"...ด้วยผู้แข่งขันที่เก่งขึ้นทุกปี คำศัพท์ที่นำมาใช้ในการแข่งขันจึงยากขึ้นเรื่อย ๆ จากคำ 'Therapy' ที่ผู้ชนะสะกดถูกในปี 1940 มาเป็นคำว่า 'bougainvillea' และ 'erysipelas' ที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ จาคส์ เบลลีย์ (Jacques Bailly) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากรีกและลาติน แห่งมหาวิทยาลัย Vermont แชมป์ Spelling Bee ในปี 1980 และเป็นกรรมการผู้อ่านคำศัพท์ให้กับผู้เข้าแข่งขันสะกดมาตั้งแต่ปี 2003 จนถูกขนานนามว่า “Bee Master” ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ทุกครั้งที่ผู้เข้าแข่งขันสะกดคำผิด ผมจะสังเกตเห็นถึงสีหน้าบ่งบอกถึงความผิดหวัง แต่ผมกลับมองโลกในแง่ดีว่า เด็กที่เข้าแข่งขันคือเด็กที่มีพรสวรรค์ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ การเรียนรู้ถึงความผิดพลาดย่อมนำมาสู่บทเรียนที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น ในขณะที่ การสะกดคำศัพท์ให้ถูกต้อง เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากการท่องจำ แต่ต้องใช้ตรรกะในการเข้าใจและเชื่อมโยงความเป็นมาของศัพท์แต่ละคำ ที่สำคัญ Spelling Bee ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะไต่ภูเขา ไม่ใช่เพื่อพิชิตยอดเขา การได้เรียนรู้ศัพท์เหล่านั้นได้เปิดโลกทัศน์ให้เด็กได้เรียนรู้และสนใจในสิ่งรอบตัวตลอดเวลา”..."
การแข่งขันสะกดคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 'Scripps National Spelling Bee' ครั้งที่ 94 รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีผู้แข่งขันเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี ผ่านเข้ามาชิงชัยจำนวน 230 คน ผู้ชมทั้งในสนามแข่งขันในกรุงวอชิงตัน ดีซี และที่เฝ้าชมทั่วประเทศผ่านการถ่ายทอดสดต้องลุ้นจนถึงวินาทีสุดท้าย เมื่อเหลือผู้เข้าแข่งขัน
2 คนคือ ฮารินี โลแกน เด็กหญิงวัย 14 ปีจากเมืองซาน อันโตนิโอ รัฐเท็กซัส และวิกราม ราจู วัย 12 ปี จากเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ที่ทั้งคู่สะกดคำสุดท้ายถูกต้อง จนต้องมีการแข่งรอบ 'สะกดตัดเชือก' โดยทั้งสองมีเวลาคนละ 90 วินาที ในการสะกดคำศัพท์ให้ถูกต้องให้มากที่สุด ซึ่งปรากฏว่า วิกราม เป็นคนแรกที่ได้สะกดก่อนและสะกดคำศัพท์ได้ถูกต้อง 15 คำจากการสะกดทั้งหมด 19 คำ ในขณะที่ฮารินี สะกดได้ถูกต้อง 21 คำ จากทั้งหมด 26 คำ ทำให้เธอคว้าแชมป์ได้ในที่สุด หลังจากที่เข้าร่วมแข่งขันเป็นปีที่ 4 ติตต่อกัน [1]
การแข่งขัน Scripps National Spelling Bee ถือเป็นเวทีแข่งขันที่เยาวชนทั่วสหรัฐฯ กว่า 11 ล้านคน ใฝ่ฝันเพื่อเข้ามาแข่งขันในรอบสุดท้าย ด้วยการฟันฝ่าผ่านรอบคัดเลือกระดับท้องถิ่นจนถึงระดับรัฐ ผู้เข้าแข่งขันต้องเดินมาอยู่กลางเวที พร้อมฟังคำศัพท์ที่กรรมการขานอย่างตั้งใจและมีสมาธิ เพื่อที่จะสะกดคำ ๆ นั้นให้ถูกต้อง โดยไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัวอีก ทั้งนี้ การแข่งขัน Spelling Bee มีตำนานที่ยาวนาน ด้วยภาษาอังกฤษมีคำสะกดที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง บางคำการสะกดและการอ่านไม่ตรงกัน ยากที่จะคาดเดา เมื่อเทียบกับภาษาอื่น ในขณะที่รากศัพท์ของภาษาอังกฤษมาจากหลากหลายภาษา มีคำศัพท์มากกว่า 500,000 คำ ที่บรรจุอยู่ในดิกชันนารีกว่า 5,000 หน้า จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้เข้าแข่งขันในการสะกดทุกคำได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ การแข่งขันระดับชาติเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1925 จัดที่เมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี โดยมีผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 9 คน จากจำนวนผู้แข่งขันกว่า 2 ล้านคน ผู้ชนะคือ แฟรงก์ ลุยส์ แนสฮอลเซอร์ (Frank Louis Neuhauser) วัย 11 ขวบ ที่สะกดคำว่า “gladiolus” ถูกต้อง พร้อมรับรางวัลจากประธานาธิบดีแคลวิน คูลิดจ์ (Calvin Coolidge) จำนวน 500 ดอลลาร์ สรอ. แฟรงก์กลับบ้านเยี่ยงวีรบุรุษ มีพาเหรดแห่เขาไปรอบเมือง [2]
สารคดี 'Spellbound' เรื่องราวของเด็ก 8 คนที่กำลังเตรียมตัวเข้าแข่งขัน Spelling Bee ในปี 1999 ทำให้ปรับเปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไป ที่เคยมองเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็น 'เด็กเนิร์ด' มุ่งแต่เรียน ไม่เข้าสังคม กลายเป็นมุมมองถึงความมุมานะ ความเพียรพยายาม เป็นเด็กที่มีสมาธิ และกล้าแสดงออก สารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2002 ทำให้การแข่งขัน Spelling Bee ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เป็นการแข่งขันที่คนอเมริกันให้ความสนใจและติดตามเฝ้าชมทางจอโทรทัศน์มากที่สุด (หากไม่นับรวมการแข่งขันกีฬา) [3]
อย่างไรก็ดี ความโดดเด่นของการแข่งขัน Spelling Bee ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียเป็นผู้คว้าชัย 21 ครั้งในรอบ 23 ปี (รวมถึงฮารินี โลแกน ที่ชนะเลิศในปีนี้) ทั้ง ๆ ที่ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.3 ของประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯซึ่งต้องย้อนไปจนถึงปี 1985 เมื่อ บาลู นาธาราจันท์ (Balu Natarajan) ถือเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนแรกที่ชนะการแข่งขัน Spelling Bee ปัจจุบัน นาธาราจันท์เป็นแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากแม่ที่เคร่งครัดต่อการใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ทั้งการอ่านและคำสะกด ทำให้เขาสนใจที่จะสมัครแข่งขัน มีการเตรียมความพร้อมด้วยการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างเต็มที่ยาวนานกว่า 2 ปี นาธาราจันท์กล่าวว่า “ผมปลาบปลื้มมากที่เป็นผู้ชนะ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่างรู้สึกปิติยินดี และภูมิใจในชัยชนะครั้งนี้ไปด้วย”[4]
ด้วยพื้นฐานที่ต้องการให้ลูกได้เรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ ทำให้พ่อแม่ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียเชื่อว่า นอกจากจะต้องทำคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้สูงกว่าระดับที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นกำหนดไว้แล้ว จะต้องเสริมให้ลูกมีทักษะหรือความสามารถพิเศษโดดเด่นจากผู้สมัครคนอื่น ดังนั้น การได้เข้าแข่งขัน Spelling Bee นอกจากทำให้ชุมชนของพวกเขาได้รับความภูมิใจแล้ว ยังถือเป็นเส้นทางสู่อนาคตของลูกตนเองเพื่อจะได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาที่ต้องการด้วย อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ พาวัลย์ ดินจ์การ์ (Pawan Dhingra) ด้าน U.S. Immigration Studies มหาวิทยาลัย Amherst ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียสนับสนุนให้ลูกเข้าแข่งขัน Spelling Bee ส่วนใหญ่จะมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนอเมริกันทั่วไป จึงสามารถทุ่มสุดตัวเพื่อความสำเร็จของลูก เช่น การส่งลูกไปติวเข้มกับอาจารย์ที่จัดหลักสูตรเพื่อเตรียมตัวแข่งขัน Spelling Bee เป็นการเฉพาะ [5]
