"...แต่ถ้าจากการสอบสวนพบว่ากระทำความผิดจริง ในส่วนสำนวนคดีก็ดำเนินการไปตามปกติ แต่ตัวเด็กนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2555..."
ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 มีการแก้ไขประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 73 โดยเดิมกฎหมาย กำหนดว่า “เด็กอายุไม่เกิน 10 ปีกระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ” เปลี่ยนเป็น “เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีกระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ”
เหตุที่ปรับเปลี่ยนอายุเนื่องจากเป็นเหตุผลทางการแพทย์ ว่าเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี การเจริญเติบโต ความรู้ผิดชอบยังไม่เต็มที่ และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child -CRC) ที่ประเทศไทยเราลงนามเป็นภาคีตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2535 การที่เด็กกระทำความผิดแล้วนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาแบบเต็มรูปแบบ อาจจะสร้างบาดแผลทางจิตใจ และการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นได้
แต่ไม่ใช่ว่าเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำความผิด ตำรวจจะดำเนินการไม่ได้ การที่ตำรวจไม่รับแจ้งความจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
เมื่อเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีกระทำความผิด มีการร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัวหรือกล่าวโทษในความผิดอาญาแผ่นดิน ตำรวจ หรือ พนักงานสอบสวน ต้องรับแจ้งความ และดำเนินการสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่
หากพนักงานสอบสวน สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว พบว่าไม่ได้กระทำความผิด ต้องสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปยังพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการ สั่งคดีต่อไป
แต่ถ้าจากการสอบสวนพบว่ากระทำความผิดจริง ในส่วนสำนวนคดีก็ดำเนินการไปตามปกติ แต่ตัวเด็กนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2555
โดยพนักงานสอบสวน จะต้องส่งตัวเด็กให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ถ้าพนักงานสอบสวนไม่ทราบว่าจะติดต่อที่ไหน ก็สอบถามไปที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ของตนเองก็ได้
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กได้รับตัวเด็กแล้ว กฎหมายก็ให้อำนาจ ตั้งแต่ เรียกพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กมาพูดคุย ประชุมปรึกษาหารือ หาแนวทางการแก้ไข แต่ถ้าเด็กไม่มีผู้ปกครอง ก็จะเข้าสู่กระบวนการสงเคราะห์ หรือ คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ฯ ต่อไป
รวมถึงสามารถกำหนดมาตรการ ตามกฎหมาย เช่น
1 ระมัดระวังมิให้เด็กเข้าไปในสถานที่หรือท้องที่อันจะจูงใจให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร เช่น ร้านเกมส์อินเตอร์เน็ต
2 ระมัดระวังมิให้เด็กออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่จําเป็นหรือไปกับบิดามารดา ผู้ที่เด็กอาศัยอยู่ หรือผู้ที่รับเด็กไปปกครองดูแล
3 ระมัดระวังมิให้เด็กคบหาสมาคมกับบุคคล หรือคณะบุคคลที่จะชักนําไปในทางเสื่อมเสีย
4 ระมัดระวังมิให้เด็กกระทําการใดอันอาจเป็นเหตุให้เด็กประพฤติเสียหาย เช่น การออกไปแข่งรถ การแต่งเนื้อแต่งตัว การคบเพื่อน
5 จัดให้เด็กได้รับการศึกษาตามสมควรแก่อายุ สติปัญญา และความสนใจของเด็ก
6 จัดให้เด็กกระทํากิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง ด้านคุณธรรม จริยธรรม และบําเพ็ญประโยชน์
ต่อสังคม
7 จัดให้เด็กและหรือครอบครัวเข้ารับการบําบัดฟื้นฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อแก้ไขสาเหตุในการกระทําผิดของเด็ก หลายครั้งการที่เด็กทำตัวไม่ดี ก็เพราะพ่อแม่ผู้ปกครอง เลี้ยงลูกไม่เป็น ตามใจในเรื่องที่ไม่ควรตามใจ บังคับในเรื่องที่ไม่ควรบังคับ โดยเฉพาะโลกยุคบปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เป็นต้น
เด็ก 12 ปี หรือคิดหยาบๆ ก็คือประมาณ ไม่เกินประถม 6 โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เห็นว่าอยู่ในช่วงที่หลอกลวงจูงใจได้ง่าย ร่างกายเติบโตแข็งแรงในระดับที่อาจเป็นผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาได้แล้ว ประเทศไทยตัวเลขสถิติก็ชี้ชัดอยู่ว่าเป็นสังคมสูงอายุ เด็กเกิดใหม่น้อยและอาจจะค่อนข้างด้อยคุณภาพ ถ้าเด็กๆ ของพวกเราได้รับผลกระทบจากอาชญากรรม ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น สังคมจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่เด็กทุกคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565
มีผลตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2565
ปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญา จากเดิม 10 ปี แก้ไขเป็น 12 ปี
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/028/T_0001.PDF
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทําการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2555
http://law.m-society.go.th/law2016/uploads/lawfile/20141024_14_21_55_4394.pdf
วุฒิชัย พุ่มสงวน
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 6
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com