"...ทั้งข้ออ้างและเหตุผลที่รู้กันเหล่านี้ คนไทยจึงเห็นนักการเมืองและข้าราชการจำนวนมาก ละเลยที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ แต่เลือกที่จะทำโครงการใหม่ๆ ให้ได้ใช้เงิน ใช้อำนาจ ได้ผลงาน ได้หน้า โดยไม่สนใจว่าทำแล้วคุ้มค่าเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงแค่ไหน เพราะยุคนี้อะไรที่ล้มเหลวหรือมีคอร์รัปชันพวกตนก็ไม่ต้องรับผิดชอบ..."
1 ใน 3 ของเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นว่ามี “คอร์รัปชันบางอย่างในหน่วยงานของตน” ดังนั้นคนมีอำนาจตั้งแต่ รัฐมนตรี อธิบดี ผู้ว่าฯ ลงไปถึง นายก อบต. ฯลฯ ย่อมต้องรู้เรื่องเหล่านี้เช่นกัน แต่ทำไมพวกเขาเลือกที่จะนิ่งเฉยหรือแสร้งทำไม่รู้ ทั้งที่ตนเองมีอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องแก้ไข - ป้องกัน
มี 8 เหตุผลเป็นอย่างน้อยที่อธิบายว่า ทำไม!!!
1. ไม่อยากยุ่ง เกรงใจพรรคพวก หรือกลัวมีเรื่องเป็นภาระแก่ตนเองในวันข้างหน้า
2. ตัวเองกับพรรคพวกกำลังมีโอกาสและมีผลประโยชน์บางอย่างอยู่
3. ไปขัดผลประโยชน์คนอื่นมาก เดี๋ยวงานไม่เดิน ลูกน้องจะเกียร์ว่าง
4. ทำไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่ไม่เอาด้วย!
5. ไม่รู้จะทำอย่างไร มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว และตนเองคงอยู่ในตำแหน่งไม่นาน
6. กลัวเรื่องบานปลาย ยุ่งยาก เสียชื่อเสียง เจออะไรก็ไกล่เกลี่ยกันไปเงียบๆ ดีกว่า
7. เพิ่งเข้ามาใหม่ยังไม่เข้าใจวงจรอุบาทว์ในหน่วยงาน ไม่เข้าใจที่มาที่ไปของผลประโยชน์ ไม่รู้กลไกของรัฐมากพอ เลยไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไรหรือเริ่มตรงไหน
8. ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ป.ป.ช. สตง. มาจัดการ
ทั้งข้ออ้างและเหตุผลที่รู้กันเหล่านี้ คนไทยจึงเห็นนักการเมืองและข้าราชการจำนวนมาก ละเลยที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ แต่เลือกที่จะทำโครงการใหม่ๆ ให้ได้ใช้เงิน ใช้อำนาจ ได้ผลงาน ได้หน้า โดยไม่สนใจว่าทำแล้วคุ้มค่าเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงแค่ไหน เพราะยุคนี้อะไรที่ล้มเหลวหรือมีคอร์รัปชันพวกตนก็ไม่ต้องรับผิดชอบ
แล้วท่านคิดว่า การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. รอบนี้ส่วนใหญ่ไม่กล้าประกาศนโยบายปราบคอร์รัปชัน เป็นเพราะอะไรครับ!!
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)