"...เมื่อพิจารณาว่า “ส่วย” ที่เกิดขึ้นตอบโจทย์เรื่องอะไร สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย “ส่วย” เป็นเครื่องมือ เป็นช่องทาง เป็นเสมือนเครื่องประกันการเข้าถึงพื้นที่ประกอบอาชีพ ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ การจ่าย “ส่วย” กลายเป็นวิถีปฏิบัติ บางพื้นที่มีตัวแทนผู้ค้ารวบรวมเงินมอบให้เจ้าหน้าที่ บางพื้นที่ผู้ค้าบอกว่าจ่ายเงินเป็นค่าปรับมีใบเสร็จบ้าง ไม่มีบ้าง แต่ในความเป็นจริง “จำเลย” เรื่อง “ส่วย” ไม่ได้มีเฉพาะเจ้าหน้าที่เทศกิจ นักการเมืองท้องถิ่นระดับประธานสภากรุงเทพมหานครก็เคยถูกกล่าวหาเรื่องเรียกรับส่วย..."
กระแสหาบเร่แผงลอยในห้วงเวลานี้ ไม่มีอะไรที่ผู้คนให้ความสำคัญเท่ากับเรื่อง “ส่วย” จากรายการ “ตามหาผู้ว่า กทม.” เมื่อค่ำวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ละท่าน มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ส่วย” แต่ละท่านมีเจตนารมณ์ “ชัดเจน” ต่อการ “จัดการ” ปัญหาส่วยให้สิ้นซาก คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเรื่องส่วยถูกบันทึกไว้ และสามารถนำมาอ้างอิงได้ทุกเมื่อ
เมื่อพิจารณาว่า “ส่วย” ที่เกิดขึ้นตอบโจทย์เรื่องอะไร สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย “ส่วย” เป็นเครื่องมือ เป็นช่องทาง เป็นเสมือนเครื่องประกันการเข้าถึงพื้นที่ประกอบอาชีพ ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ การจ่าย “ส่วย” กลายเป็นวิถีปฏิบัติ บางพื้นที่มีตัวแทนผู้ค้ารวบรวมเงินมอบให้เจ้าหน้าที่ บางพื้นที่ผู้ค้าบอกว่าจ่ายเงินเป็นค่าปรับมีใบเสร็จบ้าง ไม่มีบ้าง แต่ในความเป็นจริง “จำเลย” เรื่อง “ส่วย” ไม่ได้มีเฉพาะเจ้าหน้าที่เทศกิจ นักการเมืองท้องถิ่นระดับประธานสภากรุงเทพมหานครก็เคยถูกกล่าวหาเรื่องเรียกรับส่วย และเป็นข่าวชัดเจนในปี 2557 ความซับซ้อนของที่มาและที่ไปของ “ส่วย” ทำให้ “ส่วย” เป็นปัญหาคลาสสิค และอาจจะเป็นอย่างที่คุณอัศวิน พูดในรายการว่า “การจัดการความชั่วทั้งหลายไม่สามารถทำให้หมดได้ในสามวันเจ็ดวัน”
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เขียนบทความในเฟสบุ๊คส่วนตัวเรื่อง ความอ่อนแอในหลักธรรมาภิบาล ของกทม. ตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายและมาตรการของกทม. ที่ปฏิบัติต่อกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าที่ขายของริมถนนที่สะท้อนให้เห็นว่า
“กรุงเทพมหานคร ไม่เคยสนใจพื้นที่ขายของที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และไม่เคยสนใจว่าจะให้ผู้ค้าไปทำมาหากินที่ไหน และพวกเขาต้องประสบกับความทุกข์ยากอย่างไรบ้าง นโยบายหาบเร่ของกทม. สร้างความทุกข์ยาก และความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้แก่ประชาชนในระดับล่างของสังคม คนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วคือผู้ที่อพยพหนีความยากจนจากชนบทมาหางานทำในกทม. นโยบายของ กทม.ในเรื่องนี้ยังส่งผลกระทบต่อการมีงานทำ การสูญเสียโอกาสในชีวิตของแม่ค้า ครอบครัว และที่สำคัญที่สุดคือการพรากโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานของพวกเขาไปด้วย มิใยต้องกล่าวถึงผลกระทบด้านลบต่อการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในภาพรวมของกทม.และต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคของไทย ... นโยบายและประกาศต่างๆของ กทม.ในภาพรวมเรื่องแม่ค้าหาบเร่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของหลักคิด และหลักการเรื่องธรรมาภิบาลด้านความรับผิดรับชอบต่อหน้าที่ เพราะกทม. ไม่สนใจและเพิกเฉยต่อผลกระทบด้านลบจากการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาที่มีต่อกลุ่มแม่ค้าทั่วไปในกทม.”
เห็นได้ว่า เรื่องสำคัญที่เชื่อมโยงกับเรื่อง “ส่วย” โดยตรง คือ พื้นที่ประกอบอาชีพ ซึ่งอาจฟังดูไม่น่าตื่นเต้นเร้าใจเท่า “ส่วย” แต่จริงๆ คือ ต้นทางหนึ่งของปัญหา นักวิชาการด้านผังเมืองท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า พื้นที่ในกรุงเทพมหานครสามารถรองรับผู้ค้ากว่าแสนคนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า พื้นที่ประกอบอาชีพไม่ได้จำกัดที่ทางเท้า ทางเท้าในกรุงเทพมหานครจำนวนไม่น้อยที่มีพื้นที่ตามเกณฑ์ คืออยู่ในถนนที่มีช่องทางจราจรตั้งแต่ 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป และเมื่อจัดวางแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้สัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร กรุงเทพมหานครยังมีถนนสายรอง และมีพื้นที่ว่างจำนวนไม่น้อยที่อยู๋ในความดูแลของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากนำมาจัดสรรอย่างเหมาะสมภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างส่วนราชการและผู้ค้า ปัญหาเรื่องพื้นที่ประกอบอาชีพจะลดลง แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ลักษณะใด ต้องมีการจัดการที่มีวิสัยทัศน์กว้างและไกลกว่าการจัดการในเชิงพื้นที่เท่านั้น นักวิชาการท่านเดียวกันกล่าวว่า “แผงลอยเป็นโอกาสของการจัดการอย่างมืออาชีพ”
พูดแบบฟันธง ปัญหาหาบเร่แผงลอยทั้งเรื่อง “ส่วย” ความไม่เป็นระเบียบทั้งหลาย กรุงเทพมหานครไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ความเป็นจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ความบอบช้ำจากโรคระบาด และมาตรการสาธารณสุข ทำให้การสร้างงาน สร้างอาชีพ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมือง การแก้ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ในสถานการณ์นี้ กรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานในระดับท้องถิ่นจำเป็นต้องมองหาบเร่แผงลอยซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากด้วยจินตภาพใหม่และต่อยอดไปถึงอนาคต ไม่ใช่จัดการแบบค้าขายตามยถากรรม ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องดังที่เห็นๆกันอยู่ รวมทั้งต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชน ผู้ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ในหลายประเทศใช้แนวคิดการกำกับดูแลร่วม (Co-Regulation) เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ กำกับดูแล ติดตาม และการประเมินผล เพื่อลดการเรียกรับผลประโยชน์ และสร้างความชอบธรรมในการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย ป่วยการที่จะมาคุยกันเรื่องแก้ปัญหา “ส่วย” โดยไม่ได้คิดถึงต้นทางของปัญหา และความรับผิดชอบของท้องถิ่นต่อปัญหาปากท้องของประชาชน
ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล นิราทร
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และ ดร. บวร ทรัพย์สิงห์
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย