"...และจะเรียกว่าเป็น ‘ระบบสัดส่วนผสมแบบไทย ๆ’ อีกสถานหนึ่งก็ไม่น่าจะผิดความจริงเช่นกัน เพราะระบบนี้ที่ต้นตำรับอยู่ที่เยอรมันนั้นจะได้ผลดีต่อเมื่อสัดส่วนจำนวนส.ส.เขตกับส.ส.บัญชีรายชื่อต้องใกล้เคียงกัน หรือเท่ากันเลยยิ่งดี อาทิ 350 : 150 หรือ 300 : 200 หรือดีที่สุดคือ 250 : 250 แต่ของเรากำลังจะเริ่มใช้ระบบนี้โดยเข้าทางประตูหลังด้วยสัดส่วน 400 : 100 ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำนองหัวมังกุท้ายมังกรอย่างไรชอบกล..."
โดยส่วนตัว ไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายหนุนหาร 100 หรือหนุนหาร 500 ในการคำนวณหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะลงมติกันวันนี้ เมื่อสื่อมาสัมภาษณ์ผมก็เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ในมุมมองของผมมันจบไปตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ประเด็นระบบเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2564 แล้ว
ต้องหาร 100 เท่านั้น !
เพราะแทบทุกพรรคการเมืองในขณะนั้นเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่เรียกว่าระบบคู่ขนาน หรือ MMM - Mixed Member Majoritarian System ซึ่งผมลงมติคัดค้านไม่เห็นด้วยตั้งแต่วาระ 1 และชี้ให้เห็นว่าเป็นระบบสมนาคุณพรรคใหญ่
MMM แยกกันชัดเจนระหว่างส.ส.เขต กับส.ส.บัญชีรายชื่อ
การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคแยกออกมาคำนวณเฉพาะในช่องจำนวนเต็ม 100 ของส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดให้มีเท่านั้น
หาร 100 สถานเดียว !
จะไปเอา 500 ซึ่งเป็นจำนวนรวมของส.ส.ทั้ง 2 ระบบมาหารเพื่อหาจำนวนยอดรวมของส.ส.ทั้ง 2 ประเภทที่แต่ละพรรคจะได้รับจัดสรร หรือที่เรียกว่า ‘ส.ส.พึงมี’ แล้วหักจำนวนส.ส.เขตออก เติมส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเข้าไปให้ครบ ตามวิธีการของระบบสัดส่วนผสมหรือระบบเยอรมัน หรือ MMP - Mixed Member Proportional System หาได้ไม่
ประเทศไทยไม่เคยใช้ MMP มาก่อน
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เดิมก็เป็นระบบสัดส่วนผสมแบบบัตรใบเดียว จึงเรียกเสียใหม่ว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA - Mixed Member Apportionment System
MMP กับ MMA หารด้วย 500 เหมือนกัน
มีจุดเด่นหรือหัวใจต่างกันนิดหน่อย
MMP หัวใจคือได้สัดส่วนส.ส.ที่ถูกต้องตามที่ประชาชนเลือก
MMA หัวใจคือทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ
(ส่วน MMM ตามรัฐธรรมนูญ 2540 หัวใจคือการเมืองมีเสถียรภาพ เพราะมีพรรคนัอยพรรคในสภา และพรรคใหญ่มีเสียงมาก)
แต่ทั้ง 2 ระบบที่ใช้ 500 หาร ระบบหนึ่งคือ MMP ไม่เคยใช้ เคยแต่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมาธิการยกร่างฯชุดท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรโณที่สภาปฏิรูปแห่งชาติตีตกเมื่อสิงหาคม 2558 ส่วน MMA ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฝีมือรังสรรค์ของกรรมการร่างฯชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ถูกแก้ไขยกเลิกไปแล้วเมื่อปี 2564
ในการแก้ไขเมื่อปี 2564 มาตรา 91 ใหม่ก็บัญญัติขัอความเฉพาะการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ
ไม่มีการคำนวณหาส.ส.รวมทั้ง 2 ระบบที่แต่ละพรรคจะได้รับ หรือ ‘ส.ส.พึงมี’ แต่ประการใด
“ให้นำคะแนนท่ีแต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกต้ังมารวมกันท้ังประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนท่ีสัมพันธ์กันโดยตรง กับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น”
ขีดเส้นใต้ตรงประโยค ‘เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง…’ นะครับ
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดรายละเอียดจะมาลงลึกว่าหารด้วยอะไร ก็ว่ากันไป แต่ต้องอยู่ในกรอบนี้
โดยถ้อยคำแล้ว แม้จะดูเป็นนามธรรม แต่ก็อ่านได้ว่าต้องกำหนดให้หารด้วย 100
ไม่ใช่หารด้วย 500 เพื่อให้ออกมาเป็นส.ส.รวมทั้ง 2 ระบบของแต่ละพรรค หรือ ‘ส.ส.พึงมี’ ก่อน แล้วค่อยหักเอาส.ส.เขตออก เหลือเท่าไรจึงจะเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าไม่เหลือก็ไม่ได้
ถ้าไปเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอย่างนี้ ก็เหมือนไปยัอนเอามาตรา 91 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกแก้ไขไปแล้วกลับมาใหม่ โดยให้ไปอยู่ในมาตรา 23 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 128
ทำอย่างนี้ ผมไม่อาจปลงใจเห็นด้วย
ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับ MMP หรือกับการหารด้วย 500
ตรงกันข้าม กลับเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ MMP เพราะผมเองก็เป็นคนหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างฯชุดท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณที่พยายามผลักดันระบบนี้แต่ไม่สำเร็จ
แต่การจะสร้างระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือ MMP ควรจะต้องเข้าทางประตูหน้าอย่างสง่าผ่าเผย ด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิใช่หรือ ?
ไม่ใช่พา MMP เข้าทางประตูหลัง โดยนำข้อความจากรัฐธรรมนูญเก่าไปปรับใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายลำดับรองจากรัฐธรรมนูญ !
ถ้าผลโหวตออกมาว่าหาร 500 ชนะ
จะเรียกว่าเป็น Backdoor MMP ก็ไม่น่าจะผิดความจริง !
และจะเรียกว่าเป็น ‘ระบบสัดส่วนผสมแบบไทย ๆ’ อีกสถานหนึ่งก็ไม่น่าจะผิดความจริงเช่นกัน เพราะระบบนี้ที่ต้นตำรับอยู่ที่เยอรมันนั้นจะได้ผลดีต่อเมื่อสัดส่วนจำนวนส.ส.เขตกับส.ส.บัญชีรายชื่อต้องใกล้เคียงกัน หรือเท่ากันเลยยิ่งดี อาทิ 350 : 150 หรือ 300 : 200 หรือดีที่สุดคือ 250 : 250 แต่ของเรากำลังจะเริ่มใช้ระบบนี้โดยเข้าทางประตูหลังด้วยสัดส่วน 400 : 100 ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำนองหัวมังกุท้ายมังกรอย่างไรชอบกล
จะะเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหนก็ตาม ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญตามสมควร ไม่ใช่มาบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในลักษณะที่จะชวนให้เห็นว่าเป็นการย้อนแย้ง
สุดท้ายเรื่องนี้คงไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา