"...นโยบาย 3 Green ที่ทีมนำเสนอนั้นประกอบด้วย 1. Green Thinking เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมพวกเราให้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้สื่อให้เข้าถึงเข้าใจคนในแต่ละวัย รวมทั้งการออกฉลาก 'การเงินสีเขียว' เพื่อให้นักลงทุนทราบว่า สินทรัพย์ที่ตนเองลงทุนเป็นสินทรัพย์สีเขียวหรือไม่ แต่ที่เด่นสุดคือ ข้อเสนอให้ระบบการชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มฟังก์ชัน Green Trackerบนแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดตามพฤติกรรมตนเองในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. Green Funding การใช้ช่องทางการเงินสนับสนุนการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว โดยการตั้งกองทุนสีเขียว และการเพิ่มเกณฑ์ด้าน Green ในการจัดตั้งกองทุน และ 3. Green Database เพื่อพัฒนาศูนย์รวมข้อมูลด้านการปล่อยมลพิษและการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติให้มีการจัดเก็บในมาตรฐานเดียวกัน..."
เช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา ศูนย์การเรียนรู้ฯ กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการจัดงาน BOT Policy Hackathon นับเป็นครั้งแรกที่แบงก์ชาติจัดงานในลักษณะนี้ และด้วยเป็นส่วนหนึ่งของงานครบรอบ 80 ปีแบงก์ชาติ หัวข้อในการแข่งขันจึงเชื่อมโยงกับนโยบาย 3 ด้านที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญคือ ด้านการเงินดิจิทัล ด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้มาจากแนวทางของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน หรือ New Financial Landscape ที่แบงก์ชาติได้ออก Consultation Paper ไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทีมงานไม่ได้คาดหวังว่าจะมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันมากนัก เพราะหัวข้อที่กำหนดเป็นเรื่องค่อนข้างยากและมีความท้าทาย แต่เมื่อถึงวันเปิดรับสมัครปรากฏว่ามีทีมงานเข้าร่วมแข่งขันถึง 145 ทีม และเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ร่วมกัน กระบวนการคัดกรองจึงเข้มข้นมาก เริ่มตั้งแต่การจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้รับทราบโจทย์ที่ชัดเจน ให้จัดทำวิดีโอสั้นพร้อมข้อเสนอที่กระชับตรงประเด็นโดยรอบแรกคัดเลือกเหลือ 12 ทีมในแต่ละหัวข้อ จากนั้น จัดให้แต่ละทีมได้เข้ารับฟังบรรยายและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ก่อนจะคัดเหลือเพียง 4 ทีมในแต่ละหัวข้อ ซึ่งแต่ละทีมจะมีพี่เลี้ยงคอยชี้แนะ เพื่อให้มานำเสนอสดบทเวทีในการแข่งขันรอบตัดสิน
ผมได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เมื่อได้อ่านข้อเสนอของทั้ง 4 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่าหนักใจที่จะต้องตัดสินใจว่าทีมใดจะเป็นทีมชนะเลิศ เพราะทั้ง 4 ทีมถูกคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายจากทีมที่สมัครแข่งขันถึง 54 ทีม เรียกว่าไม่ธรรมดา ในขณะที่ศักยภาพของน้อง ๆ ทั้งในการนำเสนอและการตอบคำถามมีลูกเล่นลูกชนครบเครื่อง มีไหวพริบปฏิภาณแบบตนเองนึกไม่ออกว่า หากให้ย้อนวัยจะมีความสามารถได้เท่ากับน้อง ๆ หรือไม่ แต่ด้วยกฎกติกาที่ต้องเลือกผู้ชนะเลิศเพียงทีมเดียว คณะกรรมการได้ตัดสินใจเลือกทีม 5P Policy Hacker ที่นำเสนอนโยบาย “3 Green ผลักดันระบบนิเวศการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นทีมชนะเลิศ โดยให้เหตุผลว่าสามารถคิดรอบ ตอบได้ และนำเสนอมาตรการที่สามารถเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนได้เด่นกว่า
