"...กล่าวได้ว่า วะบิ ซะบิ เป็นแนวคิดที่เกิดจากความจริงในโลก 2 ประการคือ 1. ความไม่ถาวร เป็นอนิจจัง (impermanent) ทุกสรรพสิ่งไม่ยั่งยืนถาวร เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และ 2. ความไม่สมบูรณ์แบบ (imperfection) ทุก ๆ สิ่งย่อมมีตำหนิ..."
ช่วงวันหยุดยาว 4 วัน ผมนำอัลบั้มรูปเก่า ๆ มาค้นหารูปที่ถ่ายร่วมกับพี่ที่จะเกษียณเพื่อมาจัดทำสมุด Friendship แม้ว่ารูปภาพเหล่านั้นถ่ายจากกล้องถ่ายรูปยุคโกดัก มีสภาพเก่าตามอายุขัย และรูปไม่สามารถตกแต่งสีสันให้สวยงามให้เหมือนกับรูปภาพดิจิทัลในยุคสมัยนี้ แต่ทุกรูปทำให้ผมมีรอยยิ้มคิดถึงความหลังในวันเก่า และคิดถึงปรัชญาการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า 'วะบิ ซะบิ' (Wabi Sabi) ที่พวกเราอาจจะไม่คุ้นหูเท่ากับ อิคิไก (Ikigai) แนวคิดรับรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตและใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า และ คินสึงิ (Kintsugi) การหลุดพ้นจากอาการที่เหงา เศร้าซึม และหมดไฟ ด้วยการเรียนรู้จากการผนึกเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักให้กลับมาเข้าด้วยกันในสภาพที่ดีเหมือนเก่า ซึ่งหากนำปรัชญาทั้งสามมารวมกัน นั่นก็คือ หัวใจของวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในแต่ละวันนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หากพวกเราได้มีโอกาสถามคนญี่ปุ่นถึงความหมายของ วะบิ ซะบิ จะรู้สึกแปลกใจ พวกเขาจะส่ายหัวและหัวเราะออกมาสไตล์ญี่ปุ่น เพราะไม่สามารถให้ความหมายแบบตรง ๆ ได้ ทั้งนี้ วะบิ ซะบิ ประกอบด้วยคำ 2 คำ 'วะบิ (侘)' หมายถึงความไม่สมบูรณ์แบบหรือความเรียบง่ายไม่สวยจนเด่น ส่วนคำว่า 'ซะบิ(寂)' หมายถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่งและความผุพังตามธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เมื่อนำคำทั้งสองมาประกอบกัน วะบิ ซะบิ จึงหมายถึง 'สภาวะที่เป็นจริง ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง' เป็นแนวคิดของศาสนาพุทธนิกายเซนที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 เมื่อท่านจูโค พระในนิกายเซนสอนลูกศิษย์ให้ลองชื่นชมพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวและใช้ถ้วยชาที่ปั้นจากดิน แทนการดื่มชาชมพระจันทร์เต็มดวงและใช้ถ้วยชาชุดสุดหรู ดื่มในห้องหรือระเบียงที่มีการตกแต่งอย่างฟุ่มเฟือย จากนั้นในศตวรรษต่อมา ท่านริคิว ปรมาจารย์ด้านพิธีการชงชาเขียวที่รับใช้โชกุน ได้ออกแบบห้องชงชาเขียวให้มีขนาดกะทัดรัด โดยในวันที่มีพิธีการ ท่านเดินไปเขย่าต้นซากุระให้ดอกซากุระร่วงลงมาบนพื้น ทั้ง ๆ ที่คนสวนได้ตัดแต่งกิ่งไม้ กวาดลาน จนสวนดูเรียบร้อยไร้ที่ติ[1]
กล่าวได้ว่า วะบิ ซะบิ เป็นแนวคิดที่เกิดจากความจริงในโลก 2 ประการคือ 1. ความไม่ถาวร เป็นอนิจจัง (impermanent) ทุกสรรพสิ่งไม่ยั่งยืนถาวร เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และ 2. ความไม่สมบูรณ์แบบ (imperfection) ทุก ๆ สิ่งย่อมมีตำหนิ [2]
