ทีดีอาร์ไอใช้ Big Data วิเคราะห์ตลาดแรงงาน ชี้ตลาดแรงงานมีทักษะของไทยฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว แต่ต้องการแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาลดลง
ทีมวิจัย 'โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์' ของทีดีอาร์ไอ ได้พัฒนาระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย โดยใช้ Big Data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงานด้วย Big Data เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2561
โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะและทักษะต่างๆ ของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานของนายจ้าง ซึ่งมีความละเอียดสูงและทันสมัย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวะศึกษาต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน ในปัจจุบัน โครงการนี้ใช้ระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลประกาศหางานจาก 14 เว็บไซต์หางานในประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เว็บไซต์หางานระดับประเทศ 8 เว็บไซต์ เว็บไซต์หางานตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ 5 เว็บไซต์ และเว็บไซต์หางานตามกลุ่มภูมิภาค 1 เว็บไซต์
ล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 (1 เมษายน 2565–30 มิถุนายน 2565) พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 159,112 ตำแหน่งงาน เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่าประกาศรับสมัครงานวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน 10,934 ตำแหน่งงาน (6.9%) มัธยมศึกษาปีที่ 6 14,326 ตำแหน่งงาน (9.0%) ปวช. 11,593 ตำแหน่งงาน (7.3%) ปวส. 8,742 ตำแหน่งงาน (5.5%) ปริญญาตรี 54,281 ตำแหน่งงาน (34.1%) สูงกว่าปริญญาตรี 864 ตำแหน่งงาน (0.5%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 58,372 ตำแหน่งงาน (36.7%)
ภาพ 1 จำนวนตำแหน่งงานจำแนกตามวุฒิการศึกษา
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด 88,743 ตำแหน่งงาน (55.8%) ตามด้วยไม่ระบุภูมิภาค 54,932 ตำแหน่งงาน (34.5%) ภาคใต้ 3,542 ตำแหน่งงาน (2.2%) ภาคตะวันออก 3,503 ตำแหน่งงาน (2.2%) ภาคกลาง 3,194 ตำแหน่งงาน (2.0%) ภาคเหนือ 2,930 ตำแหน่งงาน (1.8%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,584 ตำแหน่งงาน (1.0%) และภาคตะวันตก 684 ตำแหน่งงาน (0.4%)
ภาพ 2 จำนวนตำแหน่งงานจำแนกตามภูมิภาค
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพบัญชี/การเงิน มีจำนวนมากที่สุด 27,002 ตำแหน่งงาน (17.0%) ตามด้วย ช่างเทคนิค 25,038 ตำแหน่งงาน (15.7%) การตลาด 24,839 ตำแหน่งงาน (15.6%) ไม่สามารถระบุได้ 16,483 ตำแหน่งงาน (10.4%) ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง 14,934 ตำแหน่งงาน (9.4%) วิศวกร 12,894 ตำแหน่งงาน (8.1%) งานฝ่ายบุคคล 8,734 ตำแหน่งงาน (5.5%) พนักงานขายของ 8,304 ตำแหน่งงาน (5.2%) งานไอที 6,083 ตำแหน่งงาน (3.8%) ตำแหน่งงานอื่นๆ 3,894 ตำแหน่งงาน (2.4%) แม่บ้าน 2,813 ตำแหน่งงาน (1.8%) พนักงานคิดเงิน 2,097 ตำแหน่งงาน (1.3%) นักออกแบบกราฟิก 1,902 ตำแหน่งงาน (1.2%) คนขับรถ 1,894 ตำแหน่งงาน (1.2%) ครู/ครูสอนพิเศษ 1,092 ตำแหน่งงาน (0.7%) นักแปล/ล่าม 784 ตำแหน่งงาน (0.5%) และสถาปนิก 325 ตำแหน่งงาน (0.2%)
ภาพ 3 จำนวนตำแหน่งงานตามกลุ่มอาชีพ
จะเห็นว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งนายจ้างต้องการผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานอีกไม่น้อยที่ไม่ระบุระดับการศึกษาและไม่ระบุภูมิภาค
ภาพ 4 จำนวนตำแหน่งงานจำแนกตามวุฒิการศึกษาและภูมิภาค
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพและภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่ตำแหน่งงานในแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีการกระจายตัวอิงตามสัดส่วนของจำนวนตำแหน่งงานตามภูมิภาค โดยมีเพียงบางกลุ่มอาชีพ ที่มีตำแหน่งงานแค่ในกรุงเทพและปริมณฑล เช่น นักแปล/ล่าม และสถาปนิก
ภาพ 5 จำนวนตำแหน่งงานจำแนกตามกลุ่มอาชีพและภูมิภาค
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและกลุ่มอาชีพ พบว่ากลุ่มอาชีพที่ต้องการทักษะจำเพาะ เช่น กลุ่มงานไอที วิศวกร จะต้องการวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยมีตำแหน่งงานที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาในกลุ่มอาชีพดังกล่าวเป็นสัดส่วนน้อย
ภาพ 6 จำนวนตำแหน่งงานจำแนกตามวุฒิการศึกษาและกลุ่มอาชีพ
เมื่อจำแนกเฉพาะตำแหน่งงานในกลุ่มไอทีจากจำนวน 6,083 ตำแหน่งงาน และวิเคราะห์กลุ่มทักษะที่ต้องการ พบว่า ต้องการทักษะภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับเขียนโปรแกรมมากที่สุด ตามด้วยทักษะการใช้เฟรมเวิร์คของภาษาดังกล่าว และทักษะการใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง
ภาพ 7 จำนวนตำแหน่งงานจำแนกเฉพาะตำแหน่งงานในกลุ่มไอที
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เฉพาะภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับเขียนโปรแกรมที่มีความต้องการ พบว่าภาษา JavaScript เป็นภาษาที่มีความต้องการมากที่สุด ตามด้วยภาษา java และ python โดยในประกาศรับสมัครงาน 1 ตำแหน่ง มักจะระบุภาษาโปรแกรมที่ต้องการมากกว่า 1 ภาษา
ภาพ 8 จำนวนตำแหน่งงานแยกตามภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับเขียนโปรแกรม
นอกเหนือจากการวิเคราะห์ข้อมูลประกาศรับสมัครงานในไตรมาสที่ผ่านมาแล้ว ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด พบข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
1. จำนวนประกาศรับสมัครงานในปี 2565 มีมากกว่าปี 2562 แล้วเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงานมีทักษะโดยรวม 2. อย่างไรก็ตาม จำนวนประกาศรับสมัครงานที่ระบุวุฒิปริญญาตรีมีจำนวนลดลงมาก สวนทางกับประกาศรับสมัครงานที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษา 3. จำนวนประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ตำแหน่งงานในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนน้อยลง 4. งานกลุ่มช่างเทคนิคมีจำนวนมากขึ้นเกือบ 3 เท่า ในขณะที่งานกลุ่มวิศวกรและงานกลุ่มไอทีมีจำนวนลดลง
ภาพ 9 จำนวนตำแหน่งงาน จำแนกตามวุฒิการศึกษา
ภาพ 10 จำนวนตำแหน่งงาน จำแนกตามภูมิภาค
ภาพ 11 จำนวนตำแหน่งงาน จำแนกตามกลุ่มอาชีพ
ทั้งนี้ โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์จะวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส
บทความวิเคราะห์ โดย วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ และ ฐิติรัตน์ สีหราช นักวิจัยทีม 'โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์'