ด้วยผู้แข่งขันที่เก่งขึ้นทุกปี คำศัพท์ที่นำมาใช้ในการแข่งขันจึงยากขึ้นเรื่อย ๆ จากคำ 'Therapy' ที่ผู้ชนะสะกดถูกในปี 1940 มาเป็นคำว่า 'bougainvillea' และ 'erysipelas' ที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อน ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ จาคส์ เบลลีย์ (Jacques Bailly) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากรีกและลาติน แห่งมหาวิทยาลัย Vermont แชมป์ Spelling Bee ในปี 1980 และเป็นกรรมการผู้อ่านคำศัพท์ให้กับผู้เข้าแข่งขันสะกดมาตั้งแต่ปี 2003 จนถูกขนานนามว่า “Bee Master” ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ทุกครั้งที่ผู้เข้าแข่งขันสะกดคำผิด ผมจะสังเกตเห็นถึงสีหน้าบ่งบอกถึงความผิดหวัง แต่ผมกลับมองโลกในแง่ดีว่า เด็กที่เข้าแข่งขันคือเด็กที่มีพรสวรรค์ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ การเรียนรู้ถึงความผิดพลาดย่อมนำมาสู่บทเรียนที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น ในขณะที่ การสะกดคำศัพท์ให้ถูกต้อง เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากการท่องจำ แต่ต้องใช้ตรรกะในการเข้าใจและเชื่อมโยงความเป็นมาของศัพท์แต่ละคำ ที่สำคัญ Spelling Bee ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะไต่ภูเขา ไม่ใช่เพื่อพิชิตยอดเขา การได้เรียนรู้ศัพท์เหล่านั้นได้เปิดโลกทัศน์ให้เด็กได้เรียนรู้และสนใจในสิ่งรอบตัวตลอดเวลา” [6]
แหล่งที่มา :
[1] VOA. 2022. รอบชิงแข่งสะกดคำศัพท์ ‘Spelling Bee’ สูสีจนต้องมี “สะกดตัดเชือก”!. [online] Available at: <https://www.voathai.com/a/6602571.html> [Accessed 17 July 2022].
[2] En.wikipedia.org. 2022. Frank Neuhauser - Wikipedia. [online] Available at: <https://en.wikipedia.org/wiki/Frank_Neuhauser> [Accessed 17 July 2022].
[3] Magazine, S. and Crawford, A., 2022. Thirteen Years Later, Did Spellbound Show Us the Power or the Myth of the American Dream?. [online] Smithsonian Magazine. Available at: <https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/thirteen-years-later-did-spellbound-show-us-power-or-myth-american-dream-180955434/> [Accessed 17 July 2022].
[4] 2022. [online] Available at: <https://www.rediff.com/getahead/report/the-first-desi-to-win-the-us-spelling-bee/20210610.htm> [Accessed 17 July 2022].
[5] Encyclopedia Britannica. 2022. How Indian American spelling bee dominance may fuel educational inequities. [online] Available at: <https://www.britannica.com/story/how-indian-american-spelling-bee-dominance-may-fuel-educational-inequities> [Accessed 17 July 2022].
[6] 2022. [online] Available at: <https://www.bustle.com/p/who-is-jacques-bailly-the-spelling-bee-king-is-also-a-movie-star-61265> [Accessed 17 July 2022].