"...ประการที่สาม นโยบายที่ไม่เบียดขับผู้ประกอบอาชีพในเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเปิดโอกาสให้ประกอบอาชีพเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ให้เขามีอาชีพ มีความหวัง สำหรับอนาคต อนาคตของผู้คนในเศรษฐกิจฐานรากนี้ขึ้นอยู่อย่างมากกับทั้งการวางผังเมืองและนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของเมือง เราได้แต่หวังว่า ผู้คนในเศรษฐกิจฐานรากเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “มหานครเจิดจ้า” และ ทำให้ “มหานครเจิดจ้า” เป็นมหานครที่มีชีวิต..."
เยาวราชเป็นพื้นที่ “อัตลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว” ตามประกาศ “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ” ปี 2563 ผู้ซื้อ ผู้บริโภคอาหารริมทางบนถนนเยาวราช ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งแสวงหา Street food ที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมอาหารจีนดั้งเดิม รวมทั้งอาหาร Fusion ซึ่งตอบโจทย์ความแปลกใหม่ในรูปลักษณ์ และ รสชาติอาหาร การจัดการหาบเร่แผงลอยบนถนนเยาวราช ใช้หลักเกณฑ์แตกต่างจากแผงลอยทั่วไป เนื่องจากความเป็นพื้นที่อัตลักษณ์และพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวดังได้กล่าวแล้ว
ถนนเยาวราชฝั่งซ้าย (ขาออก) มีถนนสายรองที่เชื่อมต่อกับถนนวานิช 1 หรือ พื้นที่สำเพ็งหลายสาย บนถนนสายรองเหล่านี้มีตึกแถวร้านรวงตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งร้านขายรองเท้า สารพัดเครื่องใช้ในบ้าน สำนักงาน รวมทั้งภาชนะ เครื่องครัว ถ้วยชาม เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้จิปาถะ รวมไปถึง เครื่องเขียน ของเล่น ของขวัญ ของที่ระลึก เครื่องประดับ ยากที่จะพรรณนาได้หมด บนถนนเส้นนี้จึงมีทั้งแรงงานรับจ้างจำนวนมากและเจ้าของกิจการ ซึ่งวิถีของงานและการใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในบริเวณนี้
ในขณะที่ถนนเยาวราชคลาคล่ำไปด้วยอาหาร (ทั้งชนิด รูปลักษณ์ และ ราคา) ที่มุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวและผู้คนนอกพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเย็น ไปจนถึงค่ำและดึก แต่ถนนสายรองซึ่งเป็นทั้งแหล่งงานและอยู่อาศัยของแรงงานรับจ้างทั้งรายวัน มีอาหารขายตั้งแต่เช้าตรู่ พื้นที่นี้จึงเป็น “โรงครัว” ของทั้งแรงงานรับจ้าง และ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยรายอื่นๆ รวมทั้ง “เสี่ย” หรือ “เถ้าแก่” เจ้าของร้านในตึกแถวตามรายทาง อาหารที่ขายจึงมีความหลากหลายทั้งด้านเชื้อชาติ ลักษณะการปรุง และจุดมุ่งหมายในการปริโภค เราจะพบอาหารไทยภาคกลาง อาหารอีสาน และอาหารจีน ส่วนลักษณะการปรุงมีทั้งอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว อาหารปรุงตามสั่ง ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร ผู้บริโภคจึงสามารถเลือกซื้อได้ทั้งอาหารกินจริง กินเล่น ตั้งแต่ ผัดกระเพรา ไข่ดาว แกงลาว ส้มตำ หมูปิ้ง หมูทอด ก๋วยเตี๋ยว ไข่ปิ้ง ขนมจีบ ซาลาเปา น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ชา กาแฟทั้งโบราณและไม่โบราณ ความอยู่รอดของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ จึงขึ้นอยู่อย่างมากกับเศรษฐกิจในท้องถิ่นนี้ ซึ่งก็หมายถึงร้านรวงตามรายทาง และแรงงานรับจ้างทุกประเภทที่เชื่อมโยงอยู่กับธุรกิจเหล่านี้ นอกจากอาหาร ผลไม้และขนมก็มีขายทั่วไป ทั้งแผงลอยรถเข็น ปอกแล้ว พร้อมรับประทาน หรือ ซื้อติดมือกลับไปปอกทานที่บ้าน ทั้งพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ได้ขายอาหารแบบเดียวกันเสมอไป เมื่อเห็นว่าอาหารที่ขายอยู่ มีลูกค้าลดน้อยลง พ่อค้าแม่ค้าก็ปรับตัวด้วยการเปลี่ยนชนิดของอาหาร แม่ค้าขายขนุนปอกพร้อมทาน ผันตัวไปขายแกงลาว รถเข็นขายขนุนสามารถปรับเปลี่ยนเป็นครัวแกงลาว มีที่วางเครื่องปรุง และ ช่องวางเตาแก๊สได้อย่างลงตัว
ช่วงเย็น แดดร่มลมตก เยาวราชถนนสายหลักคลาคล่ำไปด้วยผู้คน บนถนนสายรองก็เช่นกัน ที่ผู้คนเริ่มออกมาสังสรรค์หลังเลิกงาน มีหาบเร่แผงลอยอีกกลุ่มเข้ามาประจำการ กลุ่มนี้ขายผักสด ทั้งผักพื้นฐาน เช่น ผักชี ต้นหอม พริกสดทั้งเม็ดเล็ก เม็ดใหญ่ มะนาว ใบกะเพรา โหระพา และผักที่สามารถนำไปประกอบอาหารของภูมิภาคต่างๆ พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ออกขายตั้งแต่บ่ายสี่โมง เรื่อยไปจนถึงเกือบสองทุ่ม จึงทยอยเก็บแผงกลับที่พัก เคยถามเขาว่า ลูกค้าของเขาเป็นใคร ขายผักสดในเยาวราชช่วงเย็น เป็นเรื่องน่าสนใจ ใครจะคิดว่าในระยะทางไม่ถึง 50 เมตร จากถนนเยาวราชซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว จะมีรถเข็นขายผักสดหลายเจ้า ให้ผู้ซื้อนำกลับไปปรุงเป็นอาหารมื้อค่ำ หรือมื้อเช้าได้ เคยถามแม่ค้าพ่อค้าเหล่านี้ว่า ลูกค้าของเขาเป็นใคร คำตอบก็คือ “คนแถวนี้แหละ บางทีเถ้าแก่ก็มาซื้อ” ก็จริงของแม่ค้า ผู้เขียนมาอุดหนุนแม่ค้าอยู่เนืองๆ เนื่องจากช่วงเย็นตลาดวายแล้ว
ผักที่ขายมีตั้งแต่ต้นหอม ผักชี กำละ กะเพรา โหระพา พริก 10 บาท ไปจนถึง บวบ มะระ มะเขือยาว ราคาตามน้ำหนัก เคยนับดูบนรถเข็นของแม่ค้ามีผักมากกว่า 20 ชนิด ทั้งวางซ้อนกัน ทั้งผูกและแขวน พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ออกจากที่พักแต่มืด ซื้อหาผักราคาส่งที่ปากคลองตลาด กลับมาที่พักด้วยรถรับจ้าง แล้วลงมือแบ่งซอยผักออกเป็นหน่วยย่อยๆ เพื่อขายปลีก นอกจากผักพื้นฐานที่ต้องมีขายทุกวัน การเลือกผักขึ้นแผงขึ้นอยู่กับราคาผักและการคาดการณ์ในแต่ละวัน
ภาพที่เห็นบอกอะไรเรา??
ประการแรก เศรษฐกิจฐานรากและคนฐานราก ซึ่งประกอบอาชีพสุจริต ตามเงื่อนไขความรู้ ความชำนาญในอาชีพ ตลอดจนความเอื้ออำนวยและสอดคล้องของพื้นที่
ประการที่สอง คือ บทบาทของย่านและเมืองต่อการคงอยู่ของเศรษฐกิจฐานราก ซอยวานิช 1 หรือ สำเพ็งนั้นมีร้านค้าทอดยาวทั้งสองฝั่ง เป็นแหล่งอุปสงค์สำคัญของอาหาร ยังไม่นับประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอย การคงอยู่ของเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จึงขึ้นอยู่อย่างมากกับการคงอยู่ของย่าน วิถีชีวิต การประกอบอาชีพของผู้คน รวมทั้งการปรับตัวของผู้คนในเศรษฐกิจฐานรากเอง
ประการที่สาม นโยบายที่ไม่เบียดขับผู้ประกอบอาชีพในเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเปิดโอกาสให้ประกอบอาชีพเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ให้เขามีอาชีพ มีความหวัง สำหรับอนาคต อนาคตของผู้คนในเศรษฐกิจฐานรากนี้ขึ้นอยู่อย่างมากกับทั้งการวางผังเมืองและนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของเมือง เราได้แต่หวังว่า ผู้คนในเศรษฐกิจฐานรากเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “มหานครเจิดจ้า” และ ทำให้ “มหานครเจิดจ้า” เป็นมหานครที่มีชีวิต
ศาสตราจารย์ ดร. นฤมล นิราทร
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์