"...ตามสถิติของ ป.ป.ช. เรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท. ) ถูกเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ “เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” รองลงมาจึงเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง แน่นอนว่าจำนวนมากเป็นการคอร์รัปชันหรือจงใจเลือกปฏิบัติจริง แต่หลายกรณีก็ถูกตัดสินว่าเป็นความผิดฐาน “ประพฤติมิชอบหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่ง “ไม่ใช่” การทุจริตหรือคอร์รัปชันตามนิยามกฎหมาย..."
ได้ฟังเรื่องคอร์รัปชันและผลกระทบจาก “สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ” เช่น การสร้างท่าเทียบเรือในเจ้าพระยาของนักการเมืองชื่อดัง การสร้างกระชังปลา สร้างเรือนแพ ร้านอาหารในแหล่งน้ำทั่วประเทศ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช. )เมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เข้าใจมากขึ้นถึงการแย่งชิงผลประโยชน์และความซับซ้อนยุ่งยากในการแก้ปัญหา
เรื่องที่ได้ฟังยังช่วยให้ผมฉุกคิดขึ้นว่า การที่นักการเมืองท้องถิ่นตกเป็นข่าวโกงกิน โดนร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง. )จำนวนมากนั้น หลายเรื่องไม่ใช่การคอร์รัปชัน.. เพราะอะไรน่ะหรือ?
ตามสถิติของ ป.ป.ช. เรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท. )ถูกเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ “เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” รองลงมาจึงเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง แน่นอนว่าจำนวนมากเป็นการคอร์รัปชันหรือจงใจเลือกปฏิบัติจริง แต่หลายกรณีก็ถูกตัดสินว่าเป็นความผิดฐาน “ประพฤติมิชอบหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่ง “ไม่ใช่” การทุจริตหรือคอร์รัปชันตามนิยามกฎหมาย
ยังมีกรณีอื่นที่เราควรทำความเข้าใจร่วมกัน
1. เรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. มากที่สุดคือ “เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” แต่อะไรเหตุแห่งการร้องเรียนมากกว่ากันระหว่าง ก. เจตนาโกง เรียกรับสินบนแลกกับการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนและพวกพ้อง หรือ ข. ความไม่รู้ ไม่ชำนาญและมีข้อจำกัดอยู่มากของ อปท. ซึ่งข้อนี้ผมขอยกตัวอย่างสองสถานการณ์มาให้พิจารณา
ตัวอย่างแรก อปท. แต่ละแห่งมีภาระให้ต้องบริหารจัดการนับร้อยๆ เรื่องตามกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการอื่นจำนวนมาก บางเรื่องผู้บริหาร อปท. ก็อาจทำไปโดยขาดประสบการณ์และความเข้าใจ เช่น การอนุมัติหรือตรวจสอบการก่อสร้างสิ่งของใดๆ รุกล้ำลงในคลอง บึง ชายหาดและท้องทะเล ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 22 ฉบับกับหน่วยราชการกว่า 10 แห่งที่มีอำนาจและการตีความกฎหมายต่างกัน
ตัวอย่างที่สอง บ่อยครั้งที่ อปท. ต้องไล่รื้อสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมายของประชาชนจำนวนมากในที่ดินสาธารณะ ตามนโยบายรัฐหรือมีหน่วยงานอื่นร้องขอมา แต่ตนเองขาดเงินและบุคลากรหรือต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อนน้อยที่สุดจึงทยอยไล่รื้อถอน กรณีเช่นนี้ผู้ถูกกระทบก่อนมักไปร้องเรียนว่าเลือกปฏิบัติ ละเว้นการปฏิบัติ
2. หลายกรณีไม่ว่าจะพบการทุจริตหรือไม่ก็ตาม แต่การดำเนินการนั้นกลายเป็นความผิดได้หากไม่มีกฎหมายรองรับหรืออาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการทางกฎหมาย เช่น กรณีการถ่ายโอนภารกิจ/อำนาจหน้าที่/ทรัพยากร ระหว่างหน่วยงานที่ยังไม่สมบูรณ์ และการทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นของรัฐหรือ อปท. ในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นต้น
3. การที่เจ้าหน้าที่ถูกสอบสวนหรือตั้งข้อทักท้วง อาจเป็นเพราะมีข้อขัดแย้งหรือมุมมองเกี่ยวกับขอบเขตของอำนาจหน้าที่หรือการตีความตามกฎหมายที่ต่างกัน ระหว่าง อปท. กับหน่วยงานอื่นและ สตง. เช่น การใช้จ่ายเกินความจำเป็น ไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสม ไม่มีอำนาจ ผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น มีบ่อยครั้งที่ปัญหาเกิดจากมาตรฐานการตีความที่ต่างกันของเจ้าหน้าที่ สตง. ในแต่ละพื้นที่
4. บ่อยครั้งที่พบว่า เจ้าหน้าที่ทำผิดแบบแผนราชการโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะมีเจตนาหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น ผู้บริหาร อปท. ต้องวิ่งเต้นของบสนับสนุนจากกระทรวงที่มักมีของกำนัลหรือมีค่าใช้จ่ายพิเศษหรือเกิดการเอื้อประโยชน์ตอบแทนกันภายหลัง
โดยสรุป เพื่อความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐใน อปท. เราคงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงที่จะตกเป็นผู้ต้องหาหรือถูกร้องเรียน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากหน่วยงานภายนอก ข้อจำกัดของศักยภาพ ประสบการณ์และความเข้าใจในกฎระเบียบโดยเฉพาะข้าราชการประจำอย่างปลัด อปท. แต่สำคัญที่สุดคือ เจตนาของแต่ละคนว่าต้องการเข้ามามีตำแหน่งมีอำนาจใน อปท. เพื่ออะไร
ก่อนจบ ขอแสดงความชื่นชมอีกครั้งต่อการประชุมเรื่อง “การพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตตามมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ” โดย ป.ป.ช. งานนี้เป็นการป้องกันปัญหาเชิงรุกที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ดีมากระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและ อปท. ผมเข้าใจว่าเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ป.ป.ช. คงจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับรู้กันครับ
ผู้เขียน: ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
6 มิถุนายน 2565