"...จุดเริ่มคอร์รัปชันในการจัดซื้อฯ ของ อปท. แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1) คิดทำกันเอง 2) ถูกกำหนดจากเครือข่ายระดับพื้นที่ และ 3) ถูกกำหนดมาจากส่วนกลางโดยนักการเมืองหรือข้าราชการใหญ่ เช่น คดีสนามฟุตซอล สองข้อหลังคือต้นเหตุที่ทำให้ปรากฏข่าวเนืองๆ ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ชอบเลียนแบบกันเหมือนแฟชั่น เช่น ซุ้มประดับ เสาไฟกินรี เครื่องกรองน้ำ เครื่องออกกำลังกาย ฯลฯ เพราะคนวิ่งประสานงานนอกจากพ่อค้าแล้วยังมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและนักการเมืองระดับชาติด้วย..."
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น..โคตรโกง?
ผมไม่เห็นด้วยหากใครกล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือองค์กรรัฐที่โกงกินและใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่ามากที่สุดของประเทศ เพราะมีเบื้องหลังอีกมากที่เราควรทำความเข้าใจเพื่อสนับสนุนเสาหลักการพัฒนาท้องถิ่นไทยนี้ได้ก้าวต่อไปไม่จมปลักคอร์รัปชัน
ความจริง 6 ประการ ที่จะทำให้เปลี่ยนมุมมอง
1. ปัญหาใหญ่ “ไม่ใช่” เรื่องโกงกิน
เมื่อศึกษาข้อมูลเรื่องร้องเรียนของผู้เดือดร้อนหรือไม่เห็นด้วย รวมทั้งเรื่องที่ถูกตรวจสอบพบเองโดย ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. จนเกิดการชี้มูลความผิดหรือกล่าวโทษ สามารถแยกเป็น 2 ลักษณะคือ 1) เรื่องที่มีคอร์รัปชันจริง และ 2) เรื่องที่เกิดจากข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน ข้อหลังนี้พบมากกว่าข้อแรกจากปัจจัยภายในที่สำคัญคือ
1.1 ขาดความรู้ ความชำนาญ ทักษะ ด้อยประสิทธิภาพของบุคลากร หรือเข้าใจผิด
1.2 ข้อจำกัดของกฎระเบียบราชการ ข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น การตีความหรือมุมมองในการใช้อำนาจที่ต่างกันของ อปท. เอง กับหน่วยตรวจสอบ หรืออ่อนประสบการณ์
ตัวอย่างปัญหา ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เช่น เรื่องการรุกล้ำลำน้ำ เมื่อมีคนไปก่อสร้างหรือทำสิ่งปลูกสร้าง ริมคลอง ริมบึง ริมเขื่อน ชายทะเลในทุกจังหวัดที่มีแหล่งน้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ของ อปท. ก็มักมีผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้บริหารท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจ เอื้อประโยชน์ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม แต่น่าเห็นใจเพราะเรื่องนี้ไปเกี่ยวโยงกับกฎหมายราว 10 ฉบับ และหน่วยงานต่างๆ ราว 20 แห่ง ถ้าเราไปถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องโดยตรงในพื้นที่ อย่างกรมโยธาฯ กรมเจ้าท่า เรื่องการสร้างบ้าน สร้างแพ สร้างโป๊ะก็ยังยากที่จะได้คำตอบชัดเจนว่า ต้องไปขออนุญาตใครมีกฎหมายหรือระเบียบอะไรบ้างที่ต้องปฏิบัติเพราะมันเยอะไปหมด
ดังนั้น การไปชี้ว่า นายกฯ ท้องถิ่น ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หน่วยงานเจ้าของเรื่องยังสับสน แล้วคนของท้องถิ่นจะเชี่ยวชาญทุกอย่างได้อย่างไร
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น เทศบาลตำบลแม่แรม จ.เชียงใหม่ ที่ดินชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีโฉนด เป็นพื้นที่ป่าเกือบทั้งหมด เมื่อทางฝ่ายปกครองหรือทางจังหวัดมีนโยบายให้รื้อถอน ไปถามว่า อปท. จะรื้อถอนบ้านหลังไหนก่อนหลัง ถ้ารื้อเพียงบางหลังก็จะโดนกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พวกที่ไปรุกลำคลองก็เช่นกัน เมื่อจะรื้อถอนหรือบังคับให้ย้าย ท้องถิ่นต้องไปดำเนินการ ถ้าเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่มีเงิน มีคนพร้อม ก็ง่าย แต่ถ้าเป็นท้องถิ่นขนาดเล็ก เขาก็ทำไม่ได้ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติหน้าที่
ที่ราชาเทวะและหนองปรือ ก็โดนร้องเรียนมาก แต่มีบางแง่มุมที่เราควรทำความเข้าใจ เช่น การที่เขามีเงินมากเพราะอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ครั้นจะปรับปรุงคลอง หนองบึง สร้างถนนใหม่ ก็ทำยาก ติดขัดระเบียบของโยธา เจ้าท่า สนามบิน สุดท้ายจึงไปลงที่ทำถนน ปลูกต้นไม้ ซุ้มประดับ เสาไฟกินรี ง่ายกว่าไม่ต้องวิ่งประสานงานใครให้ยุ่งยาก แต่ทำแล้วคุ้มค่าไหม มีโกงกินไหมต้องว่ากันอีกประเด็น
2. คนและเงิน ของ อปท. ทั่วไทย
2.1 มี อปท. ทั้งสิ้น 7,853 แห่ง ในรูปแบบ อบต. อบจ. เทศบาล เมืองพัทยา และ กทม.