นโยบาย 3 Green ที่ทีมนำเสนอนั้นประกอบด้วย 1. Green Thinking เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมพวกเราให้ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้สื่อให้เข้าถึงเข้าใจคนในแต่ละวัย รวมทั้งการออกฉลาก “การเงินสีเขียว” เพื่อให้นักลงทุนทราบว่า สินทรัพย์ที่ตนเองลงทุนเป็นสินทรัพย์สีเขียวหรือไม่ แต่ที่เด่นสุดคือ ข้อเสนอให้ระบบการชำระเงินผ่านมือถือเพิ่มฟังก์ชัน Green Tracker บนแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดตามพฤติกรรมตนเองในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. Green Funding การใช้ช่องทางการเงินสนับสนุนการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว โดยการตั้งกองทุนสีเขียว และการเพิ่มเกณฑ์ด้าน Green ในการจัดตั้งกองทุน และ 3. Green Database เพื่อพัฒนาศูนย์รวมข้อมูลด้านการปล่อยมลพิษและการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติให้มีการจัดเก็บในมาตรฐานเดียวกัน
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับน้อง 3 คนจากทั้งหมด 5 คนในทีมงาน ประกอบด้วยน้องขวัญแก้ว กุลธรเธียร (แก้ว) น้องกานต์ชนิต เลิศเพียงธรรม (แพร) และน้องกีชนิกา ภูมิฤทธิกุล (แพรว)[1] ทราบว่า ทีมงานเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องจากชมรม B.E. Case Club คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจนำเสนอความคิดของตนเองในเวทีต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้เคยผ่านเวทีแข่งขัน Hackathon ในเชิงการทำธุรกิจ แต่ไม่เคยเข้าร่วมแข่งขันนำเสนอความเห็นในด้านนโยบายมาก่อน และที่สำคัญ เป็นการแข่งขันที่ต้องนำเสนอบนเวทีสดเป็นครั้งแรก
น้องแก้วเล่าว่า ก่อนจะสมัครเข้าแข่งขัน ทั้ง 5 คนมานั่งสุ่มหัวคิดกันว่าจะสมัครแข่งด้านใดดี แต่ท้ายสุดลงตัวในด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นนโยบายใกล้ตัวที่สุด และเมื่อได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศเห็นความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก น้องแพรบอกว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเงินเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ ต้องควบคู่ไปกับการให้ความรู้ กระตุ้นให้ทุกคนรับทราบถึงภาวะโลกรวน และสำคัญที่สุดต้องสร้างฐานข้อมูลที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้
น้องแพรวเสริมว่า ทีมงานเริ่มต้นศึกษาด้วยการถอดบทเรียนจากนโยบายของธนาคารกลางในต่างประเทศ รวมทั้ง แผนงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ จนนำมาถึงข้อเสนอข้างต้น น้องทั้ง 3 ยอมรับว่านโยบาย 3 Green ที่นำเสนอนี้ ย้งต้องทำการบ้านอีกมากหากจะนำไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะแผนงานต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และที่สำคัญ การต้องให้ทุกภาคส่วนสอดประสานงานกัน เพื่อให้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน น้องแก้วได้ยกตัวอย่างว่า ที่บ้านมีการแยกขยะ แต่เมื่อรถขยะมาเก็บแล้วกลับนำขยะไปรวมกัน จึงรู้สึกว่า โจทย์ที่ได้มากับคำตอบที่ได้รับ ช่างแตกต่างกัน
น้องแพรกล่าวว่า นอกจากจะได้เรียนรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ยังได้ทักษะที่ได้ฝึกฝนคือ การทำงานเป็นทีม ได้นำจุดแข็งของแต่ละคนมาใช้ และได้เรียนรู้ถึงพลังของการสื่อสารที่จะต้องทำให้เข้าถึงผู้ฟังในะยะเวลาที่จำกัด น้องทั้งสามได้ฝากให้ทุกคนมีความหวังต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ ซึ่งต้องเริ่มจากตัวเองก่อน และอยากให้ทุกคนสู้กับเรื่องนี้ พร้อมจะติดตามเสียงสะท้อนนี้ให้ออกมาเป็นนโยบายเชิงประจักษ์
BOT Policy Hackathon ทำให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ ได้รับฟังมุมมองและข้อเสนอที่สร้างสรรค์ และได้รับรู้ถึง passion ของน้อง ๆ ที่ต้องการให้นำไปสู่ทางปฏิบัติ ทั้งนี้ พวกเราสามารถรับฟังตัวแทนจากทีมงานที่ชนะเลิศทั้ง 3 ด้าน มาบอกเล่าถึงข้อเสนอและความประทับใจจากกิจกรรมนี้ได้ในงาน Brown Bag ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เวลา 12.15 น. ณ ห้องภัทรรวมใจ
หมายเหตุ:
[1] นอกเหนือจากน้องทั้ง 3 คน ทีม 5P Policy Hacker ยังประกอบไปด้วย น้องชนกกานต์ เมฆยงค์ (แป้ง) และน้องกฤษฎ์ฐพงศ์ แก้ววิเชียร (เสือ)