"ถ้าจะทำบอร์ดเกมเดี๋ยวนี้ไม่ได้ดูแค่กติกาว่าสนุกไหม แต่ดูเรื่องตัวเล่น เรื่องกราฟิก เรื่องอุปกรณ์ มีนักวาดหลายคนสร้างชื่อจากการออกแบบบอร์ดเกม คล้ายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องสื่อสารได้”
สวัสดีครับ
ห้อง Common Room ชั้น 1 ภายในอาคารสำนักงานใหญ่ ดูมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งภายหลังเปิดให้พนักงานเข้าในที่ทำงานมากขึ้น นอกจากจะกลายเป็น working space ที่พวกเราสามารถใช้เป็นที่ทำงานส่วนตัวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ระดมสมองภายใต้ social distancing ที่ปกป้องภัยโควิดได้ดีบริเวณหนึ่ง และเมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสลงไปสัมผัสกับห้อง common room พร้อมเห็นป้าย “ชมรม Board & Card Games” ตั้งเด่นสง่าด้านหลังห้อง มีกล่องเกมตั้งอยู่เป็นจำนวนมากแต่ละกล่องมีสีสันสวยงาม ภายในมีอุปกรณ์การเล่นที่ล้วนเชิญชวนให้เล่น แตกต่างจากเกมบันไดงูและเกมเศรษฐีที่เคยเล่นตอนเด็ก
น้องพิชญุตม์ ฤกษ์ศุภสมพล (น้องจอร์จ) ผู้ดูแลชมรมฯ กล่าวว่า ชมรมฯ เพิ่งก่อตั้งช่วงก่อนสถานการณ์โควิดไม่นาน มีสมาชิกประมาณ 30 คน นัดแนะกันมาเล่นในช่วงตอนเย็นหรือขอยืมกลับไปเล่นกับเพื่อนข้างนอก น้องจอร์จเล่าต่อว่า บอร์ดเกมเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยรวมตัวกันตั้งชมรมฯ ในขณะที่ยุคสมัยนั้น มีร้านขายบอร์ดเกมเพียง 1 ร้าน แต่ปัจจุบันสามารถซื้อได้ทั่วไปรวมทั้ง on line โดยมีร้าน Café หลายร้านที่เปิดบริการให้เหล่าบรรดาผู้ชื่นชอบบอร์ดเกมพากันมาเล่นกันภายในร้าน
บอร์ดเกมเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษร นักประวัติศาสตร์ได้ขุดพบหลักฐานเป็นหินสีขนาดเล็กแกะสลักจำนวน 49 ชิ้น ที่ประเทศตุรกี คาดเดาว่าหลักฐานชิ้นนี้น่าจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่เกมที่ถือว่าเก่าแก่มากที่สุดชื่อว่า Senet เป็นที่นิยมเล่นกันของเหล่าฟาโรห์ในยุคอียิปต์โบราณในช่วงระหว่าง 1,550-1,077 ปีก่อนคริสต์ ศักราช1/ เกมเกี่ยวข้องกับโชคชะตาในการเดินทางผ่านภยันตรายต่าง ๆ ไปสู่โลกหลังความตาย ซึ่งบอร์ดเกมมีวิวัฒนาการมาโดยตลอด มีการเขียนกฎกติกาที่ชัดเจนขึ้น
นอกจากเกมหมากรุก หมากฮอส และเกมที่เราคุ้นเคยตั้งแต่เด็กแล้ว ปัจจุบันบอร์ดเกมมีอยู่กว่า 100,000 เกม
น้องจอร์จเสริมว่า บอร์ดเกมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรกเป็นเกมที่ต้องใช้ความคิด เรียกว่า Eurogame หลีกเลี่ยงการวัดด้วยดวง พร้อมกับยกตัวอย่างเกม Ticket to Rideที่ผู้เล่นตั้งสะสมการ์ดเพื่อสร้างรางรถไฟและสถานีรถไฟ จากสถานที่ต้นทางไปให้ถึงปลายทาง โดยต้องวางกลยุทธ์หลีกเลี่ยงเส้นทางของคู่แข่ง ในขณะที่เกม Power Grid เป็นการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า ที่มาจากแหล่งพลังงานตั้งแต่น้ำมัน ถ่านหิน น้ำ และแหล่งพลังงานบริสุทธิ์ ผู้เล่นต้องคิดคำนวณว่าจะใช้แหล่งพลังงานใดเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเมืองต่าง ๆ ได้มากที่สุด
น้องจอร์จกล่าวว่า เกมประเภท Eurogame ผู้ออกแบบจะมีพื้นฐานวิชาด้านตรรกศาสตร์และสถิติ ส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน เช่น เกม Power Grid ออกแบบโดย ฟรีดมานน์ ฟรีซเซอร์ (Friedemann Friese) ชาวเยอรมันที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นจากการย้อมผมสีเขียวเพื่อโยงใยต่อเกมที่เขาออกแบบเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และทุกเกมเริ่มต้นด้วยอักษร “F” เสมอ ในขณะที่เกมประเภทที่สอง เป็นเกมที่อาศัยโชค เรียกว่า Amerigame ส่วนใหญ่จะใช้การทอดลูกเต๋า อย่างเช่นเกมส์ Betrayal at House on The Hill เป็นเกมที่ผู้เล่นเดินเข้าบ้านผีสิง และต้องออกมาจากบ้านนั้นให้ได้ ถือเป็นเกมที่ไม่มีความซับซ้อน กติกาง่าย ๆ และเล่นเพื่อความบันเทิงมากกว่า
อย่างไรก็ดี เกมที่ทำให้บอร์ดเกมได้รับความนิยมไปทั่วโลก คงหนีไม่พ้นเกมชื่อว่า Settlers of Catan (นักบุกเบิกแห่งคาธาน) ปัจจุบันมีการวางจำหน่ายมากกว่า 20 ล้านกล่อง และแปลเป็นภาษาท้องถิ่นกว่า 30 ภาษาทั่วโลก
กติกาของเกมคือ ผู้เล่นรับหน้าที่เป็นผู้บุกเบิกต้องเข้าไปตั้งถิ่นฐานยังเมืองคาธาน เป้าหมายคือ ผู้เล่นต้องแข่งขันขยายอาณาจักร สร้างอารยธรรมของตัวเองให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ให้ได้
เกมนี้ถูกคิดค้นขึ้นโดย เคลาส์ ทอยเบอร์ (Klaus Teuber) นักทันตเทคนิค ชาวเยอรมันในช่วงปี 1980s ทอยเบอร์ใช้เวลาว่างไปกับการออกแบบบอร์ดเกมที่มีความประณีตและซับซ้อนภายในห้องใต้ดินหลังเลิกงานเพื่อผ่อนคลายจากการทำงานที่เคร่งเครียดในแต่ละวัน ปัจจุบันทอยเบอร์อายุ 70 ปี ออกแบบบอร์ดเกมส์เต็มเวลาตั้งแต่ปี 1999 โดยได้รับรางวัล “Spiel des Jahres” สำหรับผู้ออกแบบบอร์ดเกมยอดเยี่ยมถึง 4 ครั้ง นับตั้งแต่มีการให้รางวัลในปี 19782/
บอร์ดเกมเป็นที่นิยมทั้งทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ
คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านการเงิน หลงใหลในบอร์ดเกมจากความบังเอิญที่เข้าไปในร้านบอร์ดเกมร้านหนึ่ง พร้อมกับเพื่อนที่ไม่ชอบเกมมาก่อน หลังจากได้ลองเล่น เธอถามเพื่อนว่า ถ้าให้เล่นอีกจะเล่นไหมคำตอบที่ได้คือ “เล่น”
คุณสฤณีให้สัมภาษณ์ว่า “ส่วนตัวชอบบอร์ดเกมที่มีความหลากหลายของกลยุทธ์ที่เราใช้ได้ หรือความสนุกที่คาดเดาไม่ได้เมื่อเทียบกับเวลาที่ลงไปในการอ่านกฎ หมายความว่า กฎอาจซับซ้อนก็ได้ แต่หลายเกมไม่ได้ซับซ้อน อธิบายจริง ๆ แค่ 15 นาทีก็รู้เรื่องแล้ว แต่พอเล่นจริงมันมีเสน่ห์มีความหลากหลาย คาดเดาไม่ได้ เล่นใหม่ก็ไม่เบื่อ คิดว่านี่คือพัฒนาการอย่างหนึ่งของวงการบอร์ดเกม
เสน่ห์อีกอย่างคือรูปลักษณ์หน้าตา เมื่อก่อนอาจไม่ดึงดูด แต่เดี๋ยวนี้กราฟิกกลายเป็นวงการที่แข่งกันเยอะมาก ถ้าจะทำบอร์ดเกมเดี๋ยวนี้ไม่ได้ดูแค่กติกาว่าสนุกไหม แต่ดูเรื่องตัวเล่น เรื่องกราฟิก เรื่องอุปกรณ์ มีนักวาดหลายคนสร้างชื่อจากการออกแบบบอร์ดเกม คล้ายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องสื่อสารได้” นำมาสู่ผลงานการหนังสือที่เขียนชื่อ “BOARD GAME UNIVERSE จักรวาลกระดานเดียว”3/
น้องจอร์จได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากการให้ความบันเทิงแล้ว เสน่ห์ของการเล่นบอร์ดเกมคือช่องทางให้เราได้สร้างปฏิสัมพันธ์กัน ฝึกฝนการจัดระบบความคิด ความมีตรรกะ และฝึกความจำ ที่เกมในโลกดิจิตอลตอบโจทย์ไม่ได้และให้อารมณ์ที่ไม่เหมือนกัน หากพี่ ๆ เพื่อน ๆ สนใจสามารถนัดเวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานมาเล่นกันได้ที่ห้อง Common Room
อนึ่ง ไม่ทราบว่า บอร์ดเกมที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการเขียนเป็นกติกาไว้พร้อมเล่นคือเกมชื่ออะไรครับ
รณดล นุ่มนนท์
25 กรกฎาคม 2565