"...อันที่จริงแต่เดิมมา ความเป็น ‘วัตถุออกฤทธิ์’ บัญญัติอยู่ในกฎหมายเฉพาะชื่อพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตั้งแต่ปี 2518 แยกต่างหากจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพิ่งมายกเลิกเมื่อมีการจัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดขึ้นมามีผลบังคับใช้ในปี 2564 นี่เอง..."
ข้อหารือในที่ประชุมวุฒิสภาเช้านี้
การปลดกัญชาออกจากความเป็น ‘ยาเสพติดให้โทษ’ มีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 และได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็น ‘สมุนไพรควบคุม’ ตามพ.ร.บ.ควบคุมและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 แล้ว โดยมีทั้งข้ออนุญาต ขัอยกเว้น และบทลงโทษ ตามนัยที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงขานรับ
ถ้าไม่มีปัญหาใด ๆ ก็แล้วไป ไม่จำตัองพิจารณาขัอหารือเชิงเสนอแนะนี้ต่อ
แต่ถ้าในทางปฏิบัติและในมุมมองทางข้อกฎหมาย ยังคงมีปัญหา ‘ไม่ลงตัว’ อยู่บ้าง ไม่ว่าจะในมิติใด
ทุกปัญหามีทางออก
ปรับแก้หรือปรับเพิ่มมาตรการใหม่ได้ ให้รอบคอบ รัดกุม และสมดุล จะดีหรือไม่
และการปรับแก้หรือปรับเพิ่มนี้ยังคงเป็นเพียงมาตรการอุดช่องโหว่สุญญากาศในช่วงที่ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. … ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ไม่ใช่มาตรการถาวร
หนึ่งในมาตราการที่ขอเสนอให้พิจารณาคือประกาศกำหนดให้กัญชาเป็น ‘วัตถุออกฤทธิ์’ ประเภท 2 หรือ 3 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 30 (2) หรือ (3)
ในประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ นิยามศัพท์ ‘วัตถุออกฤทธิ์’ ไว้ในมาตรา 1 ว่า…
“วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นสิ่งธรรมชาติหรือที่ได้จากธรรมชาติ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นวัตถุสังเคราะห์”
มาตรา 30 (2) นิยามวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้ว่า…
“(2) ประเภท 2 วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง”
จะทำให้มีมาตรการควบคุมผลเสียจากการใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น ตามความจำเป็น ในขณะที่การใช้ทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพไม่กระทบกระเทือนหรือกระทบกระเทือนน้อย
ทั้งยังคงอยู่ในเขตอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุข และหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลัก
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฯมาตรา 23 และมาตรา 30 วรรคสอง
“การระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ว่าวัตถุออกฤทธิ์ชื่อใดอยู่ในประเภทใด และการเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด”
อนึ่ง คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
เลขาธิการ อย. เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฯมาตรา 25
พูดตามตรงว่าข้อเสนอนี้ ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีสาธารณสุขในยุคปัจจุบันอาจจะไม่สะดวกใจที่จะใช้นัก ด้วยเหตุผล 2 ประการ
หนึ่ง เป็นการนำกัญชากลับเข้าไปอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติดฯอีกครั้งหนึ่ง ไม่สามารถตัดจินตภาพของคำว่า ‘ยาเสพติด’ ออกไปจากพืชสมุนไพรชนิดนี้ได้สมบูรณ์
สอง ทำให้กัญชาจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมในระดับที่มีนัยสำคัญ
แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอนี่ไม่ได้เป็นนำกัญชากลับเข้าไปเป็น ‘ยาเสพติดให้โทษ’ ตามมาตรา 29 ที่เพิ่งปลดออกมา หากเป็นการนำเข้าไปเป็น ‘วัตถุออกฤทธิ์’ ตามมาตรา 30
อันที่จริงแต่เดิมมา ความเป็น ‘วัตถุออกฤทธิ์’ บัญญัติอยู่ในกฎหมายเฉพาะชื่อพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตั้งแต่ปี 2518 แยกต่างหากจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพิ่งมายกเลิกเมื่อมีการจัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดขึ้นมามีผลบังคับใช้ในปี 2564 นี่เอง
ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯแบ่งยาเสพติดออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ยาเสพติดให้โทษ
3. วัตถุออกฤทธิ์ และ…
4. สารระเหย
ประเด็นสำคัญที่สังคมยังคงห่วงกังวลคือกัญชาแม้มีคุณอนันต์แต่ก็ยังคงมีโทษมหันต์หากใช้โดยปราศจากการควบคุม ที่สำคัญคือเสพแล้วติดได้ แม้จะติดยากกว่าสุราและบุหรี่
การปลดออกจากความเป็น 'ยาเสพติด' โดยสิ้นเชิงจะเร็วเกินไปและเหมาะสมกับความเป็นจริงของสังคมไทยหรือไม่ ?
