวม 13 ลักษณะคดี ซึ่งล้วนแต่เป็นลักษณะคดีที่จะต้องมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น โดยข้อที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้มากที่สุดคือ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะรัฐมนตรี.... แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษา หรือแสดงความเห็น หรือตีความรัฐธรรมนูญเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ปฏิบัตินำไปใช้ปฏิบัติในอนาคตในเรื่องที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านเห็นว่าจะเกิน 8 ปี หลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
3. รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 159 และบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ได้บัญญัติให้ช่วง 5 ปีแรก เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบ.....ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมจะต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภาจะต้องจัดประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่.....เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาจะต้องเรียกประชุมสมาชิกเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยในการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะต้องพิจารณาก่อนว่านายกรัฐมนตรีคนเดิมได้ดำรงตำแหน่งรวมกันครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะต้องเป็นผู้พิจารณาเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่าถึงเวลาต้องให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว หรือยังไม่ถึงเวลา
เมื่อผลการพิจารณาของรัฐสภาเป็นอย่างไรแล้ว ไม่ว่าจะเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี จึงไม่ต้องให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือเห็นว่าครบ 8 ปี แล้ว และให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ถึงตอนนั้นหากมีผู้ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่ามติของที่ประชุมรัฐสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงจะเข้าสู่กระบวนการเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป
แต่หากไม่มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เลย โดยพลเอกประยุทธ์ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เมื่อถึงตอนนั้นจึงจะเป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านอาจยื่นเรื่องผ่านประธานสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์หลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ในกรณีที่ไม่มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และต่อมาหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ภายหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่ไม่ได้เรียกประชุมสมาชิกเพื่อให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไปด้วย
จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่า ณ เวลานี้ หน้าที่ในการพิจารณา 'ปม 8 ปี นายกรัฐมนตรี' เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ หรือของรัฐสภา