"...ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้แทบทั้งหมดของ 3 กิจกรรมยอดนิยมไม่มีใครปฏิบัติตามกฎหมายที่กล่าวมา ซึ่งแปลว่าคนจัดทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยังมีความผิดทางวินัยเพิ่มด้วย..."
'ตีกอล์ฟ ประกวดพระ โยนโบว์ลิ่ง' 3 กิจกรรมหารายได้ยอดนิยมเพราะทำเงินง่ายเป็นกอบเป็นกำ ยิ่งถ้าจัดโดยกลุ่มคนมีสี มียศมีตำแหน่งหรือหน่วยราชการที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่พ่อค้า รายได้จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว แม้ระบุว่าเป็นงานการกุศลแต่เกือบทั้งหมดที่จัดกันนั้นผิดกฎหมายแถมยังเป็นที่ครหาว่า เป็นวิธีติดสินบนที่ถูกกฎหมายเพราะทำให้เกิดบุญคุณระหว่างคนจัดงานกับคนจ่ายเงิน ปูทางเพื่อการวิ่งเต้นเส้นสาย และการเอาอกเอาใจเจ้านายเพื่อการโยกย้ายตำแหน่งของเจ้าหน้าที่
โดยทั่วไปผู้จัดโบว์ลิ่งจะทำรายได้ 3 – 7 แสนบาท การประกวดพระทำรายได้ 3 – 6 ล้านบาท ขณะที่กอล์ฟการกุศลจะมีรายได้ราว 2 - 8 ล้านบาท สถิติสูงสุดที่ทราบคือ 25 ล้านบาทจัดโดยกรมจัดเก็บภาษีแห่งหนึ่ง รายได้หลักจะมาจากสปอนเซอร์ของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ส่วนลดค่าสถานที่จัดงาน รายได้จากการขายบัตรเข้าร่วมงานจะมีราคาแตกต่างกันไป เช่น โบว์ลิ่ง ทีมละ 4,000 บาท ทีมกิตติมศักดิ์ 10,000 บาท การแข่งขันกอล์ฟ ทีมละ 30,000 – 50,000 บาท ทีมกิตติมศักดิ์ 50,000 – 100,000 บาท การประกวดพระมีรายได้จากการรับดูพระองค์ละ 300 - 500 บาท ค่าบัตรเข้าชมงาน เปิดประมูลพระและค่าเช่าแผงขายของ
ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไรฯ และระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการเรี่ยไร กำหนดให้ทุกการเรี่ยไรต้องขออนุญาตก่อน หากเป็นหน่วยงานของรัฐจะทำการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรหรือการรับบริจาคก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน เว้นแต่เพื่อกฐินพระราชทานหรือกิจกรรมที่เป็นนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังเรื่องการรับเงินหรือทรัพย์สิน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. เรื่องการรับทรัพย์สินฯ เกินกว่า 3 พันบาทและการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อเสร็จงานแล้วยังต้องยื่นรายงานต่อ สตง. และต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้ตามเกณฑ์
ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้แทบทั้งหมดของ 3 กิจกรรมยอดนิยมไม่มีใครปฏิบัติตามกฎหมายที่กล่าวมา ซึ่งแปลว่าคนจัดทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยังมีความผิดทางวินัยเพิ่มด้วย
การหาทุนเพื่อการกุศลหรือเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนรวมของสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หน่วยราชการ สมาคม ชมรมต่างๆ เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุน แต่ปัญหามักเกิดขึ้นเมื่องานนั้นเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการหรือบุคคลที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่น และมีการระดมเงินด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม จนเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชันตามมา
ปัญหานี้ยังใกล้เคียงกับพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้เสนอมาตรการแก้ไขเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในภาครัฐ ไม่ใช่หวังริดรอนสิทธิ์หรือตัดประโยชน์ของหน่วยงานหรือสร้างความยุ่งยากแก่ใคร เช่น เงินแปะเจี๊ยะเข้าโรงเรียน เงินค่าคอมมิชชั่นยาในโรงพยาบาล เงินและที่ดินที่มีผู้บริจาคให้วัด เป็นต้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)