"...สังคมไม่จำเป็นต้องเชื่อผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเพศในทันทีทุกกรณี แต่สิ่งที่ต้องไม่ทำ คือ การโทษเหยื่อ (victim blaming) โทษว่าเป็นความผิดของผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายมีส่วนในการกระทำความผิด ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้กระทำผิดทางอ้อม ลดทอนความร้ายแรงของอาชญากรรม รวมถึงด้อยค่าผู้เสียหาย..."
หมายเหตุ : น.ส.กนกรัตน์ ธรรมพนิชวัฒน์ ว่าที่อัยการผู้ช่วยรุ่นที่ 62 เจ้าของเพจเฟสบุ๊คเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย “Biedie Karnokrut Thampanichawat” โพสต์ให้ความเห็นเรื่อง เกี่ยวกับ victim blaming หรือการลงโทษผู้เสียหายในคดีทางเพศ
ผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร และไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมในรูปแบบใด ไม่ต้องขอโทษ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้เสียหายเลย อย่าโทษตัวเอง และไม่ต้องอายที่จะพูดมันออกมา เพื่อที่จะให้ผู้ก่ออาชญากรรมได้รับโทษ แต่ถ้าไม่อยากจะพูดถึงมัน ก็ไม่เป็นไรเลย หรือจะพูดหลังเวลาผ่านไปนานแค่ไหนก็ได้ ความรู้สึกและความต้องการของเธอสำคัญที่สุด
กระบวนการยุติธรรมจะต้องมีกระบวนการที่รองรับและสนับสนุนผู้เสียหายในการที่จะเอาผิดผู้กระทำความผิด โดยไม่เป็นการทำร้ายผู้เสียหายซ้ำ ๆ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะต้องเข้าใจธรรมชาติของอาชญากรรมทางเพศ และไม่ถามคำถามที่กระทบจิตใจผู้เสียหาย (ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ดีพอ ไว้จะมาเล่าประสบการณ์ช่วยเหลือผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเพศว่าเจออะไรบ้าง
สังคมไม่จำเป็นต้องเชื่อผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเพศในทันทีทุกกรณี แต่สิ่งที่ต้องไม่ทำ คือ การโทษเหยื่อ (victim blaming) โทษว่าเป็นความผิดของผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายมีส่วนในการกระทำความผิด ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้กระทำผิดทางอ้อม ลดทอนความร้ายแรงของอาชญากรรม รวมถึงด้อยค่าผู้เสียหาย
ตัวอย่างของการโทษเหยื่อ (victim blaming) ที่เห็นได้บ่อย ๆ ในสังคมไทย คือ การเอาค่านิยมบางอย่างมากดทับผู้เสียหาย เช่น การแต่งตัวโป๊ (คนเราจะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ อย่าเอามาเป็นข้ออ้างทุเรศ ๆ ในการทำผิด) , การไปในที่เปลี่ยว 2 ต่อ 2 (ต่อให้จะอยู่ในห้อง 2 ต่อ 2 มึงก็ไม่มีสิทธิล่วงละเมิดทางเพผศ ถ้าเค้าไม่ยอม) , การประกอบอาชีพบางอย่าง (การทำงานบริการทางเพศ ไม่ว่าจะขายบริการ เด็กเอน ขายคลิป ขายรูป ขอบเขตงานอยู่แค่ไหน ทำได้แค่นั้น ทำนอกเหนือจากนั้น เป็นอาชญากรรม) , เพศ (เรื่องเพศที่ก็เหมือนกัน ไม่ว่าผู้เสียหายหรือผู้กระทำความผิดจะเป็นเพศอะไร อย่าเอาอคติทางเพศมาตัดสิน) , ความน่าเชื่อถือทางสังคม (อย่าเอาปัจจัยตัวบุคคลมาเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะมีหน้าตาทางสังคม หน้าตาดี มีอาชีพการงานที่ดี หรืออื่น ๆ ก็ไม่เกี่ยว บางครั้งคนเหล่านี้มีโอกาสกระทำความผิดมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ และมีโอกาสรอดมากกว่าคนอื่นด้วย) เป็นต้น.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com