ทั้งนี้ วิถีชีวิตแบบ วะบิ ซะบิ ของชาวญี่ปุ่นสะท้อนได้จากศิลปะวัฒนธรรมของพวกเขา ตั้งแต่ถ้วยชารูปทรงบิดเบี้ยวที่ปั้นด้วยมือ มอสสีเขียวครึ้มที่เกาะอยู่บนหิน กำแพงปูนที่สีหลุดจนเห็นอิฐด้านใน ต้นไม้ที่ใบร่วงหมดต้นจนเหลือแต่กิ่งก้านโล้น ๆ หรือทางเดินหินตะปุ่มตะป่ำในสวน การจัดดอกไม้หรืออิเคบานะ (Ikebana) ที่ใช้กิ่งไม้แห้งหรือกิ่งที่มีดอกไม้หรือใบไม้ติดอยู่เพียงไม่กี่ดอก [1] โดยมีความเชื่อว่า ความงดงามไม่ได้สัมผัสด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ โต๊ะอาหารที่มีลอยขูดขีด ไม่สมบูรณ์แบบ จากฝีมือของลูกสมัยวัยซุกซน แต่คุณค่าของโต๊ะตัวนั้นอธิบายได้จากความรู้สึกในใจ
นอกเหนือจากการนำ วะบิ ซะบิ มาใช้ในการดำเนินชีวิตแล้ว แนวคิดนี้ยังสามารถมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ด้วย เช่น การทำงานไม่ต้องรอให้สมบูรณ์แบบเต็มร้อย บางครั้งควรปล่อยงานนั้นออกไปบ้าง เพราะบางครั้ง ความไม่สมบูรณ์แบบคือหนทางสู่ความเป็นเลิศ โดยขอหยิบยกเรื่องของชาวนาคนหนึ่ง ทุกเช้าต้องแบกน้ำ 2 ถังคนละมือจากบ่อบาดาลมาใช้ แม้ว่า เขาจะค้นพบว่าถังน้ำ
ใบหนึ่งจะมีรอยแตก ทำให้น้ำเหลือเพียงครึ่งถังเมื่อถึงบ้านก็ตาม แต่เขาไม่คิดจะเปลี่ยนถังใหม่และทำเช่นนี้อยู่หลายปีจนเพื่อนบ้านทนไม่ไหว เดินเข้าไปถามถึงเหตุผล ชาวนาคนนั้นครุ่นคิด
ก่อนตอบว่า “คุณสังเกตหรือไม่ว่า มีดอกไม้สวย ๆ งอกงามขึ้นมาบนทางเดินฝั่งที่ถังน้ำรั่ว แต่อีกฝั่งหนึ่งไม่มีอะไรเลยนอกจากดินและหิน และผมได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดอกไม้เอาไว้ที่ฝั่งถังน้ำที่รั่ว เพื่อจะได้เก็บดอกไม้มาประดับที่บ้าน” [3] เป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงความไม่สมบูรณ์ที่มีคุณค่าและมักจะถูกมองข้ามไปเสมอ
ผมไม่แน่ใจว่า พวกเราจะเข้าใจความหมายของ วะบิ ซะบิ อย่างลึกซึ้งเหมือนกับชาวญี่ปุ่นหรือไม่ แต่ วะบิ ซะบิ ทำให้เราต้องเรียนรู้อยู่กับโลกที่ไม่มีวันที่จะสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ที่สำคัญ เราต้องขวนขวายหาความงดงามที่ซ่อนอยู่ในความไม่สมบูรณ์ ด้วยความรู้สึกที่มาจากใจ เพื่อให้เราอยู่อย่างมีความสุขและพึงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งที่มา:
[1] Kiji.life. 2022. “วาบิซาบิ” คืออะไรหนอ ? | Kiji.life. [online] Available at: <https://kiji.life/wabisabi/> [Accessed 30 July 2022].
[2] วะบิ-ซะบิ งดงามในความไม่สมบูรณ์ #Readery #TheStandardPodcast #TheStandardco | Readery EP.64 Jan 17,2020 www.youtube.com/watch?v=sZYuLt3_Vlo
[3] โนบูโอะ ซูซูกิ เขียน ศันสนีย์ วรรณางกูร แปล Wabi Sabi วะบิ ซะบิ ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2565 หน้า 131-133