2.2 มีนักการเมืองท้องถิ่นราว 1.4 แสนคน มีบุคลากรประเภทต่างๆ ราว 4.4 แสนคน
2.3 มีงบประมาณรวมกันราว 8 แสนล้านบาท แยกเป็นงบจากการจัดเก็บรายได้ในท้องถิ่นเองกว่า 5 แสนล้านบาทและงบอุดหนุนจากรัฐบาลอีกกว่า 2 แสนล้านบาท
2.4 มีงบอุดหนุนจากรัฐบาลต่อปีมากกว่าสองแสนล้านบาท แบ่งเป็น
2.4.1 งบอุดหนุนทั่วไป เช่น รายจ่ายประจำอย่างเบี้ยยังชีพ งบด้านการศึกษา เป็นต้น กับงบที่ได้มาแบบล่ำซำเพื่อนำไปใช้ลงทุนตามที่เห็นสมควร
2.4.2 งบอุดหนุนเฉพาะกิจ ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ พิจารณาจัดสรรเป็นรายโครงการแต่ละปีไป เช่น ทำถนน ประปา ติดตั้งกล้องวงจรปิด
3. กลโกง
จุดเริ่มคอร์รัปชันในการจัดซื้อฯ ของ อปท. แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1) คิดทำกันเอง 2) ถูกกำหนดจากเครือข่ายระดับพื้นที่ และ 3) ถูกกำหนดมาจากส่วนกลางโดยนักการเมืองหรือข้าราชการใหญ่ เช่น คดีสนามฟุตซอล สองข้อหลังคือต้นเหตุที่ทำให้ปรากฏข่าวเนืองๆ ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ชอบเลียนแบบกันเหมือนแฟชั่น เช่น ซุ้มประดับ เสาไฟกินรี เครื่องกรองน้ำ เครื่องออกกำลังกาย ฯลฯ เพราะคนวิ่งประสานงานนอกจากพ่อค้าแล้วยังมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและนักการเมืองระดับชาติด้วย
เรื่องล็อกสเปกและฮั้วประมูล มีทั้งใน อปท. และหน่วยราชการทั่วไป บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนบงการ บางครั้งทำหน้าที่คนกลาง แต่บ่อยครั้งที่เอกชนฮั้วกันเอง การป้องกันและจับผิดจึงยากขึ้นเรื่อยๆขณะที่กรมบัญชีกลางกำลังเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อพัฒนาและแก้ไขในจุดอ่อนระบบจัดซื้อฯ และ e-bidding ที่มีช่องว่างอยู่
การใช้อำนาจหน้าที่โกงกิน เช่น เรียกรับเงินสินบน เงินใต้โต๊ะในการออกใบอนุญาตอนุมัติ การประเมินจัดเก็บภาษี การซื้อขายตำแหน่งและโยกย้ายเจ้าหน้าที่ ฯลฯ หรือกรณี “ผู้นำท้องถิ่น” เรียกรับเงินจากนักธุรกิจเพื่อบิดเบือนการทำประชาพิจารณ์ การทำ EIA/EHIA ในพื้นที่อิทธิพลของตน
4. ใครโกงมากกว่า
ใครโกงมากกว่า?..ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับกระทรวง กรมทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาคและรัฐวิสาหกิจ ข้อนี้ยังชี้ชัดไม่ได้ แต่ อปท. ผูกพันกับการทำมาหากินและความเป็นอยู่ของชุมชนมากกว่า เมื่อดูสถิติการร้องเรียนหรือชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช. และ สตง. จะพบว่า ในแง่ปริมาณ อปท. มีเยอะมาก ขณะที่ความเสียหายเป็นเม็ดเงินต่ำกว่า (อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่มีงบประมาณและผลประโยชน์ในพื้นที่น้อยกว่า) แต่การที่ อปท. เป็นหน่วยปกครองใกล้ชิดประชาชนจึงสร้างความเดือดร้อนและกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง
5. โกงมากแค่ไหน
5.1 จำนวนเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ราวร้อยละ 30 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ อปท. ตามด้วยมหาดไทยร้อยละ 14.37 กระทรวงศึกษาฯ ร้อยละ 11 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติร้อยละ 9.9 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปฏิบัติที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามมาด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง
5.2 ผลการวิจัย เมื่อปี 2561 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ใน อปท. ร้อยละ 22 รู้เห็นว่า ในหน่วยงานของตนมีการทุจริตบางอย่างเกิดขึ้น เช่น เอาของหลวงไปใช้ โกงกินจากการจัดซื้อจัดจ้างการเรียกรับสินบนและโกงหลวงเบิกเงินเกินจริง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล ป.ป.ช. แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ระบุว่า หน่วยราชการในส่วนกลาง ร้อยละ 36 รู้เห็นว่ามีการโกงเช่นกัน
5.3 ในยุคประชาชนตื่นรู้ไม่กลัวใครง่ายๆ ประกอบการที่ อปท. ทั่วประเทศมีงบประมาณ บทบาท อำนาจ มีอิทธิพล มีผู้บริหารที่เป็นนักการเมืองและบุคลากรจำนวนมาก จึงไม่แปลกอะไรที่จะได้ยินเรื่องโกงกินผ่านสื่อโซเชียลและสื่อมวลชนตลอดเวลา
6. ข้อกังวล
นักการเมืองไม่น้อยที่ตั้งใจเข้ามาโกง เช่น นักการเมืองส่วนท้องถิ่นร้อยละ12 มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง (หากนับคนที่มีญาติเป็นรับเหมาฯ คงมากขึ้นอีกหลายเท่า) ทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า “หลายคนอยากเป็นนักการเมืองเพื่อมีอำนาจ แล้วใช้อำนาจไปสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองและพวกพ้อง” แต่นักการเมืองกลุ่มนี้ยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ
ข้อกังวลอื่นๆ เช่น ภาระการวิ่งเต้นของบประมาณจากรัฐบาล แรงกดดันให้ทำเพื่อคะแนนนิยมทางการเมือง อิทธิพลจากนักการเมืองระดับประเทศ การยัดเยียดโครงการจากส่วนกลาง เป็นต้น
ข้อเสนอแนะ
เมื่อโอกาสคอร์รัปชันลดน้อยลง “แรงจูงใจ” ของพวกตั้งใจเข้ามาโกงกินย่อมลดลงด้วย การป้องกันควรเริ่มจากการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมวางแผนดูแลและพัฒนาชุมชนผ่านการจัดทำงบประมาณประจำปีของ อปท. พร้อมกับวางระบบและใช้เทคโนโลยี่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณของ อปท. เป็นไปอย่างโปร่งใส จะช่วยลดปัญหาและความไม่เป็นธรรมได้
ขอเชิญชวนให้ชาว อปท. เข้าไปใช้เว็บไซต์ ACT Ai (https://ACTai.co) ที่รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั่วประเทศย้อนหลังไป 7 ปี กว่า 24 ล้านรายการ มี TOR และผลการจัดซื้อทั้งหมดอยู่ด้วย เช่น ใครที่เคยซื้อรถดับเพลิง สร้างตึก สร้างสะพาน ซื้อที่ไหน ราคาเท่าไร ใครขาย ใครเป็นคู่แข่ง หรือเขียน TOR อย่างไร ตรงนี้เป็นความรู้ใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปค้นหาได้
อย่างไรก็ตาม ผมจะไม่คัดค้านเลยหากใครชี้ว่า อปท. โกงกินมากที่สุด ถ้าหมายถึง กทม. พัทยา สมุทรปราการที่ผ่านๆ มา และพวกที่อยู่ในพื้นที่อิทธิพลของ “บ้านใหญ่” นักการเมือง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)