"...กล่าวได้ว่า แผนการปฏิรูปประเทศเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประสบความสำเร็จทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติ โดยสามารถสร้างมิติใหม่ของการจัดทำและบริหารจัดการผลประโยชน์ของชาติในเขตแดนทางทะเล และเขตสิทธิอธิปไตยทางทะเลให้เกิดความชัดเจน ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญและเป็นก้าวย่างของการสร้างกระบวนการดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีทิศทางที่สามารถมองเห็นอนาคตของประเทศได้อย่างแจ่มชัด ทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ของพี่น้องประชาชนชาวไทยที่จะมองเห็นว่า ท้องทะเลไทยว่ามีหลากหลายมิติ และบังเกิดความรักหวงแหนทะเลไทยที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วมกัน แม้ว่าระยะเวลา 5 ปี ของแผนการปฏิรูปประเทศจะไม่สามารถสร้างระบบการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ตาม แต่ก็เป็น 5 ปีแรกแห่งการเริ่มต้นของการวางระบบของการสร้างการรับรู้เรื่องราวของทะเลไทยที่มีผลประโยชน์อย่างมหาศาลของประเทศ และจะเป็นรากฐานของการก้าวเดินไปของการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคตพร้อมกับการประกาศใช้กฎหมายที่จะกำหนดเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล 22 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้บังเกิดความชัดเจนในอนาคตอันใกล้นี้..."
ประเทศไทย ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ทั้งยัง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวม 11 คณะ โดยมี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรของประเทศทุกมิติในภาพรวม ซึ่งมี ดร.รอยล จิตรดอน เป็น ประธานคณะกรรมการ จนนำมาสู่การประกาศใช้ แผนการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ 6 เมษายน 2561 ซึ่งประกอบด้วย แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กล่าวถึงทรัพยากร รวม 6 เรื่อง คือ ทรัพยากรทางบก ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับ เรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ โดยระบุในเรื่องและกิจกรรมปฏิรูป รวม 13 ประเด็น คือ (1) การบริหารจัดการเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด (2) การปรับสมดุลโครงสร้างองค์กรในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (3) การบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง (4) การบริหารจัดการองค์ความรู้ทางทะเล (5) การบริหารจัดการมลพิษในทะเลและชายฝั่ง (6) การบริหารจัดการการประมงทะเล (7) การบริหารจัดการทรัพยากรสินแร่และแหล่งพลังงานในทะเล (8) การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามแนวคิดการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning : MSP) (9) การอนุรักษ์ปะการังอย่างยั่งยืน (10) การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง (11) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการปกป้องรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล (12) การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและสัตว์ทะเล และ (13) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทางทะเลให้ทันสมัยและสอดคล้องกับ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 โดยมี พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ เป็นหัวหน้าคณะอนุกรรมการผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนและกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศในเรื่องดังกล่าว
ในระหว่างปี พ.ศ.2561-2563 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยหลักเกณฑ์สำคัญคือ แนวความคิดและการดำเนินการต่อปัจจัยความสำเร็จ, ปัญหาและข้อจำกัดที่สำคัญ ทั้งนี้ สิ่งบ่งชี้ถึงความสำเร็จตามแผนการปฏิรูปประเทศคือ การทำงานร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ประการ คือ 1) ผลสำเร็จจากการปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลการปฏิบัติตามแนวทางของแผนการปฏิรูปประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผลเป็นรูปธรรมสำคัญคือ เรื่องการบริหารจัดการเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด ร่วมกับกรมอุทกศาสตร์ จนสามารถกำหนดเส้นเขตจังหวัดทางทะเลและรายการค่าพิกัดรายจังหวัด และจัดทำแผนที่เขตทางทะเลรายจังหวัด รายกลุ่มจังหวัด และภาพรวมของพื้นที่ทางทะเล เพื่อประกอบการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ เรื่องการปรับสมดุลโครงสร้างองค์กรในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ขับเคลื่อนจนประกาศใช้ พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 รวมทั้งติดตามและขับเคลื่อนการจัดทำอนุบัญญัติจากหน่วยงานรับผิดชอบ และ 2) ผลสำเร็จเชิงนโยบาย โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลักได้นำแนวทางของแผนการปฏิรูปประเทศ ไปพัฒนาจนสามารถบรรจุในแผนปฏิบัติราชการ, แผนแม่บท และจัดทำเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของหน่วยงาน ทั้งนี้ เรื่องและกิจกรรมการปฏิรูป ทั้ง 13 ประเด็น สามารถดำเนินการจนสำเร็จเชิงนโยบายเป็นประจักษ์ทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถผลักดันให้มีการกำหนดพื้นที่ทางทะเล และนำเสนอต่อสาธารณชนให้รับทราบอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยที่มีทั้งในเรื่องของเขตอำนาจอธิปไตยและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 52 ที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนของเขตทางทะเลและชายฝั่งทะเลของไทยทั้งด้านตะวันออก (อ่าวไทย) และด้านตะวันตก (ทะเลอันดามัน และช่องแคบมะละกา) ซึ่งมีพื้นที่ทางทะเลรวมประมาณ 323,488.320 ตารางกิโลเมตร และ มีความยาวชายฝั่ง รวมประมาณ 3,148.32 กิโลเมตร ซึ่งทะเลของไทยนับว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศและภูมิภาค สามารถทำการประมงได้เป็นมูลค่ามหาศาลทำให้สัตว์น้ำกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ และทะเลไทยยังมีทรัพยากรที่สำคัญอื่นอีก อาทิ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุ ดังนั้นทะเลและชายฝั่งของไทยจึงเป็นแหล่งของความสมบูรณ์ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์ของชาติในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมากด้วย อีกทั้ง หากพิจารณาถึงมูลค่าผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พบว่า ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2557 มีผลประโยชน์ทางทะเลประมาณ 24 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เลยทีเดียว !
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลได้ประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีสาระสำคัญ ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทำการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศตามขั้นตอนของกฎหมายให้แล้วเสร็จในระหว่างปี พ.ศ. 2564 - 2565 โดยให้มีการกำหนดจัดทำกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ (Big Rock) ตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดกิจกรรม Big Rock ไว้รวม 4 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องของสำคัญที่เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1 เรื่องคือ การบริหารจัดการเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด ซึ่งกำหนดเป้าหมาย รวม 3 เรื่อง คือ (1) มีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมของเส้นเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด และการกำหนดพื้นที่ทางทะเลของจังหวัดชายทะเล (2) การจัดทำกฎหมายเพื่อรองรับการกำหนดเขตจังหวัดในทะเลและชายฝั่ง และ (3) การสร้างการรับรู้ การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเขตทางทะเลของประเทศไทย ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะภายใต้การขับเคลื่อนของ ดร.รอยล จิตรดอน และ พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ อย่างจริงจัง และมีทิศทางที่ชัดเจนทำให้การขับเคลื่อน Big Rock เรื่อง การบริหารจัดการเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด ประสบความสำเร็จอย่างรูปธรรม กล่าวคือ
เป้าหมายที่ 1 : การจัดทำแผนที่การจำแนกเขตทางทะเลและชายฝั่ง ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการนำเส้นแบ่งเขตจังหวัดทางทะเลและชายฝั่งไปหารือร่วมกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล จนได้ข้อยุติแล้วรวม 20 คู่จังหวัด อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 คู่จังหวัด คือ จ.กระบี่ และ จ.พังงา และคาดว่าจะได้ข้อยุติในเร็ววัน ทั้งนี้ เมื่อเกิดความชัดเจนของเส้นเขตจังหวัดทางทะเลแล้ว ย่อมส่งผลให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารจัดการผลประโยชน์ของชาติ บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติทางทะเลได้อย่างสมบูรณ์ ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงและเพาะพันธุ์สัตว์ทะเล การส่งเสริมการท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันและมลพิษ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติทางทะเลในกรณีต่างๆ การรักษาคุณภาพของน้ำ การพัฒนาระบบพลังงานทดแทน
เป้าหมายที่ 2 : การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัจจบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล พ.ศ. .... ของ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งยัง จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 วรรคสอง และรับทราบถึงเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล 22 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565
เป้าหมายที่ 3 : การบรรจุเรื่องเขตทางทะเลและเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ของภาคประชาชน มีความสำเร็จและความคืบหน้าของการดำเนินการ (1) หลักสูตรระดับอุดมศึกษา ได้แต่งตั้ง คณะทำงานจัดทำเนื้อหารายวิชาเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในระดับอุดมศึกษาจัดทำเนื้อหารายวิชาเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในระดับอุดมศึกษา และได้นำเสนอเนื้อหารายวิชาต่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นที่เรียบร้อย และ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศพิจารณานำไปบรรจุในหลักสูตรการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามอำนาจของสภาสถาบันอุดมศึกษา
(2) หลักสูตรต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา ได้มอบหมายผู้แทนประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารด้านวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการ ในกลางเดือนธันวาคม 2565 และได้จัดทำร่าง สาระสำคัญและเนื้อหาที่จะบรรจุเรื่องเขตทางทะเลและเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ยังมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนากรอบหลักสูตรและจัดทำเนื้อหาสาระหลักสูตร (ท้องถิ่น) เขตทางทะเล และเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านระบบ Zoom Meeting รวม 2 ครั้ง คือ ในวันพุธที่ 9 มีนาคม และ ในวันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 นอกจากนี้ยังได้เข้าพบ ปลัดกระทรวงกลาโหม และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พิจารณาสนับสนุนการบรรจุเนื้อหารายวิชาเขตทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหลักสูตรของส่วนราชการตามความเหมาะสม
กล่าวได้ว่า แผนการปฏิรูปประเทศเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประสบความสำเร็จทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติ โดยสามารถสร้างมิติใหม่ของการจัดทำและบริหารจัดการผลประโยชน์ของชาติในเขตแดนทางทะเล และเขตสิทธิอธิปไตยทางทะเลให้เกิดความชัดเจน ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญและเป็นก้าวย่างของการสร้างกระบวนการดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีทิศทางที่สามารถมองเห็นอนาคตของประเทศได้อย่างแจ่มชัด ทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ของพี่น้องประชาชนชาวไทยที่จะมองเห็นว่า ท้องทะเลไทยว่ามีหลากหลายมิติ และบังเกิดความรักหวงแหนทะเลไทยที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วมกัน แม้ว่าระยะเวลา 5 ปี ของแผนการปฏิรูปประเทศจะไม่สามารถสร้างระบบการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ตาม แต่ก็เป็น 5 ปีแรกแห่งการเริ่มต้นของการวางระบบของการสร้างการรับรู้เรื่องราวของทะเลไทยที่มีผลประโยชน์อย่างมหาศาลของประเทศ และจะเป็นรากฐานของการก้าวเดินไปของการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคตพร้อมกับการประกาศใช้กฎหมายที่จะกำหนดเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล 22 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้บังเกิดความชัดเจนในอนาคตอันใกล้นี้.
พลโท ชัยวิทย์ ชยาภินันท์
ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน
แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม