"...ความวิตกกังวลเหล่านี้ หากปล่อยให้เรื้อรังก็จะทำให้กลายเป็น “โรควิตกกังวล” ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจได้ เช่น ปวดศีรษะ เกิดความอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น ซึ่งจากสถิติของกรมสุขภาพจิตพบว่า คนไทยมากกว่าหนึ่งแสนคนป่วยด้วยโรควิตกกังวล และผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า..."
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเครียดและความวิตกกังวล (anxiety) เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อทราบว่าได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 จะเริ่มระส่ำระสาย จินตนาการไปต่าง ๆ นานา ตั้งแต่เริ่มคิดว่าเจ็บคอ (ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าไม่มีอาการใด ๆ)
ไปจนถึงค้นหาโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อเตรียมการรักษา จากตระหนักจึงกลายเป็นตระหนก ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เรียกว่าไม่ได้เจ็บปวดเพราะโควิด-19 แต่กลายเป็นสุขภาพจิตที่ถูกบั่นทอน
ความวิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา กังวลไปได้ทุกเรื่องทั้งเรื่องงาน ครอบครัว คนใกล้ชิด สุขภาพ ไปจนถึงการเรียนเพราะคนเรามักมองเหตุการณ์ไปข้างหน้าพร้อมตั้งคำถามให้กับตัวเองเสมอ ๆ แบบยังหาคำตอบไม่ได้ “ถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น?” ส่วนใหญ่ก็จะมโนไปไกลจนสรุปกลายเป็นเรื่องร้าย ๆ และพอนำความกังวลทุกอย่างมารวมกัน แยกแยะไม่ออก เหมือนกับการทำสมูทตี้ที่นำผลไม้ทุกอย่างมาปั่นรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก (panic) เพราะยิ่งพยายามแก้ไขก็ยิ่งจะยุ่งเหยิง เหมือนกับความพยายามแกะปมสายหูฟังที่พันกัน ยิ่งแกะเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้สายพัวพันมากขึ้นเท่านั้น[1]
ในด้านจิตวิทยาได้ให้ความหมายของความวิตกกังวลไว้ว่า เป็นความไม่สบายใจ ความกระวนกระวายใจ ความหวาดหวั่นพรั่นพรึง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับความคาดหวังหรือความคาดหมายถึงการที่จะได้ผลไม่ดีในอนาคต อาจนำไปสู่โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต สาเหตุเกิดจากพันธุกรรม สภาพแวดล้อมภายใน เช่น พื้นฐานทางครอบครัว ความเจ็บป่วยทางกายและใจ ไปจนถึงปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์โรคติดต่อ เป็นต้น[2]
นอกเหนือจากความวิตกกังวลทั่วไปแบบข้างต้นแล้ว ความวิตกกังวลยังมีลักษณะอื่น ๆ ได้แก่
1. โรคตื่นตระหนกเกินเหตุ (panic disorder) มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยก็กลับมีความกังวลเป็นทวีคูณ เช่น กลัวว่าจะเป็นโรคร้าย 2. โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) ความวิตกกังวลที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าต้องถูกจ้องมอง ทำอะไรที่น่าอาย ต้องคอยหลบ รู้สึกประหม่า และมักคิดในแง่ลบว่าคนอื่นจะนินทาลับหลัง 3. โรคความวิตกกังวลแบบเจาะจง (phobia) เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ เป็นต้น 4. ความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมา (Obsessive Compulsive Disorder) ทำให้เกิดพฤติกรรม ที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบซ้ำ ๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ เช่น คิดว่าลืมปิดไฟ ลืมล็อคประตูบ้าน ทำให้ต้องเดินกลับไปตรวจสอบอีกครั้งให้แน่ใจ[3]
ความวิตกกังวลเหล่านี้ หากปล่อยให้เรื้อรังก็จะทำให้กลายเป็น “โรควิตกกังวล” ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจได้ เช่น ปวดศีรษะ เกิดความอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น ซึ่งจากสถิติของกรมสุขภาพจิตพบว่า คนไทยมากกว่าหนึ่งแสนคนป่วยด้วยโรควิตกกังวล และผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า
เราจะจัดการกับความวิตกกังวลได้อย่างไร คงไม่ได้มียาวิเศษที่จะรักษาได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การเหยียบเบรกไม่ให้ความวิตกกังวลไปสร้างจินตนาการไปมากกว่านี้ คือต้องหาจุดที่จะเปลี่ยนมุมมองความคิดให้ได้ วิธีการง่าย ๆ คือการหายใจลึก ๆ เพื่อตั้งสติชั่วขณะ พร้อมตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราวิตกกังวลนี้
จะเกิดขึ้นจริงหรือ และถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้น เราก็เคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว สามารถจัดการได้ และผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งจะทำให้เราปล่อยวาง กลับมาอยู่ในโลกปัจจุบัน ไม่เตลิดเปิดเปิงไปมากกว่านี้ เหมือนกับการแก้ปมสายหูฟัง ถ้าเราตั้งสติได้ เราก็จะทราบว่าจะแก้ปมได้อย่างไร นอกจากนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หรือหางานอดิเรกทำ ก็สามารถลดความวิตกกังวลได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลได้ แต่จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส การมีความวิตกกังวลในระดับหนึ่งที่ควบคุมได้ จะช่วยกระตุ้นให้เราทำงานได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกดดันให้เราต้องเข้าสังคม เข้าหาผู้อื่น พร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้[2]
แหล่งที่มา:
[1] ดุจดาว วัฒนปกรณ์ และกันตพร สวนศิลป์พงศ์ ปิดบ่อความกังวล จัดการความวิตกกังวลกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง | R U OK EP.235 Jun 18, 2021 www.youtube.com/watch?v=i5BphbrLoLs
[2] ตฏิลา จำปาวัลย์ ความวิตกกังวลตามสถานการณ์ (State Anxiety) เผยแพร่ 30 มิถุนายน 2561 file:///C:/Users/ronadoln/Downloads/sbinsri01,+%7B$userGroup%7D,+2%20(2).pdf
[3] Hospital, P., 2022. 5 โรควิตกกังวล ที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน. [online] Paolohospital.com. Available at: https://www.paolohospital.com [Accessed 1 May 2022].
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com