"...นอกเหนือจากงานที่แตกต่างจากคนผิวขาวอย่างชัดเจนแล้ว ในช่วงเวลานั้น สังคมอเมริกันยังอยู่ในสภาพการเหยียดผิวอย่างรุนแรง เลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟริกัน อเมริกันอย่างชัดเจน ทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ถูกกีดกันอย่างมาก ตั้งแต่การขึ้นรถประจำทางมาทำงานที่ต้องนั่งในบริเวณท้ายรถที่ถูกกันไว้ ไปจนถึงห้องอาหารและห้องน้ำที่ต้องถูกแยกออกจากห้องน้ำคนผิวขาว ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้..."
ในช่วงเดือนมีนาคม 2014 ดอนนา กิกลิออตติ (Donna Gigliotti) ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังจากเรื่อง Shakespeare in Love และ The Reader ได้รับหนังสือชีวประวัติหญิงเชื้อสายแอฟริกัน อเมริกัน 3 คน ที่ทำงานในองค์การนาซ่า ทำให้ดอนนาไม่ลังเลใจ ตัดสินใจนำเรื่องราวนี้สร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่อง ‘Hidden Figures’ (ทีมเงาอัจฉริยะ) ในปี 2016 ทั้งนี้ ดอนนาได้กล่าวว่า "ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และแปลกใจมากว่า ฉันไม่เคยรับรู้มาก่อน" ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง เป็นภาพยนตร์ทำรายได้สุทธิติด 1 ใน 5 ในปีที่ออกฉาย พร้อมกับถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 [1]
Hidden Figures เป็นภาพยนตร์ถ่ายทอดชีวประวัติของผู้หญิงอเมริกันผิวดำ 3 คน แคทเธอรีน จอห์นสัน (Katherine G. Johnson) โดโรธี วอห์น (Dorothy Vaughan) และ แมรี แจ็กสัน (Mary Jackson) ที่เข้ามาทำงานในองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ตั้งแต่ก่อตั้งในช่วงปี 1960 ยุคสงครามเย็นที่สหรัฐและสหภาพโซเวียต กำลังช่วงชิงกันในทุกเรื่อง ตั้งแต่การแข่งขันหมากรุก ไปจนถึงการแข่งขันทางอวกาศ เพื่อประกาศศักดาความเป็นมหาอำนาจของโลก ซึ่งในช่วงเวลานั้น สหภาพโซเวียตสามารถพัฒนานำหน้าไปได้ก้าวไกลกว่า เมื่อประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นไปโคจรในอวกาศ ตามด้วยการส่ง ยูรี กาการิน ขึ้นไปในอวกาศเป็นคนแรกในปี 1961 ทำให้สหรัฐต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะให้ได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องส่งมนุษย์ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ให้ได้ก่อน ดังนั้น NASA จึงระดมนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกรระดับหัวกะทิของประเทศเข้าทำงานขับเคลื่อนโครงการนี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ NASA จึงจำเป็นต้องหา ‘คนกดเครื่องคิดเลข’ มาช่วยคิดคำนวณตัวเลขด้วยมือ และได้รับผู้หญิงผิวดำจำนวนหนึ่งเข้ามาทำงานนี้ โดยจัดห้องทำงานในตึกที่แยกต่างหากจากตึกบัญชาการ ใช้ชื่อห้องทำงานนี้ว่า ‘Colored Computing Group’ เรียกว่ามีหน้าที่คำนวณตัวเลขต่าง ๆ เพื่อส่งให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักวิศวกรที่ส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาวใช้วิเคราะห์ในห้องบัญชาการที่พวกเธอไม่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส [2]
นอกเหนือจากงานที่แตกต่างจากคนผิวขาวอย่างชัดเจนแล้ว ในช่วงเวลานั้น สังคมอเมริกันยังอยู่ในสภาพการเหยียดผิวอย่างรุนแรง เลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟริกัน อเมริกันอย่างชัดเจน ทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ถูกกีดกันอย่างมาก ตั้งแต่การขึ้นรถประจำทางมาทำงานที่ต้องนั่งในบริเวณท้ายรถที่ถูกกันไว้ ไปจนถึงห้องอาหารและห้องน้ำที่ต้องถูกแยกออกจากห้องน้ำคนผิวขาว ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้
อย่างไรก็ตาม แทนที่ แคทเธอรีน โดโรธี และ แมรี จะยอมรับสภาพดังกล่าว เธอทั้งสามกลับเห็นเป็นโอกาส พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นถึงศักยภาพของพวกเธอ แคทเธอรีนมีพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ ได้ทุนเรียนต่อชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย และจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัย West Virginia ด้วยอายุเพียง 18 ปี เธอฉวยโอกาสที่ได้รับจากที่ NASA สรรหา ‘นักเรขาวิเคราะห์’ มาช่วยคำนวณวิถีวงโคจรของยานอวกาศ เพื่อส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศและพากลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย แต่ท่ามกลางสายตาของเพื่อนร่วมงานที่เป็นชายผิวขาว มีอคติต่อคนผิวสี พวกเขาจึงกีดกันเธอในทุกวิถีทางด้วยการปิดบังข้อมูลบางส่วน เพื่อไม่ให้เธอทำงานได้อย่างราบรื่น แต่ด้วยความมุมานะ และความอัจฉริยะ เธอสามารถคำนวณและถอดโจทย์ได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ยานอวกาศเมอร์คิวรี 7 นำอลัน เชพเพิร์ด (Alan Shepard) ขึ้นไปโคจรรอบโลกสำเร็จ และแม้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาใช้ช่วยในการคำนวณแล้ว แต่ในการโคจรรอบโลกของจอห์น เกล็นน์ (John Glenn) ในปี 1962 เขาได้ขอให้แคทเธอรีนตรวจสอบยืนยันตัวเลขที่ได้รับจากการประมวลจากคอมพิวเตอร์ก่อนการปล่อยจรวด ซึ่งต่อมาแคทเธอรีนมีส่วนในการนำอะพอลโล 11 ลงสู่พื้นดวงจันทร์ และร่วมในโครงการกระสวยอวกาศก่อนเกษียณอายุ ถือเป็นผู้หญิงแอฟริกัน อเมริกันคนแรก ๆ ที่ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ในองค์การ NASA และมีอาคาร NASA ถึง 2 แห่ง ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ
แคทเธอรีนได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในปี 2015 โดยประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวยกย่องเธอว่า ‘แคทเธอรีน ปฏิเสธต่อข้อจำกัดทางสังคมที่มีต่อเพศและเชื้อชาติของเธอ โดยเอื้อมไปให้ถึงฝันที่ตนเองตั้งไว้อย่างไม่มีข้อจำกัด’ (Katherine G. Johnson refused to be limited by society’s expectations of her gender and race while expanding the boundaries of humanity’s reach.) [3]
ในขณะที่ โดโรธี เริ่มต้นจากการทำงานเป็นนักคำนวณธรรมดาคนหนึ่งเช่นกัน แต่เมื่อหัวหน้าแผนก Colored Computing Group ซึ่งเป็นคนผิวขาวลาออกจากงาน โดเรธีในฐานะที่มีอายุมากที่สุดได้รับมอบหมายให้ดูแลพนักงานรุ่นน้องในห้องดังกล่าว โดยที่ NASA ไม่ได้แต่งตั้งเธอเป็นหัวหน้าแผนกแทน เพราะไม่มีนโยบายให้คนผิวดำขึ้นสู่ระดับผู้บริหาร แต่เมื่อเธอทราบว่า NASA กำลังจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM 7090 มาช่วยในการประมวลข้อมูล โคโรธีทราบทันทีว่า ‘คนกดเครื่องคิดเลข’ จะไร้ความหมาย ดังนั้น เธอและพนักงานในห้องดังกล่าว จึงตัดสินใจไปเรียนเขียนโปรแกรม ‘Fortran’ ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้สื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM ซึ่งเมื่อมีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมาใช้งาน จึงไม่แปลกใจที่พนักงานในแผนก Colored Computing Group ได้เปลี่ยนบทบาทและยกระดับหน้าที่จาก ‘คนกดเครื่องคิดเลข’ มาเป็น ‘โปรแกรมเมอร์’ และโคโรธีได้รับการยอมรับในฐานะผู้ริเริ่ม จนได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าแผนก ถือเป็นหญิงผิวดำคนแรกของ NASA ที่ได้รับการแต่งตั้งในระดับผู้บริหาร
สำหรับแมรี เส้นทางชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากแคทเธอรีนและโดโรธีมากนัก เธอใฝ่ฝันเป็นวิศวกรหญิงที่ NASA และแม้ว่าพื้นฐานการศึกษาของเธอจะเพียงพอสำหรับตำแหน่งดังกล่าว แต่ NASA กลับตั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้หญิงในการเข้าทำงานเป็นวิศวกร โดยต้องเข้าเรียนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ชั้นสูงจากมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม ต่างจากผู้ชายที่สามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรภายในได้ แต่สิ่งที่ยากเป็นเท่าตัวสำหรับแมรีคือ มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรดังกล่าวไม่มีนโยบายรับนักศึกษาผิวดำ ซึ่งหากเป็นคนอื่นอาจจะท้อแท้ หมดหวัง และยอมยกธงขาว แต่สำหรับแมรี เธอได้เลือกที่จะต่อสู้ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ได้เข้าเรียนจนในที่สุดศาลได้พิพากษาให้มหาวิทยาลัยดังกล่าวรับเธอเข้าเรียน จนสามารถเรียนจบได้ประกาศนียบัตรตามที่ NASA กำหนด และได้กลายเป็น ‘วิศวกรการบินและนักอวกาศหญิง’ แอฟริกัน อเมริกันคนแรกของ NASA
ชีวประวัติของทั้งสามท่านที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures คงเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา โดยเฉพาะการก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าผมจะได้เขียนถึงบทเรียนที่ได้รับเพิ่มเติมครับ
แหล่งที่มา
[1] En.wikipedia.org. 2022. Hidden Figures - Wikipedia. [online] Available at: <https://en.wikipedia.org/wiki/Hidden_Figures> [Accessed 5 June 2022].
[2] ConNEXT. 2022. ‘Hidden Figures’ หนังตีแผ่ชีวิตของสตรีผิวสี แห่ง NASA ที่สร้างแรงบันดาลใจ
ในการทำงานให้แก่ผู้คนทั่วโลก. [online] Available at: <https://techsauce.co/connext/life-hacks/hidden-figures-the-true-story-inspiring-worklife> [Accessed 5 June 2022].
[3] En.wikipedia.org. 2022. Katherine Johnson - Wikipedia. [online] Available at: <https://en.wikipedia.org/wiki/Katherine_Johnson> [Accessed 5 June 2022].