"...ความจริงก็คือ ในขณะที่อาจารย์พยายามสอนคนอื่นถึงวิธีสร้างชีวิตที่ดีให้ลูก หรือพูดง่ายๆว่า "วิธีเลี้ยงลูกให้ดี" นั้น อาจารย์ก็มีความรู้สึกสะทกสะท้านอยู่ภายใน บางครั้งก็คิดว่า ถ้าสิ่งที่ฉันสอนคนอื่นนั้น ฉันทำไม่ได้ล่ะ มันจะเป็นอย่างไร? ถ้าลูกของฉันไม่ได้ดีอย่างที่ฉันสอนล่ะ มันจะเป็นอย่างไร? นี่คือ insecurity หรือความอ่อนไหวไม่มั่นคง ที่มีอยู่ลึกๆ..."
โพสต์นี้เป็นความเห็นส่วนตัวในฐานะแม่คนหนึ่ง กรุณาคอมเมนต์อย่างสุภาพ
ไม่ว่าคดีของปริญญ์ พานิชภักดิ์จะสิ้นสุดอย่างไร แต่ข่าวที่ว่อนอยู่ก็ส่งผลกระทบมากมาย และคนที่น่าจะเสียใจที่สุดในตอนนี้ก็คือพ่อแม่
ในวันแรกที่อ่านข่าว อาจารย์มีคำถามผุดขึ้นในใจทันที นั่นคือ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์จะรู้สึกอย่างไร?
อาจารย์เป็นคนรุ่นเก่า เติบโตขึ้นมาด้วยความคุ้นกับชื่อเสียงของ ดร.ศุภชัย ท่านเป็นบุคคลที่อาจารย์คิดว่าคนไทยจำนวนมากรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะมีคนไทยไม่กี่คนหรอกที่ได้ไปอยู่บนเวทีโลก และได้ทำงานสำคัญเช่นท่าน ดังนั้นพอมีข่าวนี้อาจารย์จึงรู้สึกเป็นห่วงท่าน อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นห่วงคือท่านอายุมากแล้ว คนสูงอายุไม่ควรต้องมาพบกับเรื่องราวแบบนี้
แล้วอาจารย์ก็ถามตัวเองว่า "ถ้าเป็นฉันล่ะ ถ้าฉันเป็นพ่อแม่ฉันจะรู้สึกอย่างไร?" แล้วก็ตอบตัวเองได้ว่า "ฉันคงหัวใจสลาย"
ลูกอาจจะทำผิดจริงหรือไม่ได้ทำ แต่ข่าวที่ปรากฏก็ทำลายชื่อเสียงเกียรติยศที่พ่อแม่สร้างสมมา
ตัวอาจารย์เองไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกแบบดร.ศุภชัย แต่ในชีวิตของการรับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ก็ได้พยายามดำรงตนในแบบที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นความดีงาม คือขยันทำงาน ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาด้วยทุนของจุฬาฯ อย่างเต็มที่ ดูแลคนไข้อย่างทุ่มเท สอนหนังสือด้วยความตั้งใจ พยายามเผยแพร่ความรู้ด้วยการเขียนตำราแพทย์และหนังสือสำหรับประชาชน รวมทั้งทำงานวิจัย ที่ทำสิ่งเหล่านี้จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะต้องการตำแหน่งศาสตราจารย์หรือต้องการชื่อเสียง แต่ยึดหลักว่าถ้าฉันจะทำอะไรแล้วฉันจะต้องทำให้ดีที่สุด และที่สำคัญคือ เชื่อว่าสังคมไทยต้องการความรู้ที่ถูกต้อง และฉัน "ช่วยได้"
ความจริงก็คือ ในขณะที่อาจารย์พยายามสอนคนอื่นถึงวิธีสร้างชีวิตที่ดีให้ลูก หรือพูดง่ายๆว่า "วิธีเลี้ยงลูกให้ดี" นั้น อาจารย์ก็มีความรู้สึกสะทกสะท้านอยู่ภายใน บางครั้งก็คิดว่า ถ้าสิ่งที่ฉันสอนคนอื่นนั้น ฉันทำไม่ได้ล่ะ มันจะเป็นอย่างไร? ถ้าลูกของฉันไม่ได้ดีอย่างที่ฉันสอนล่ะ มันจะเป็นอย่างไร? นี่คือ insecurity หรือความอ่อนไหวไม่มั่นคง ที่มีอยู่ลึกๆ
ครั้งหนึ่งอาจารย์แอบได้ยินสามีสอนลูก ตอนนั้นลูกอยู่มัธยมต้น เป็นช่วงที่มีความเสี่ยง อาจทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ได้คาดคิด สามีพูดกับลูกว่า "ลูกต้องจำไว้นะว่าแม่ทำงานให้คำปรึกษาพ่อแม่มากมายและแม่เขียนตำราด้วย ผู้คนศรัทธาในตัวแม่ เพราะฉะนั้นลูกต้องรักษาชีวิตของลูกให้ดี อย่าทำให้แม่เสียชื่อเสียง อย่าทำลายศรัทธาของผู้คน ไม่ว่าลูกจะทำอะไรขอให้นึกถึงแม่ให้มากๆ "
อาจารย์เองไม่เคยบอกลูกแบบนี้เพราะคิดว่ามันเป็นการทำให้ลูกแบกภาระที่ต้องรักษาชื่อเสียงของแม่ แต่ก็รู้สึกขอบคุณสามีอยู่ในใจที่เขาพูดกับลูกอย่างนั้น
ในชีวิตของคนเป็นพ่อแม่ ถ้าเขาพยายามสร้างชีวิตของเขาให้ดี โอกาสที่ลูกของเขาจะดีตาม ก็มีเปอร์เซ็นต์สูง แต่มันไม่ได้การันตี 100% ว่าลูกของเขาจะไม่ผิดพลาด มันก็คล้ายคลึงกับความจริงที่ว่า แม้ชีวิตคู่ของคุณจะมีความสุข แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่เกิดการนอกใจ
สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า การเลี้ยงลูกก็เหมือนการยิงธนู แม้เราจะเหนี่ยวไปเต็มแรง แต่ก็ไม่แน่ว่าลูกธนูจะไปตรงเป้าหรือเปล่าเพราะในเส้นทางระหว่างลูกธนูกับเป้านั้นอาจมีกระแสลมพัด แล้วทำให้ลูกธนูพลาดเป้าไป
อะไรคือกระแสลม?
มันคือปัจจัยที่เราคาดเดาไม่ได้และปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวภาพ บุคลิกภาพของลูก (แม้พ่อแม่ที่ดีที่สุดก็อาจจะไม่สามารถสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวลูกได้) รวมถึงปัจจัยทางสังคมอีกมากมาย เช่น social media ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก กลุ่มเพื่อน โรงเรียน ชุมชน สังคมใหญ่ วัฒนธรรม ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของชีวิต
ถ้าเช่นนั้นคนเป็นพ่อแม่ควรทำอย่างไร? คำตอบก็คือ เหนี่ยวธนูให้เต็มแรงและเล็งเป้าให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่เหลือจากนั้นก็คงต้องมีความกล้าหาญพอที่จะยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ถ้าลูกของอาจารย์ทำผิด อาจารย์คงหัวใจสลาย....
และคงจะถามตัวเองซ้ำๆว่าฉันพลาดตรงไหน? มีอะไรที่ฉันไม่ได้ทำเพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นมาดีกว่านี้? มีอะไรที่ฉันมองไม่เห็น?
อาจารย์คงจะใช้เวลาพิจารณาสิ่งเหล่านี้ ...พิจารณาไปพร้อมกับน้ำตา
แน่นอนอาจารย์คงจะรู้สึกผิดและรู้สึกเศร้า อาจนานเป็นเดือน เป็นปี...แต่ในที่สุด สิ่งที่ต้องทำก็คือฟื้นฟูตัวเอง เพื่อให้ตัวเองเข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่ได้
พร้อมกับบอกตัวเองว่า "ฉันได้ทำดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้แล้ว และฉันจะยกโทษให้ตัวเองในสิ่งที่ฉันพลาดไป"
สิ่งที่จะต้องทำควบคู่ไปก็คือให้กำลังใจลูก ให้เขาแก้ปัญหาให้ถูกวิธี อาจารย์จะบอกลูกว่า "อดีตผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถจะไปแก้ไขมันได้ แต่เราสามารถทำปัจจุบันให้ดีขึ้น และถ้าเราทำปัจจุบันให้ดี อนาคตก็จะดีเอง เพราะฉะนั้นวันนี้ลูกต้องแก้ปัญหาให้ถูกวิธี ลูกได้ทำผิดมาแล้ว จงอย่าทำผิดซ้ำ จงกล้าหาญยอมรับผิด ขอโทษในความผิดที่ลูกได้ทำไปและชดใช้ความผิดนี้ด้วยความกล้าหาญ"
และอาจารย์คงจะพูดประโยคน้ำเน่า นั่นคือ "แม้ลูกจะทำผิด แต่ลูกยังเป็นลูกของพ่อแม่ พ่อแม่รักลูกและจะอยู่เคียงข้างลูก คนเราทำผิดได้ แต่เมื่อทำผิดแล้วต้องกล้าหาญยอมรับผิด และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน"
ขอเป็นกำลังใจให้ดร.ศุภชัย และพ่อแม่ท่านอื่นที่กำลัง "หัวใจสลาย" ให้ผ่านพ้นเรื่องเลวร้ายไปได้ในที่สุด
ที่มา : https://www.facebook.com/788466547885173/posts/5148985295166588/?d=n