นี่คือคำถามที่ได้คำตอบแตกต่างกันออกไปตามความคิดความเชื่อของแต่ละคน
ที่เสนอวันนี้คือทางเลือกที่ไม่ต้องตัดสินว่าคำตอบของผู้ใดถูกหรือผิด
เมื่อปลดกัญชาออกจาก ‘ยาเสพติดให้โทษ’ ไป ก็ไม่ตัองทบทวนแล้ว ไม่ต้องคิดนำกลับเข้ามาอีกแล้ว ถือเป็นด้านปฏิรูปที่จะใช้ประโยชน์ในฐานะสมุนไพรเพื่อการแพทย์และพืชเศรษฐกิจได้
แต่ขอหารือเพื่อชวนคิดว่าการจัดให้กัญชาเข้ามาอยู่ในประเภท ‘วัตถุออกฤทธิ์’ น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายมากขึ้นหรือไม่ ?
เป็นก้าวเดินที่ไม่เร็วเกินไปหรือไม่ ?
เพราะจะอยู่ในกรอบการควบคุมไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด และยังเป็นการคุ้มครองบุคคลบางประเภทอาทิเด็กและเยาวชนได้อย่างไม่มีมุมมองที่แตกต่างด้านกฎหมาย
อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน
ระยะเปลี่ยนผ่านที่จะต้องสร้างดุลระหว่าง ‘เสรี’ กับ ‘ควบคุม’ ไม่ให้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
โดยกระบวนการทั้งหมด ยังคงอยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะ ‘ออกแบบ’ ให้เกิดสมดุลในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านได้
และอันที่จริง ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เป็นกฎหมายชำระใหม่ที่มีบทบัญญัติครอบคลุมปริมณฑลของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีกำหนดไว้ชัดเจนว่าการใดบ้างที่ไม่ตัองขออนุญาต
ซึ่งต่างกับพ.ร.บ.ควบคุมและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เสียด้วยซ้ำที่มาตรา 46 กำหนดให้ต้องขออนุญาตไว้ในเกือบทุกกิจกรรม
ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะไม่มีความขัดแย้งกับร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชงฯที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำเสนอในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ปลดออกจาก ‘ยาเสพติดให้โทษ’ อย่างถาวร แต่ประการใด
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามาตรา 3 ซึ่งเป็นเสมือนแม่บทที่กล่าวไว้ว่า…
“ให้กัญชา กัญชง ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือประมวลกฎหมายยาเสพติด”
เพราะข้อเสนอวันนี้ไม่ได้เสนอให้กัญชากลับไปเป็น ‘ยาเสพติดให้โทษ’ แต่ให้เป็น ‘วัตถุออกฤทธิ์’ เพื่อสร้างสมดุลในระยะเปลี่ยนผ่านเท่านั้น
เมื่อร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงฯเสร็จมีผลบังคับใช้เมื่อไร กัญชาก็จะถูกโยกไปอยู่ในบังคับของกฎหมายใหม่ที่มีขึ้นโดยเฉพาะทันที
จึงหารือเชิงเสนอแนะมาเพื่อรัฐมนตรีสาธารณสุขจะได้นำไปพิจารณา
ที่มา : https://www.facebook.com/100001018909881/posts/5200042046706374/
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา