“เพลงไทยที่เราเล่นในทำนองเชื้อชาติต่าง ๆ อย่างนี้คือลาว แล้วก็ยังมี เขมร พม่า แขก รวมถึงฝรั่ง แสดงถึงความหลากหลายในสังคมไทย คนไทยเป็นคนใจดี ต้อนรับคนทุกเชื้อชาติ เพลงไทยปัจจุบัน พวกเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงรวมถึงเพลงแร็ปของคนรุ่นลูก ก็มีเพลงไทยนี้เป็นพื้นฐานด้วยส่วนหนึ่ง แสดงว่าคนรุ่นลูกก็ยังไม่ลืมความเป็นไทย และความเป็นไทยก็จะยังคงอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่เรายังสนใจและรักศิลปะการแสดงของไทยเหล่านี้”
20 เมษายน วันคึกฤทธิ์
“พ่อครับ ทำไมวันนี้เรียกว่าวันคึกฤทธิ์หละครับ”
เด็กหนุ่มวัยรุ่นหน้าตาคมคายถามชายวัยกลางคนขึ้นเบา ๆ ในเช้าของวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ในพิธีสักการะบูชารำลึกท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่สถาบันคึกฤทธิ์ ติดกับสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซอยงามดูพลี เขตสาทร
“วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านเป็นปราชญ์รัตนโกสินทร์ ศิลปินแห่งชาติ เสาหลักประชาธิปไตย และยูเนสโกยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกอีกด้วย” ชายวัยกลางคนตอบ
“โห.. ทำไมท่านเก่งจังเลย แล้วเราจะเก่งอย่างท่านได้อย่างไรครับ”
“มันก็ยากนะลูก ลูกเกิดมาไม่ทันตอนท่านมีชีวิตอยู่ แต่คนสมัยพ่อยังจำท่านได้ดีทุกคน”
ต่อมาในเวลา 11 นาฬิกาวันนั้น ในโรงละครคึกฤทธิ์ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ มีพิธีรับมอบเงินสนับสนุนกิจกรรมของสถาบัน คึกฤทธิ์ โดย ม.ร.ว.ปริดียาธร เทวกุล ประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้รับมอบจากคุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ “OR” จำนวน 15 ล้านบาท สำหรับใช้ในกิจกรรมส่งเสริมนาฏศิลป์และวัฒนธรรมไทย ที่สถาบันคึกฤทธิ์ได้จัดการเรียนการสอนด้านละคร ดนตรี และขับร้อง ให้แก่นักเรียนปีละกว่า 600 คน ได้เรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย โดยครูและผู้เชียวชาญจากกรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตลอดจนศิลปินแห่งชาติ จำนวน 40 กว่าคน ซึ่งเงินจำนวนนี้จะทำให้กิจกรรมดังกล่าวสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้อีก 5 ปี
จากนั้นสถาบันคึกฤทธิ์ได้มอบของขวัญให้กับ OR ด้วยการแสดงของครูและนักเรียน ในชุดรำลาวคำหอมและโขนตอนนางลอย ใช้เวลาในการแสดงทั้งสองชุดประมาณชั่วโมงเศษ ซึ่งก็ได้สร้างความประทับใจผู้ชมทุกคน เพราะเป็นการแสดงที่รักษาจารีต ความงาม และความเป็นไทย ได้อย่างละเอียดครบถ้วน ดังบทสนทนาของพ่อกับลูกคู่นี้ที่ได้มาชมลูกชายและพี่ชายผู้เป็นนักเรียนการแสดงของสถาบันคึกฤทธิ์ ซึ่งได้ร่วมแสดงในโขนตอนนางลอยนั้นด้วยคนหนึ่ง
“เพลงลาวคำหอมนี่เพราะมากนะครับ ผมว่าเพลงไทยไม่ได้น่าเบื่อหรือฟังแล้วสยองแบบที่เพื่อน ๆ เขาบอกกันเลย” คนที่เป็นลูกพูดขึ้นหลังการแสดงชุดรำเพลงลาวคำหอมจบลง การแสดงชุดนี้ใช้ผู้แสดงสาว ๆ จำนวน 6 คน แต่งตัวในชุดไทยล้านนาโบราณสีชมพู ซึ่งสวยหวานทั้งชุดที่แต่ง ผู้รำ และการร่ายรำ
“เพลงไทยที่เราเล่นในทำนองเชื้อชาติต่าง ๆ อย่างนี้คือลาว แล้วก็ยังมี เขมร พม่า แขก รวมถึงฝรั่ง แสดงถึงความหลากหลายในสังคมไทย คนไทยเป็นคนใจดี ต้อนรับคนทุกเชื้อชาติ เพลงไทยปัจจุบัน พวกเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงรวมถึงเพลงแร็ปของคนรุ่นลูก ก็มีเพลงไทยนี้เป็นพื้นฐานด้วยส่วนหนึ่ง แสดงว่าคนรุ่นลูกก็ยังไม่ลืมความเป็นไทย และความเป็นไทยก็จะยังคงอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่เรายังสนใจและรักศิลปะการแสดงของไทยเหล่านี้”
ในช่วงหนึ่งระหว่างที่การแสดงโขนกำลังดำเนินไป คนที่เป็นลูกพยายามจะถามคำถามอะไรสักอย่าง แต่คนที่เป็นพ่อก็ไม่ได้ตอบ จนกระทั่งการแสดงจบลง ผู้เป็นพ่อจึงอธิบายให้ฟังว่า
“โขนนี้เป็นการแสดงที่มีอยู่แต่ในราชสำนักมาแต่ครั้งโบราณ จึงค่อนข้างจะมีพิธีรีตองและขนบต่าง ๆ ที่เคร่งครัด เราต้องชมด้วยความสงบและตั้งใจมาก ๆ เพราะผู้แสดงก็อยู่ในอาการเดียวกัน คือต้องใช้สมาธิและเอาใจจดจ่ออยู่กับเพลงและท่ารำต่าง ๆ พ่อเคยเล่นโขนมาบ้าง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สอนว่า เราต้องคอยฟังเสียงกลองเสียงฉิ่งให้ดี จะเสียจังหวะหรือเสียสมาธิไม่ได้ ดังนั้นคนที่เป็นโขนพอได้ยินเสียงเพลงกลองและฉิ่งดังขึ้น ก็เหมือนจะมีอะไรวิ่งเข้ามาที่เส้นเลือดขึ้นไปที่หัวและพุ่งเข้าหัวใจ มันซาบซ่านไปทั้งตัวอย่างบอกไม่ถูก”
“ผมอยากเล่นโขนอย่างพี่เขาจังเลย พี่เขาก็คงจะเป็นเหมือนพ่อ อะไรนะซาบซ่านไปทั้งตัว ฮ่า ๆ ๆ”
“ลูกก็เคยเรียนดนตรีไทยมาแล้วไม่ใช่เหรอ เวลาที่เล่นเขาจะเริ่มด้วยเพลงช้า ๆ อย่างที่เรียกว่าเพลง 3 ชั้น แล้วก็เร่งเร็วขึ้นเป็นเพลง 2 ชั้น ก่อนที่จะรัวถี่ยิบ ฉิ่งฉับ ๆ ในตอนสุดท้ายที่เป็นเพลงชั้นเดียว นั่นแหละคือจังหวะของธรรมชาติ เพลงไทยและคนไทยเราก็เรียนรู้มาแบบนั้น ความเป็นไทยมันซึมซาบอยู่ในตัวเราทุกคน แบบว่าได้ยินเสียงปี่เสียงกลองก็คึกคักกันขึ้นมากันทุกคน”
ก่อนที่พ่อลูกคู่นั้นกำลังจะกลับบ้าน พวกเราที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันคึกฤทธิ์ได้ยินเสียงลูกถามพ่อขึ้นอีกว่า
“ปีหน้าเขายังจะมีงานนี้อีกไหมพ่อ”
“ต้องมีสิลูก ที่ผ่านมา 2-3 ปีมันมีโควิด และก็หน่วยงานรัฐบาลที่เคยให้เงินกับกิจกรรมนี้ก็ถูกลดลบประมาณ กิจกรรมอะไร ๆ ก็เลยไม่มี แต่นี่ OR เขาเอาเงินมาให้อีก 5 ปี คงจะจัดได้เรื่อย ๆ แหละลูก”
“งั้นผมขอมาดูพี่เขาเล่นโขนอีกนะครับ”
“โขนและการแสดงต่าง ๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมในวันนี้ แต่วันนี้ 20 เมษายน ยังมีอะไร ๆ ที่สำคัญกว่านั้นมาก อย่างหนึ่งก็คือเป็นวันที่เราควรรำลึกถึงบุคคลสำคัญของประเทศไทยและโลกนี้อีกคนหนึ่ง คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แม้เราจะเกิดไม่ทันท่าน และไม่ได้ร่วมเหตุการณ์อะไรกับท่าน แต่ส่วนหนึ่งของบ้านเมืองเรา ก็มีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้ด้วยคนหนึ่งที่สร้างสมไว้ให้พวกเรา ดังนั้นบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและคนที่เคารพรักท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงได้รวมเงินกันตั้งมูลนิธินี้ขึ้นตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีอายุได้ 80 ปี แล้วก็ช่วยกันหาเงินมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง อย่างที่ได้รับความร่วมมือจาก ปตท. หรือ OR ในวันนี้ ซึ่งในปีนี้ถ้าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังอยู่ก็จะมีอายุได้ 111 ปี แต่เราจะช่วยกันรักษาสิ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้ได้สร้างไว้นี้ให้สืบทอดต่อไปอีกนาน ๆ ไม่ให้มีวันสิ้นสุด”
“ท่านสร้างอะไรหรือครับ พ่อพูดเสียยืดยาว ผมฟังไม่ทัน”
“ความเป็นไทยไงลูก คึกฤทธิ์ชีวิตไทย ชีวิตของคึกฤทธิ์คือชีวิตของคนไทยนั่นเอง”