การแก้ไขปัญหาขยะของกรุงเทพมหานครด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเก็บและคัดแยกของเก่าที่ต้นทางในระดับชุมชน โดยการดึงศักยภาพของคนเก็บและคัดแยกของเก่า และร้านซื้อของเก่ามาเป็นภาคีของกรุงเทพมหานคร ในการค้นหาและนำวัตถุดิบที่ยังมีค่าอย่างพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ อลูมิเนียม เหล็ก หรือทองแดง มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธีสำหรับนำมาเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้กับภาคการผลิต
กรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงที่เจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การศึกษา และสาธารณะสุข เป็นแหล่งงานของประชาชนวัยแรงงาน รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในปี 2561 กรุงเทพมหานครมีประชากร 5.68 ล้านคน มีประชากรแฝง ทั้งแบบประชากรแฝงกลางวัน (มาทำงานและมาเรียนหนังสือ) 1.13 ล้านคน และประชากรแฝงกลางคืน 2.05 ล้านคน รวมทั้งมีนักท่องเที่ยว ที่มาพักค้างคืนตลอดปีกว่า 22.44 ล้านคน ความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครสร้างปริมาณของเสีย และปัญหาการจัดการขยะมากมาย ทั้งที่มาจากครัวเรือน และพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการค้าในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มลดลง
แต่กระนั้นขยะมูลฝอยชุมชนยังถูกนำมาคัดแยก นำกลับไปใช้ประโยชน์ และการกำจัดอย่างถูกต้องกลับลดลง ในขณะที่ปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single use plastic) จากบริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์กลับยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และปัญหาขยะพลาสติกยังก่อให้เกิดการอุดตันตามท่อระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วม ปัญหาไมโครพลาสติกที่มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสัตว์ทะเล ด้านของเสียอันตรายจากชุมชน อย่างซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ และถ่านไฟฉายยังเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ ในขณะที่ปัญหามูลฝอยติดเชื้อ (Infectious Waste) จากสถานที่รักษาผู้ป่วยโควิด สถานที่กักสังเกตอาการในสถานพยาบาล ชุมชน และที่พักอาศัย (Quarantine Area) หรือขยะจากอุปกรณ์ตรวจการติดเชื้อและป้องกันโรคโควิด-19 ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
เมื่อพิจารณาการจัดการขยะ กรุงเทพมหานครยังคงเน้นการนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบและการเผาเป็นหลัก ในขณะที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล ปี 2562 กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บและขนมูลฝอยได้ 2,171,957 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 86.91 โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ 535 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท เห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 6,465 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.36 และกรุงเทพมหานครมีบุคลากรที่เกี่ยวของในกระบวนการเก็บและขนส่งเพียง 10,000 คน ในขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครก็มีแผนจะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ในเดือนตุลาคม 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บและกำจัดขยะ และดูแลสวัสดิการของพนักงานเก็บมูลฝอยในกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้น ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาขยะในกรุงเทพมหานครในอนาคต มีประเด็นที่เกี่ยวข้องใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1) การบริหารจัดการกระบวนการจัดเก็บขยะ ทั้งเรื่องเวลาการเก็บ การเข้าถึงพื้นที่ในชุมชน ตรอกซอกซอย และพื้นที่ทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
2) การบริหารจัดการงบประมาณในการเก็บขยะให้เพียงพอ และไม่สร้างภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนแล้ว
3) การบริหารจัดการที่คำนึงคุณค่าของทรัพยากร ในด้านการคัดแยกที่เหมาะสมการนำเอาของเก่าที่ยังมีค่ากลับไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ใหม่ ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัญหาขยะในเมืองร่วมกับศักยภาพของประชาชนในกรุงเทพมหานคร และคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในเมือง พบว่า กรุงเทพมหานครมีศักยภาพในการดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชน และชุมชนในกรุงเทพมหานครที่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เข้ามาร่วมมือกับร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลที่ปัจจุบันมีจดทะเบียนถูกต้องกว่า 3,000 แห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสนับสนุนให้กลุ่มคนเก็บและคัดแยกของเก่าที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นคนทำงานอิสระ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการค้นหาและเก็บของเก่ามาทำความสะอาด รวมทั้งคัดแยกวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ให้ได้ส่งขายให้กับร้านรับซื้อ
การแก้ไขปัญหาขยะของกรุงเทพมหานครด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเก็บและคัดแยกของเก่าที่ต้นทางในระดับชุมชน โดยการดึงศักยภาพของคนเก็บและคัดแยกของเก่า และร้านซื้อของเก่ามาเป็นภาคีของกรุงเทพมหานคร ในการค้นหาและนำวัตถุดิบที่ยังมีค่าอย่างพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ อลูมิเนียม เหล็ก หรือทองแดง มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธีสำหรับนำมาเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้กับภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงนำของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น แบตเตอรี่ หรือซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซ่อมแซม หรือกำจัดอย่างถูกต้อง นอกจากเป็นกระบวนการจัดการขยะที่ดีกว่าการนำไปฝังกลบและเผา และเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว กระบวนการแก้ไขปัญหาขยะที่ต้นทางนี้ยังช่วยลดภาระงบประมาณและภาระหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการจัดการของเสีย ช่วยให้ชุมชนและเมืองสะอาด เป็นระเบียบร้อยร้อย สวยงาม ตลอดจนช่วยสร้างรายได้ให้กับคนเก็บและคัดแยกของเก่าให้มีรายได้ และเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพมหานคร
ปัญหาเรื่องขยะในเมือง อาจเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัญหาที่ซับซ้อนของกรุงเทพมหานคร การเลือกตั้งผู้ว่าราชการการกรุงเทพมหานคร เป็นโอกาสที่ทำให้คนกรุงเทพมหานครทบทวนปัญหาของตนเอง ครอบครัว และชุมชน และปัญหาร่วมของเมืองหลวง รวมถึงมองเห็นศักยภาพที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสามารถสนับสนุน และร่วมกันทำได้อย่างเช่นลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการคัดแยกขยะ ตลอดจนมองเห็นผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา อย่างเช่นกลุ่มคนเก็บและคัดแยกของเก่าที่จะช่วยให้กระบวนการเก็บ คัดแยก และนำกลับมาใช้ใหม่ที่เราทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันประสบความสำเร็จ และเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นคุณค่าของทุกอาชีพที่ทำงานอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้
อ้างอิง
[1] http://www.bangkokgis.com/gis_information/population/#2561
[1] www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาประชากร/ประชากรแฝง/2561/Population_61.pdf
[1] https://www.mots.go.th/News-link.php?nid=12098
[1] https://www.thebangkokinsight.com/news/business/economics/193971/
[1] https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000231/article/Waste%20management%20fee.pdf
[1] https://www.bltbangkok.com/bangkok-update/4875/
[1] https://www.dailynews.co.th/news/134541/
ดร. บวร ทรัพย์สิงห์ และวิชยา โกมินทร์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย