"...อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มิตรภาพของโลกออนไลน์มีความเปราะบางคือ การไม่ได้พบหน้ากันตัวต่อตัว(Face-to-face contact) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารมณ์ของความผูกพัน(Emotional attachment) ระหว่างเพื่อนหรือแม้แต่ครอบครัว เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าหลังจากสองเดือนหากไม่มีการรวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัว ความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัวจะลดลงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในทำนองเดียวกันหากไม่มีการพบกันระหว่างเพื่อนภายในสองเดือนแรก ความใกล้ชิดระหว่างเพื่อนจะลดลงในอัตราที่เท่าๆกับการลดลงของความใกล้ชิดของครอบครัวและหลังจากนั้นมิตรภาพจะเข้าสู่สภาวะเย็นชาและหากไม่มีการพบหน้ากันภายใน 150 วัน ความรู้สึกใกล้ชิดจะลดลงมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์..."
แม้ว่าศาสตราจารย์ โรบิน ดันบาร์ เจ้าของทฤษฎี ตัวเลขของดันบาร์(Dunbar’s Number) ได้พิสูจน์ว่า จำนวนเพื่อนที่จะคงความสัมพันธ์กันอยู่ได้ของมนุษย์จำกัดอยู่ประมาณ 150 คนเท่านั้น แต่การแสวงหาเพื่อนของมนุษย์อยู่ตลอดเวลาทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการไขว่คว้าหาความเป็นเพื่อนกับบุคคลอื่นอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือในโลกเสมือนก็ตาม
โลกใบเล็กของมนุษย์
ถึงแม้โลกนี้จะกว้างใหญ่ไพศาลและมีประชากรเกือบ 8,000 ล้านคน การไปมาหาสู่กับใครสักคนที่อยู่ไกลออกไปด้วยยานพาหนะในปัจจุบันอาจใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวหรือหลายสิบชั่วโมง แต่ไม่น่าเชื่อว่าการจะการเข้าไปรู้จักหรือเข้าถึงใครสักคนในโลกนี้ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกจะติดต่อผ่านบุคคลที่เป็นตัวกลางแค่ 5 คน(ไม่นับคนต้นทางและปลายทาง)หรืออาจพูดได้ว่าเราอยู่ห่างจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งในโลกนี้เพียง 6 ช่วงการติดต่อเท่านั้นเอง(Six degrees of separation) แสดงให้เห็นความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ที่ทำให้โอกาสในการติดต่อถึงกันของมนุษย์อยู่ใกล้กันนิดเดียวในขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก
จากการศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เผยแพร่ในระยะหลังๆพบว่าจำนวนช่วงการติดต่อของมนุษย์ที่เคยอยู่ที่ 6 ช่วงการติดต่อกลับลดลงเรื่องๆจนเหลือประมาณ 5 ช่วงเท่านั้นและกำลังลดลงเรื่อยๆด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารระหว่างผู้ใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย เช่น จำนวนช่วงการติดต่อของบุคคลบน Facebook เมื่อปี 2012 อยู่ที่ 3.74 แต่ในปี 2016 กลับลดลงเหลือเพียง 3.57 เท่านั้นเอง ความเป็นสัตว์ที่ชอบสังคมจึงทำให้มนุษย์อยู่ในโลกที่แคบลงๆ
โลกของโซเชียลมีเดีย
เมื่อปี 2560 ประชากรของโลกราว 2,500 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่กับโซเชียลมีเดีย เพียง 3 ปีต่อมาในปี 2563 ผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านคนและในปี 2565 จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเป็น 4,620 ล้านคน หรือราว 58.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ในขณะที่การสื่อสารแบบอื่นเช่น แฟกซ์ และ อีเมล์ หรือแม้แต่โทรศัพท์ มีแนวโน้มลดลงหรือไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ตลอดชีวิตของคนเราตั้งแต่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเฉลี่ยมนุษย์ใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดีย ราว 5 ปี 4 เดือน ซึ่ง
- มากกว่าเวลาที่ใช้ในการกิน ดื่ม แต่งตัว และการเข้าสังคมในชีวิตจริงของมนุษย์
- มากพอที่จะสามารถเดินทางไปกลับระหว่างดวงจันทร์กับโลก 32 ครั้ง
- มากพอที่จะเดินบนกำแพงเมืองจีนได้ 3.5 ครั้ง
- มากพอที่จะวิ่งมาราธอนได้ 10,000 ครั้ง
- มากพอที่จะปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ 32 ครั้ง
หากจะนับเทียบกับชีวิตมนุษย์ เราใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียราว 1 ใน 14 ของเวลาทั้งหมดในชีวิตของเรา โซเชียลมีเดียจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่แยกกันไม่ออก เพราะมนุษย์คงไม่อยากหันกลับไปพึ่งพาสื่อแบบเดิมอีกต่อไปเมื่อโซเชียลมีเดียมอบสิ่งที่สะดวกสบายกว่าให้กับมนุษย์
โทรศัพท์กับโซเชียลมีเดีย
เมื่อโทรศัพท์ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ๆผู้คนยังมีความฉงนว่าโทรศัพท์จะช่วยให้การติดต่อสื่อสารดีกว่าโทรเลขหรือจดหมายได้อย่างไร จนมีคำพูดตลกๆในยุคนั้นว่า “สิ่งที่ขายยากที่สุดในโลกคือโทรศัพท์เครื่องแรก” แต่ในภายหลังมีการพิสูจน์แล้วว่าโทรศัพท์มีประโยชน์ในการสื่อสารมากกว่าเครื่องมือแบบเดิม โทรศัพท์จึงกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็นของมนุษย์จนถึงทุกวันนี้
ผู้คนในวงการโทรศัพท์และโทรคมนาคมรู้กันดีว่า คุณค่าของโทรศัพท์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เพิ่มขึ้นตามกฎของเม็ทคาล์ฟ (Metcalfe's law) ซึ่งกล่าวไว้ว่า คุณค่าของโครงข่ายโทรศัพท์จะแปรผันตามจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ที่มีการเชื่อมต่อกันยกกำลังสอง ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อของปฏิกิริยาโครงข่าย(Network effect)
กฎของเม็ทคาล์ฟยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอเมื่อมาถึงยุคของโซเชียลมีเดีย เพราะเมื่อใดก็ตามที่จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นคุณค่าของโซเชียลมีเดียจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไม่ต่างจากโครงข่ายโทรศัพท์ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า Facebook ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 1,900 ล้านคนต่อวันทั่วโลกจะสร้างคุณค่าให้กับ Facebook มากมายขนาดไหน( แม้ว่าในภายหลังจะมีผู้โต้แย้งว่ากฎของเม็ทคาล์ฟไม่เป็นความจริงก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถหักล้างคำอธิบายของเม็ทคาล์ฟได้)และจึงไม่แปลกที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มจะเดินตามกฎของเม็ทคาล์ฟและกฎของโซเชียลมีเดียอีกสองข้ออย่างเคร่งครัดจนกลายเป็นกฎทอง 3 ข้อของโซเชียลมีเดียซึ่งได้แก่
กฎข้อที่ 1 ต้องทำให้แพลตฟอร์มของตัวเองมีผู้ใช้มากที่สุด
กฎข้อที่ 2 อย่าปล่อยให้ความสนใจของผู้คนหลุดลอยไปจากแพลตฟอร์ม
กฎข้อที่ 3 ให้ผลตอบแทนทางการเงินแก่ผู้สร้างกระแสความสนใจบนแพลตฟอร์มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การเดินตามกฎ 3 ข้อ ของโซเชียลมีเดียจึงทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มมากที่สุดและนานที่สุดด้วยวิธีต่างๆนานา เช่น ลงทะเบียนเข้าใช้ง่ายแต่เลิกใช้ยาก ส่งข้อความทักทายหรือเตือนเมื่อเราไม่ค่อยมีกิจกรรมบนแพลตฟอร์มหรือแม้แต่ส่งข้อความมาเตือนเราว่าใครบางคนยังคิดถึงเราอยู่เสมอ เป็นต้น
สิ่งที่โซเชียลมีเดียต้องกระทำอยู่เป็นนิจคือการหาเพื่อนให้กับเราทั้งเพื่อนที่มีรสนิยมเดียวกัน เพื่อนเพศเดียวกันหรือเพื่อนต่างเพศ เพื่อนที่เป็นกลุ่มและเพื่อนเฉพาะตัว รวมทั้งเพิ่มเติมคุณสมบัติต่างๆอยู่ตลอดเวลา เช่น Like Follow Share Group Check-in และ PYMK( People You May Know) ฯลฯ รวมทั้งป้อนข้อความ/ภาพ ที่เราอยากเห็นอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อกระตุ้นความสนใจและเพื่อให้ผู้คนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากที่สุด จนดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามาบงการชีวิตสั่งให้เราหันซ้ายหันขวาตามคำสั่งของอัลกอริทึม ในขณะที่โทรศัพท์ไม่มีความสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้
โดพามีน สูตรไม่ลับของโซเชียลมีเดีย
นักเทคโนโลยีสมัยใหม่รู้ดีว่า ยิ่งทำให้ผู้คนเสพติดและซึมซับในเทคโนโลยีมากเท่าใด ยิ่งเพิ่มเงินในกระเป๋าของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น ครั้งหนึ่งอดีตผู้บริหาร และ อดีตประธานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ยักษ์ใหญ่ เคยยอมรับว่า เขาใช้ ความอ่อนไหว ทางจิตวิทยาของมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้าง ความเติบโต ความผูกพัน และผลกำไร ให้กับบริษัท เขาเปิดเผยว่าความลับที่เขาทำให้ผู้คนใช้เวลาและจดจ่ออยู่กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มากที่สุดคือ การกระตุ้นให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ได้รับ สารโดพามีน(Dopamine) ซึ่งเป็น สารที่ทำให้ให้มนุษย์รู้สึกได้รับความตื่นเต้นและพึงพอใจ
การกระตุ้นให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีการหลั่งสารโดพามีนเล็กน้อยในสมองด้วยสัญญาณบางอย่างจากโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียคือความรู้สึกถึงการได้รับรางวัล จนทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมต้องหันเข้าหาโทรศัพท์เกือบตลอดเวลาอย่างไร้เหตุผล เพราะมีความคาดหวังจากรางวัลที่โทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียจะมอบให้ในครั้งต่อๆไปนั่นเอง ลูกเล่นทางจิตวิทยาที่บริษัทเหล่านี้นำมาใช้ทำให้อดีตนักลงทุนและอดีตผู้บริหารโซเชียลมีเดียบางคน ต่างออกมาตำหนิถึงการกระทำดังกล่าว รวมทั้งนักเทคโนโลยีระดับปฏิบัติการบางคนยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของตัวเอง แต่ตกอยู่ในสถานการณ์เหมือนน้ำท่วมปากและไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้ เพราะพวกเขายังอยากมีงานทำและยังรักในอาชีพโค้ตดิ้งอยู่
เพื่อนบนโลกออนไลน์
เมื่อยุคของโซเชียลมีเดียกลายเป็นโลกเสมือนที่สามารถทำให้ใครต่อใครกลายเป็นเพื่อนกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดคำถามตลอดมาว่า “ตัวเลขของดันบาร์” ที่ได้ทำการศึกษาไว้เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้วบนสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงนั้นสามารถจะนำมาใช้ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ได้หรือไม่และ คงเป็นความท้าทายที่ดันบาร์เองก็ต้องหาคำตอบเหมือนกัน
ในที่สุด เมื่อปี 2016 มีการเผยแพร่ผลการศึกษาของ ศาสตราจารย์ โรบิน ดันบาร์ ที่ได้ทำการศึกษาความเป็นเพื่อนบนโลกออนไลน์ของผู้ใช้ Facebook อายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี จำนวน 3,375 คน ในสหราชอาณาจักร โดยพบว่า บุคคลเหล่านี้มีเพื่อนโดยเฉลี่ยราว 150 คน เพื่อน 4.1 คน เป็นเพื่อนที่เชื่อถือได้และเพื่อนอีก 13.6 คน เป็นเพื่อนที่แสดงความเห็นอกเห็นใจในภาวะวิกฤติทางอารมณ์ ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับทฤษฎีของดันบาร์ ที่ได้ศึกษาไว้ในสังคมของโลกแห่งความเป็นจริงก่อนหน้านี้
การศึกษายังพบว่าขนาดของวงกลมแห่งมิตรภาพ (Friendship circles) ระหว่างโลกออนไลน์กับโลกความจริงไม่ได้มีความแตกต่างกัน ผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่มีขนาดของ เน็ตเวิร์คใหญ่ซึ่งมีเพื่อนจำนวนมากไม่ได้มีการเพิ่มจำนวนเพื่อนสนิทที่เคยมีอยู่ แต่จะเพิ่มจำนวนคนรู้จัก (Acquaintances) เข้ามาในวงกลมแห่งมิตรภาพของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่ามีแนวโน้มที่ชอบที่จะมีเพื่อนบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ผู้ใหญ่ชอบที่จะมีเพื่อนในโลกแห่งความจริงมากกว่า
การมีเพื่อนจำนวนมากนั้นในแง่มุมหนึ่งอาจดูเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนผู้นั้นมีความกว้างขวางเป็นที่นิยมชมชอบ(Popularity) ในทางกลับกัน ผลการศึกษาพบว่าการมีเพื่อนมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเศร้า(Depression)และอาการโดดเดี่ยว(Loneliness) เพราะการมีเพื่อนมากเกินไปจะต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างความแนบแน่นของความสัมพันธ์กับจำนวนความสัมพันธ์ของตนเองที่มีต่อเพื่อน จนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เติมเต็มความเป็นเพื่อนได้ครบถ้วน
ความผูกพันของมนุษย์
ธรรมชาติสร้างสมองมนุษย์ให้มีความลึกซึ้งในการเข้าสังคมและทำให้มนุษย์มีความผูกพันต่อกันตั้งแต่นับล้านๆปีที่แล้วจนกระทั่งถึงวันนี้ ตามทฤษฎีของความผูกพัน (Attachment style theory) มนุษย์ส่วนใหญ่มักแสดงออกถึงพฤติกรรมเมื่อมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ 3 รูปแบบ ด้วยกันคือ
ความผูกพันแบบมั่นคง(Secure attachment) เป็นพฤติกรรมที่พึงพอใจกับความใกล้ชิดและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและมักแสดงออกถึงความเชื่อถือต่อบุคคลใกล้ชิด รวมทั้งรู้สึกว่ามีคนที่เราพึ่งพาได้เป็นเพื่อน เป็นต้น
ความผูกพันแบบมีความกังวล(Anxious attachment) เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่มั่นใจในความมีคุณค่าของตัวเอง มีความต้องการความใกล้ชิดกับคนใดคนหนึ่งตลอดเวลาและกังวลต่อการถูกทอดทิ้งหรือการถูกปฏิเสธ
ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง(Avoidant attachment) เป็นพฤติกรรมของบุคคลที่มีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง(Hyper alert) ต่อการเข้าใกล้ชิดผู้ใดผู้หนึ่งและมีความลังเลที่จะเชื่อใครได้อย่างสนิทใจ เมื่อใดที่คนประเภทนี้รู้สึกได้ว่ามีความใกล้ชิดกับใครมากเกินไปมักจะหลบเลี่ยงหรือบางครั้งถึงกับหยุดนิ่ง
พฤติกรรมของผู้คนตามทฤษฎีของความผูกพันทั้ง 3 แบบมีความเกี่ยวข้องกับการทำความรู้จักผู้คนบนโลกออนไลน์อยู่ไม่มากก็น้อย เมื่อใดก็ตามที่เราจะทำความรู้จักกับใครสักคนบนโลกออนไลน์จึงสะท้อนถึงพฤติกรรมของแต่ละคนตามทฤษฎีความผูกพันดังกล่าว บางคนจึงรู้สึกเป็นเรื่องแปลกที่อยู่ๆจะรับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนจากการRequest ของคนแปลกหน้าบนโซเชียลมีเดีย ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยมีความลังเลหรือไม่สะดวกใจที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้า แต่มีคนอีกพวกหนึ่งเห็นว่าการทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าเป็นสิ่งที่ดีงาม
ความง่ายที่น่าเคลือบแคลง
โลกออนไลน์ช่วยให้เราได้ทำความรู้จักกับผู้คนได้โดยง่ายและไม่รู้สึกขัดเขินเมื่อเปรียบเทียบกับการแสดงตัวตนเพื่อต้องการรู้จักใครสักคนในโลกแห่งความจริง อย่างไรก็ตามการตีสนิทกับใครสักคนบนโลกออนไลน์ย่อมมีทั้งผู้ที่มีเจตนาทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าด้วยความเป็นธรรมชาติ(Spontaneous ) แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งมีเจตนาทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ(Instrumental) เพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝง ซึ่งคนทั้ง 2 ประเภทแสดงลักษณะของความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันทั้งรูปแบบของการใช้ภาษา การใช้แพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียและผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์แบบมีวัตถุประสงค์แอบแฝงนั้น มีหลากหลายรูปแบบ บางคนมีบัญชีโซเชียลมีเดียหลายบัญชีแต่เป็นคนคนเดียวกัน คนส่วนใหญ่ใช้นามแฝงหรือชื่อเล่นและมีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้รูปโปรไฟล์ที่ไม่ใช่ของตัวเอง บางคนเป็นเพื่อนจากต่างแดน ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งเป็นเพื่อนในประเทศเดียวกัน การทำความรู้จักฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มของบุคคลประเภทใดมักเริ่มต้นด้วยกันคุยกันฉันมิตร เช่น การทำความรู้จักชื่อเสียงเรียงนาม อาชีพ ที่อยู่อาศัย งานอดิเรก อาหาร อากาศ ท่องเที่ยว วัฒนธรรม ภาษา กีฬา กิจกรรม การละเล่นพื้นถิ่นและสัตว์เลี้ยง เป็นต้น แถมยังมีการส่ง อิโมจิน่ารักๆ โต้ตอบกัน ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาที่อ่อนโยนที่คนเป็นเพื่อนมักใช้คุยกันในลักษณะของการสร้างมิตรภาพแบบธรรมชาติ แต่คนที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงมักเปลี่ยนการใช้ภาษาเป็นภาษาที่ดูกระด้างกว่าเข้ามาสอดแทรกในตอนหลัง เช่น คำว่า เศรษฐกิจ ค่าแรง การลงทุน เปอร์เซ็นต์ กำไร-ขาดทุน เทคโนโลยี ดอกเบี้ย เงินลงทุน เงินฝาก และทอง เป็นต้น ซึ่งเป็นภาษาที่เริ่มแตกต่างจากภาษาที่ใช้คุยกันในระยะแรกๆ จนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกได้ว่าคู่สนทนาอาจมีเจตนาอื่นแอบแฝงและรู้สึกได้ถึงความไม่จริงใจที่กำลังเกิดขึ้น
การพบกันบนแพลตฟอร์มหนึ่งอาจทำให้การพูดคุยไม่สะดวกจึงอาจมีการย้ายจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปยังแพลตฟอร์มที่พูดคุยกันได้สะดวกกว่า เช่น ย้ายจากแพลตฟอร์ม Facebook หรือ hi5 ไปยัง Line หรือ WhatApp หรือ Telegram เป็นต้น เพื่อความเป็นส่วนตัวและง่ายต่อการเข้าถึงแพลตฟอร์มของทั้งสองฝ่าย
จุดจบของมิตรภาพ
แม้ว่ามิตรภาพบนโลกออนไลน์จะทำให้ผู้คนหลุดออกไปจากกรอบของมิตรภาพในวงแคบๆที่จำกัดอยู่เพียงคนรู้จักไม่กี่คน แต่มิตรภาพบนโลกออนไลน์หลายกรณีมักจะจบลงเร็วอย่างคาดไม่ถึงซึ่งแสดงให้เห็นว่ามิตรภาพบนโลกออนไลน์เป็นมิตรภาพที่ยากจะรักษาเอาไว้ได้
จากผลการศึกษาของนักวิจัยเผยแพร่โดย The Chinese University of Hong Kong ซึ่งเปรียบเทียบคุณภาพของมิตรภาพระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกโลกออนไลน์ ในแง่มุมของ ความรู้สึกและระดับของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน(Interdependence) ความหลากหลายของหัวข้อสนทนาระหว่าง 2 ฝ่าย (Breadth) ความรู้สึกมั่นใจต่อฝ่ายตรงข้าม(Depth) การเปลี่ยนรูปแบบของภาษาและวัฒนธรรม (Code change) การตกลงร่วมกันต่อพฤติกรรมที่สองฝ่ายยอมรับ(Understanding) ความคาดหมายและความรู้สึกที่มิตรภาพจะดำรงต่อไป(Commitment) และการชักนำผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในวงกลมแห่งมิตรภาพ(Network convergence) ผลการศึกษาพบว่าเพื่อนในโลกแห่งความจริงมีดัชนีตัวเลขสูงกว่าเพื่อนบนโลกออนไลน์ในทุกด้าน สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของมิตรภาพในโลกแห่งความจริงซึ่งเหนือกว่าโลกออนไลน์
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มิตรภาพของโลกออนไลน์มีความเปราะบางคือ การไม่ได้พบหน้ากันตัวต่อตัว(Face-to-face contact) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารมณ์ของความผูกพัน(Emotional attachment) ระหว่างเพื่อนหรือแม้แต่ครอบครัว เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าหลังจากสองเดือนหากไม่มีการรวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัว ความรู้สึกใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัวจะลดลงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในทำนองเดียวกันหากไม่มีการพบกันระหว่างเพื่อนภายในสองเดือนแรก ความใกล้ชิดระหว่างเพื่อนจะลดลงในอัตราที่เท่าๆกับการลดลงของความใกล้ชิดของครอบครัวและหลังจากนั้นมิตรภาพจะเข้าสู่สภาวะเย็นชาและหากไม่มีการพบหน้ากันภายใน 150 วัน ความรู้สึกใกล้ชิดจะลดลงมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับผลการศึกษาของนักวิจัยจาก Rensselaer Polytechnic Institute ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า ความใกล้ชิด(Proximity) คือตัวพยากรณ์สำคัญที่สุดของความมีมิตรภาพ ซึ่งแปลว่า ยิ่งเราอยู่ใกล้ผู้ใด เรายิ่งมีแนวโน้มมากที่จะเป็นเพื่อนกับคนผู้นั้น
