"...เหตุเกิดเมื่อไม่ทันข้ามคืนดีของวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา กับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้นโยบายการค้ากัญชาเสรี ปรากฏว่าได้มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งจากชุมชนแออัด ซึ่งแอบเสพกัญชาอยู่ในมุมมืดของสวนสาธารณะและบริเวณโดยรอบของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถาบันคึกฤทธิ์ ได้แสดงตนออกมาอย่างเปิดเผย เหิมเกริมและไม่มีความเกรงกลัวต่อไปอีก ด้วยคงเห็นว่าการเสพกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายแล้ว..."
กัญชามีทั้งคุณและโทษ หลังจากการปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด ปัญหาหลายอย่างของกัญชาก็โผล่มา และนี่คือตัวอย่างหนึ่ง
สถาบันคึกฤทธิ์เกิดจากมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554 ตั้งอยู่ในบริเวณส่วนหนึ่งของพื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระชนพรรษา 80 ปี เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ อยู่ในทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพมหานคร
สถาบันนี้เป็นแหล่งรวบรวมผลงานและจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยที่ภายในอาคารได้จัดแสดงนิทรรศการทั้งชีวประวัติและผลงานหลากหลายด้าน และการแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ โดยเฉพาะ
สถาบันคึกฤทธิ์ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทยและให้ความสำคัญยิ่งในการจัดกิจกรรมทั้งหลายเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับผู้คนภายในชุมชนโดยรอบ
ชุมชนทุ่งมหาเมฆเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรเยาวชนอยู่เป็นจำนวนมาก มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 จึงได้เล็งเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการสร้างกิจกรรมเพื่อดึงดูดเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยมาก ทั้งนี้นอกจากการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังจะเป็นการวางรากฐานสร้างระเบียบและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เยาวชนได้มีความรู้ มีความเข้าใจและมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เป็นชาติไทยด้วยเป็นสำคัญ
สถาบันคึกฤทธิ์ เปิดการเรียนการสอนด้านศิลปวัฒนธรรมในทุกสาขา มีโขน ละคร และดนตรีไทย ทั้งการเล่นการร้อง นับตั้งแต่การขับร้องเพลงไทยเดิม การพากษ์โขน ขับเสภา ไปจนถึงการอ่านทำนองเสนาะ ซึ่งมีครูเป็นผู้สอนมากกว่า 50 คน เป็นทั้งผู้ชำนาญการและศิลปินแห่งชาติ จากกรมศิลปากร และสถาบันศึกษาที่สำคัญทางด้านนี้มานับตั้งแต่ปีแรก โดยเฉพาะด้านดนตรีไทยกับนาฎศิลป์ไทย เปิดการสอนแบบที่เรียกว่า ครบวงจร
สถาบันคึกฤทธิ์ คือศูนย์ศิลปะการแสดงของชุมชนทั้งที่อยู่ใกล้ไกล ไม่เพียงแค่เยาวชนในพื้นที่ชุมชนทุ่งมหาเมฆเท่านั้น ยังมีที่มาจากพื้นที่อื่นๆ อีก เช่น จากชุมชนสวนพลู ชุมชนสาทร และบริเวณใกล้เคียง ที่มาสมัครเรียนรวมกันถึง 130 คน ในการเปิดสอนปีแรก เมื่อพ.ศ. 2554 ในจำนวนนี้มี 30 คนที่เป็นเยาวชนจากทุ่งมหาเมฆ อันเป็นชุมชนเป้าหมายของสถาบัน
สถาบันคึกฤทธิ์เปิดการเรียนการสอนในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน และในทุกวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ โดยจะเริ่มรับสมัครในเดือนเมษายนของทุกปี โดยไม่ต้องเสียเงินค่าเรียน และค่าใช้จ่ายใดๆ แถมมีข้าวมื้อกลางวันให้กินฟรีอีกต่างหาก บ่อยครั้งจึงได้เห็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่มารอรับลูกเข้าร่วมวงรับประทานอาหารที่บริการฟรีจากสถาบันคึกฤทธิ์ด้วยอย่างเอร็ดอร่อย
การเรียนการสอนศิลปะการแสดง และวัฒนธรรมไทยของสถาบันคึกฤทธิมาจนถึงปีพ.ศ. 2565 นี้ นับเป็นเวลา 11 ปีแล้ว จากผู้สมัครเรียนเมื่อเริ่มแค่จำนวนร้อยคน มาถึงปัจจุบันมีมากนับเป็นพันคน ในขณะที่ทางสถาบันมีศักยภาพรับได้มากอย่างเต็มที่เพียง 700 คนเท่านั้น
สถาบันคึกฤทธิ์จึงนับได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
จากการประเมินผลโดยครูผู้สอนและเจ้าหน้าที่ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์เท่าที่ผ่านมาสามารถประเมินได้ดังนี้
1. การเรียนอย่างสม่ำเสมอของผู้เรียนเป็นการฝึกระเบียบวินัยความรับผิดชอบในตนเอง
2. การเรียนและการทำงานเป็นกลุ่ม (การแสดง) เป็นการฝึกทักษะการอยู่ร่วม ทำงานร่วมกับผู้อื่น
3. การเรียนนาฏศิลป์ ดนตรี เป็นการเรียนศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ขัดเกลาจิตใจของผู้เรียนให้อ่อนโยน มองโลกในเชิงบวกมากขึ้น จะเห็นได้ชัดเจนจากกลุ่มเด็กจากชุมชนรอบพื้นที่ ที่มีท่าทีอ่อนน้อมขึ้น กิริยามารยาท การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าทักษะด้านการแสดงยังคงต้องปรับปรุงอีกก็ตาม
4. การฝึกโขน ละคร ทำให้ผู้เรียนมีบุคลิกภาพดีขึ้น และในเด็กที่มีสุขภาพอ่อนแอก็แข็งแรงขึ้นเพราะได้ฝึกฝนร่างกายโดยเฉพาะการเต้นโขนเหมือนได้ออกกำลังกายไปด้วยในตัว
5. การเรียนดนตรีช่วยฝึกสมาธิ เช่นในเด็กที่มีสมาธิสั้น เมื่อเรียนไปได้ระยะหนึ่งก็ส่งผลให้เด็กนิ่งขึ้นมีสมาธินานขึ้น
6. เกิดพื้นที่กิจกรรมด้านศิลปะวัฒนธรรม เชิงบูรณาการแก่ชุมชนทุ่งมหาเมฆและใกล้เคียง มีเสียงตอบรับจากชุมชนรอบๆ ดีมากขึ้นเรื่อยๆ
7. การแสดงในแต่ละครั้ง สร้างความภูมิใจในตนเองให้ผู้แสดง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคตของเยาวชน
สถาบันคึกฤทธิ์เริ่มต้นด้วยเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย ในยุคของบัณฑูร ล่ำซำ กับเงินทุนบริจาคของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล พร้อมด้วยเงินทุนสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้รับแรงหนุน ทั้งจากนายแพทย์ประเวศ วะสี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีบทบาทในการร่วมกันก่อตั้งกองทุนส่งเสริมสุขภาพนี้ขึ้น
เพราะทั้งสถาบันและบุคคลที่ได้เอ่ยนามมานี้ ต่างก็มองเห็นความสำคัญในการดำเนินกิจกรรมในงานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ที่จะมีส่วนช่วยให้คนไทยและเยาวชนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้งานของสถาบันคึกฤทธิ์ดำเนินมาด้วยดีโดยตลอด
จนกระทั่งมาถึงยุครัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ที่มีนโยบายตัดงบประมาณของสสส.ลงไปเป็นจำนวนมาก ศูนย์ศิลปะการแสดงของสถาบันคึกฤทธิ์จึงได้ขาดเงินทุนช่วยเหลือจากสสส. โดยฉับพลัน แต่ถึงอย่างนั้น ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ก็ได้เปิดการเรียนการสอนมาโดยมิได้ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด
สถาบันคึกฤทธิ์เพียงแค่ปรับวิธีการให้มีทางอยู่รอด และมีทางเลือกมากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการสอนฟรีโดยทั้งหมด มาเป็นว่าถ้าผู้เรียนคนใดมีผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินดีพอ ทางสถาบันก็จะขอเก็บค่าเล่าเรียนปีละ 3 พันบาท
ส่วนเยาวชนจากชุมชนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุมชนทุ่งมหาเมฆหรือว่าที่มาจากอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ไม่สามารถจะจ่ายค่าเล่าเรียนได้ ก็ยังคงเรียนฟรีทั้งหมด โดยที่ทางสถาบันคึกฤทธิ์จะออกค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิมทุกประการ
ศูนย์ศิลปะการแสดงของสถาบันคึกฤทธิ์ได้เปิดการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาดขึ้น จึงได้ปิดการเรียนการสอนและกิจกรรมทุกอย่างลงเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาโควิดจะคลี่คลายลงไป
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ที่จะเปิดการเรียนการสอนต่อไปนี้ก็ยังนับว่าโชคดีที่ได้เงินทุนช่วยเหลือจากบริษัทปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR โดย นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เล็งเห็นความสำคัญในงานด้านส่งเสริมสนับสนุนและธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทยของสถาบัน
จึงได้ให้เงินสนับสนุนแก่สถาบันปีละ 3 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี ในเบื้องต้น จึงเป็นที่แน่นอนว่า ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์จะสามารถดำเนินการเรียนการสอนไปได้โดยตลอดรอดฝั่ง เพื่ออนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปของเยาวชนไทย
เนื่องจากสถานที่ตั้งของสถาบันคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ อยู่ในบริเวณสวนสาธารณเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระชนมายุ 80 พรรษา ในซอยงามดูพลีทุ่งมหาเมฆที่แวดล้อมไปด้วยชุมชนแออัดนับตั้งแต่ในพื้นที่ไปจรดเขตคลองเตย และติดต่อไปจนถึงสาทร การดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิที่ผ่านมาเป็นระยะเวลารวม 11 ปี จึงได้เป็นที่คุ้นเคย เคารพเชื่อถือ และรู้จักกันดีของผู้คนและเยาวชนในละแวกดังที่กล่าวเป็นอย่างมาก
ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนนอกจากผู้ที่ได้เข้ามาสมัครศึกษาเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมและศิลปะการแสดง แล้วก็ยังมีอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้เข้ามาใช้สอยพื้นที่ในอาณาบริเวณของสถาบันนี้เป็นที่รวมกลุ่มเล่นสนุกหรือว่าพบปะสังสรรค์กัน เช่นที่บริเวณหน้ารูปปั้นของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ตั้งอยู่ที่หน้าอาคารมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 มักจะเป็นที่รวมกลุ่มกันของเยาวชนอยู่เสมอ เด็กส่วนใหญ่ต่างคุ้นเคยต่อสถานที่แห่งนี้และเรียกรูปปั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่สถิตอยู่ตรงนั้นด้วยความเคารพว่า “คุณตา”
อาคารสถานที่ของสถาบันคึกฤทธิ์จึงเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเยาวชนจากพื้นที่ชุมชนทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ใกล้และไกล
จากการประเมินผลอันเป็นผลสำเร็จดังที่ได้ยกมาให้ได้รับรู้ข้างต้นนั้น แม้ว่าจะมีเด็กด้อยโอกาสจากชุมชนจำนวนหนึ่ง ที่ได้เข้ามาเรียนกับสถาบันแห่งนี้จะประสบความสำเร็จจนได้ต่อยอดสามารถที่จะประกอบอาชีพอย่างอื่นได้ และบ้างก็ไปไกลได้ไปศึกษาต่อในสถาบันระดับชาติระดับประเทศ หรือเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี แต่ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีเยาวชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไปไม่ถึงฝัน
สถาบันคึกฤทธิ์มีเด็กเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ต้องหยุดเรียนกลางคัน ด้วยอุปสรรคปัญหาการเลี้ยงชีพของครอบครัวทางบ้าน ซึ่งจะต้องหยุดหรือเลิกเรียนกลับไปช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองทำมาหากิน และนี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาชุมชนแออัดที่ทำให้แก้ไขได้ยาก ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย
ปัญหาใหญ่ของชุมชนแออัดอันเป็นที่ตระหนักกันดี ก็ได้แก่ปัญหาเรื่องอบายมุขและปัญหายาเสพติด แต่ถึงกระนั้นที่สถาบันคึกฤทธิ์แห่งนี้ ก็ไม่เคยได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจจนกระทั่งเมื่อค่ำคืนของวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา
เหตุเกิดเมื่อไม่ทันข้ามคืนดีของวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา กับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้นโยบายการค้ากัญชาเสรี ปรากฏว่าได้มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งจากชุมชนแออัด ซึ่งแอบเสพกัญชาอยู่ในมุมมืดของสวนสาธารณะและบริเวณโดยรอบของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถาบันคึกฤทธิ์ ได้แสดงตนออกมาอย่างเปิดเผย เหิมเกริมและไม่มีความเกรงกลัวต่อไปอีก ด้วยคงเห็นว่าการเสพกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายแล้ว
ไม่เพียงแต่เท่านั้น วัยรุ่นกลุ่มนี้ที่มึนเมากัญชายังได้ออกอาละวาดด้วยอาการคลุ้มคลั่งอย่างปราศจากสติ ถึงกับเข้าไปใช้มีดปาดคอคนขับรถตู้ที่บังเอิญมาพบเข้า ในบริเวณสวนหน้าสถาบันคึกฤทธิ์ ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่เคยรู้จักหรือมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน แต่เคราะห์ยังดีที่ว่าบาดแผลไม่ลึกมาก และมีผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือนำส่งไปโรงพยาบาลได้ทันการณ์ ไม่ถึงกับเสียชีวิต
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้เป็นที่สยดสยองและหวาดกลัวกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนผูบริสุทธิ์ที่ได้เข้ามาใช้สถานที่สวนสาธารณะแห่งนี้ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำในยามเย็นย่ำค่ำคืนที่อากาศปลอดโปร่งโล่งสบายปลอดภัยของสวนสาธารณะแห่งนี้
นี่คือเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น ที่หน้าสถาบันคึกฤทธิ์อันน่าจะเป็นเครื่องสังวรณ์หนึ่งในการเตือนสติ เรื่องปัญหาของกัญชาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ต่อไปในภายหน้า
กัญชาเป็นยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ยิ่งสำหรับในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนที่มีปัญหาและมีจิตใจอ่อนไหว กัญชาอาจชักพาไปผิดที่ผิดทางได้ ถ้าหากขาดการควบคุมที่รอบคอบดีพอ จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องหาทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้กัญชากลายเป็นผลร้ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม และเป็นตัวทำลายอนาคตอันดีของเยาวชนไทยต่อไปในวันข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอฝากเรื่องนี้ไว้กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ท่านผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่ผู้คนกำลังเห่อ และคาดหวังมากว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาทุกเรื่องใน กทม.ให้ดีขึ้นได้ก็ขออย่าทำให้ต้องผิดหวังนะ
เขียนโดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย