"...คนแต่ละประเภทต่างมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกัน แต่ 'ผู้ให้' กลับเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้มากกว่าใคร และยังมีโอกาสอยู่ที่ต่ำสุดได้มากกว่าใครด้วยเช่นกัน เพราะ 'ผู้ให้' มักใจดีกับผู้อื่นมากเกินไป พวกเขามักช่วยเหลือคนอื่นจนสร้างภาระให้กับตัวเอง ผลงานของตนเองจึงไม่โดดเด่น ดังนั้น 'ผู้ให้' อาจจะไม่ใช่นักวิ่งระยะสั้นที่ดี แต่ถือเป็นนักวิ่งมาราธอนที่เสียสละ และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในระยะยาว..."
ข่าวการบริจาคเงิน 900 ล้านบาทให้แก่มูลนิธิรามาธิบดีของอากง 'จุน วนวิทย์' ผู้ค้นคิดพัดลม 'ฮาตาริ' แบรนด์สัญชาติไทย ทำให้พวกเราได้รับทราบถึงนักธุรกิจใจบุญ ผู้ทำตัวปิดทองหลังพระ ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากอดีตช่างซ่อมพัดลมที่ต้องการตอบแทนคืนกลับให้กับสังคม และแน่นอน การบริจาคครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกของท่าน
หนังสือ 'พลังแห่งการให้ และรับ' (Give and Take) เขียนโดย อดัม แกรนต์ (Adam Grant) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระบุไว้ว่า นอกจากแรงจูงใจ ความสามารถ และโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่มักถูกมองข้ามคือ 'วิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น' แกรนต์ได้แบ่งคนในโลกใบนี้ออกเป็น 3 ประเภทคือ ผู้รับ (taker) ผู้ให้ (giver) และ ผู้แลกเปลี่ยน (matcher) โดยที่ 'ผู้รับ' ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าความต้องการของผู้อื่น เพราะเชื่อว่าสรรพสิ่งมีจำกัด ดังนั้น ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องอยู่เหนือผู้อื่นให้ได้ ในขณะที่ 'ผู้ให้' สนใจผลประโยชน์ของคนรอบตัวและพิจารณาว่าคนเหล่านั้นต้องการอะไรจากพวกเขา สำหรับ 'ผู้แลกเปลี่ยน' เชื่อมั่นในการยื่นหมูยื่นแมว บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน [1]
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึงความแตกต่าง ขอเปรียบเทียบกับวิธีการแบ่งขนมพายทานกันในที่ทำงาน หากเป็น 'ผู้รับ' จะคิดว่า ขนมพายถาดนี้เป็นถาดสุดท้าย ดังนั้น จะต้องหาทุกวิถีทางที่จะตัดแบ่งเพื่อให้ตนเองได้ทานพายมากที่สุด แต่หากเป็น 'ผู้แลกเปลี่ยน' จะนับจำนวนคนก่อนที่จะตัดพายเพื่อแบ่งปันกันในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน สำหรับ 'ผู้ให้' จะไม่ด่วนตัดสินใจ เริ่มคิดก่อนว่าจะทำอย่างไรให้พายถาดนี้ใหญ่ขึ้น อร่อยขึ้น เพื่อให้ผู้ที่จะได้รับปันพายอิ่มอร่อยมากขึ้น
ผลงานวิจัยกว่า 10 ปี แกรนต์พบว่า คนส่วนใหญ่ในกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 56) จะมีลักษณะเป็น 'ผู้แลกเปลี่ยน' พยายามปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกับผู้อื่น ในขณะที่ ลักษณะเป็น 'ผู้รับ' มีถึงร้อยละ 19 โดยที่คนกลุ่มนี้ไม่ยอมรับความเป็นตัวตนนั้น เช่น เคนเน็ธ เลย์ (Kenneth Lay) อดีตประธานกรรมการและซีอีโอบริษัทเอนรอนยาวนานกว่า 15 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นบริษัทเอนรอนมีมูลค่าสูงถึง 110,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีพนักงานกว่า 20,000 คนใน 40 ประเทศทั่วโลก นิตยสารฟอร์จูนได้จัดให้บริษัทเอนรอนเป็นบริษัทที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดในสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด มีการบริจาคเงินกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ให้องค์กรกว่า 250 แห่ง แต่ในภายหลังเมื่อมีการค้นพบว่าบริษัทตกแต่งบัญชี สร้างกำไรเกินจริงและปกปิดตัวเลขหนี้สิน พร้อมการปั่นราคาหุ้น ส่งผลให้บริษัทต้องล้มละลายในท้ายที่สุด ถือเป็นเรื่องราวของผู้รับในคราบผู้ให้ ด้วยการทำตัวเสมือนเป็นผู้ให้ สร้างความสำเร็จจากการสร้างเครือข่ายและใช้เส้นสายเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง [2]
คนแต่ละประเภทต่างมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกัน แต่ 'ผู้ให้' กลับเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้มากกว่าใคร และยังมีโอกาสอยู่ที่ต่ำสุดได้มากกว่าใครด้วยเช่นกัน [3] เพราะ 'ผู้ให้' มักใจดีกับผู้อื่นมากเกินไป พวกเขามักช่วยเหลือคนอื่นจนสร้างภาระให้กับตัวเอง ผลงานของตนเองจึงไม่โดดเด่น ดังนั้น 'ผู้ให้' อาจจะไม่ใช่นักวิ่งระยะสั้นที่ดี แต่ถือเป็นนักวิ่งมาราธอนที่เสียสละ และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในระยะยาว
แกรนต์ได้ยกเรื่องการเจรจาทางธุรกิจของ แดนนี่ เชดเดอร์ (Danny Shader) ผู้ก่อตั้งบริษัท PayNearMe บริษัทที่โด่งดังจากการให้บริการชำระเงินผ่านมือถือในสหรัฐฯ และเดวิด ฮอร์นิก (David Hornik) นักลงทุนรายใหญ่ในบริษัทสตาร์ทอัพ ช่วยให้หลายบริษัทประสบความสำเร็จ ฮอร์นิกถือเป็นนักลงทุนรายแรกที่ได้ฟังข้อเสนอของเชดเดอร์ชักชวนให้เป็นหุ้นส่วนในบริษัท PayNearMe ซึ่งฮอร์นิกสนใจข้อเสนอนี้ทันที แต่แทนที่จะฉวยโอกาสกำหนดเส้นตายให้เชดเดอร์รับข้อเสนอของเขา เขากลับแนะนำให้เชดเดอร์นำข้อเสนอไปเปรียบเทียบกับรายอื่น ซึ่งในท้ายที่สุดเชดเดอร์ตัดสินใจลงทุนกับนักลงทุนคู่แข่ง ทั้งที่ข้อเสนอและเงื่อนไขไม่ต่างกับของฮอร์นิกเลย เชดเดอร์ให้เหตุผลกับฮอร์นิกว่า “คุณเป็นคนใจกว้างเกินไป ผมเกรงว่าหากเลือกคุณมาเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น คุณจะเห็นด้วยกับผมในทุกเรื่องแทนที่จะท้วงติง ใจผมบอกให้เลือกคุณ แต่สมองผมบอกให้เลือกคนอื่น ผมเลยตัดสินใจเชื่อสมองแทนที่จะเป็นหัวใจ” [4]
ฮอร์นิกได้เรียนรู้ถึงผลเสียของการเป็น 'ผู้ให้' ที่ทำให้พลาดโอกาสทองในครั้งนั้น ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาในสายตาของเชดเดอร์ผิดไป แต่ในช่วงเวลาต่อมา ฮอร์นิกได้รับโอกาสเข้าร่วมเป็นกรรมการของบริษัท PayNearMe ฮอร์นิกได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของบริษัท แนะนำและผลักดันให้กรรมการมีทางเลือกใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนเชดเดอร์ได้เห็นคุณค่าของฮอร์นิกในฐานะ 'ผู้ให้' เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าฮอร์นิกเป็นนักวิ่งมาราธอนที่มีคุณค่าต่อองค์กรในท้ายที่สุด
ดังนั้น การเป็น 'ผู้ให้' จึงต้องทำอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ ผมจะได้เขียนถึงข้อคิดของแกรนต์ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อเป็น 'ผู้ให้' ที่ทรงพลัง โดยไม่กระทบต่อเป้าหมายของตนเอง ใน Weekly Mail สัปดาห์หน้า