ความใกล้ชิดมิได้นำไปสู่ความเป็นเพื่อนเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ความรักและการแต่งงานของคนหนุ่มสาว จากการศึกษาของ James Bossard นักการศึกษาด้านพฤติกรรมครอบครัว โดยการวิเคราะห์ทะเบียนสมรส ใน ฟิลาเดลเฟีย ที่ออกให้คู่สมรสระหว่างปี 1930 จำนวน 5,000 ฉบับ เขาพบว่า 1 ใน 3 ของคู่รักที่จะแต่งงานกัน แต่ละคู่มีบ้านอยู่ห่างกันแค่ 5 ช่วงตึกเท่านั้นเอง คำพูดของเขาที่ว่า “กามเทพมีปีกก็จริง แต่บินได้ไม่ไกลเลย” (Cupid may have wings, but they are not adapted for long flight) จึงมักถูกนำมากล่าวถึงเสมอเมื่อพูดถึงความใกล้ชิดของผู้คน
มิตรภาพบนโลกออนไลน์เป็นมิตรภาพที่งดงามเพราะคนจำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์บนโลกออนไลน์และต่อยอดจนกลายเป็นเพื่อนหรือคนรัก แต่มิตรภาพของคนจำนวนหนึ่งมักจบลงเร็วกว่าที่คิด ผลการศึกษาข้างต้น อาจเป็นข้อมูลสนับสนุนว่าเหตุใดมิตรภาพบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมชาติหรือมีวัตถุประสงค์แอบแฝงที่ผู้คนไม่เคยพบหน้ากันเลยจึงมีแนวโน้มที่จะยุติลงภายในเวลาไม่นานและอาจพบเห็นได้ในกรณีต่างๆ เช่น
- เกิดความเฉื่อยชาจนกระทั่งหยุดการแชทระหว่างกันไปโดยไม่มีความขุ่นข้องหมองใจใดๆ ต่อกัน
- คงความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยบนโลกออนไลน์ต่อไป ซึ่งอาจนำไปสู่ความสำเร็จตามที่อีกฝ่ายต้องการ แต่อาจทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียบางอย่างหรือได้รับความสำเร็จร่วมกันหากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้
- ความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่ต้นหายไปเพราะอีกฝ่ายไม่บรรลุวัตถุประสงค์และอีกฝ่ายเห็นว่าขาดความจริงใจในการเป็นเพื่อน
- ความสัมพันธ์ขาดหายไปเพราะฝ่ายหนึ่งรู้สึกละอายใจที่ตัวเองมีวัตถุประสงค์แอบแฝงในขณะที่อีกฝ่ายมีเจตนาต้องการความเป็นเพื่อนจริงๆ
แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปได้กลับมาอีกครั้งได้ แต่มิได้หมายความว่าความสัมพันธ์นั้นจะหวนกลับคืนดังเดิมโดยง่ายและรู้สึกสนิทใจเหมือนช่วงเวลาแรกๆ เพราะมิตรภาพที่ดูเหมือนจะสวยงามตั้งแต่เริ่มต้นได้ถูกลดคุณค่าไปแล้วด้วยการขาดความจริงใจของอีกฝ่ายหนึ่ง
อ้างอิง
1.บทความ เพื่อนบนโลกออนไลน์ เพื่อนแท้หรือแค่คนรู้จัก https://www.isranews.org/content-page/item/55892-online.html
2.The Square and the Tower โดย Niall Ferguson
3.Digital Legacy โดย Daniel Sieberg และ Rikard Steiber
4.The Psychology of Silicon Valley โดย Katy Cook
5.https://datareportal.com/social-media-users#:~:text=Kepios%20analysis%20shows%20that%20there,of%20the%20total%20global%20population.
6.Social Warming โดย Charles Arthur
7.https://www.researchgate.net/publication/249718976_A_Comparison_of_Offline_and_Online_Friendship_Qualities_at_Different_Stages_of_Relationship_Development
8.Social chemistry โดย Marissa King
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.therampageonline.com/opinion/2018/10/12/internet-friends-arent-creepy-theyre-really-cool/