"...เพราะร่างกฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำนี้บัญญัติให้มีผลย้อนหลังสำหรับคดีที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาล และกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษที่กระทำความผิดทางเพศและความผิดที่ใช้ความรุนแรงตามที่กำหนดไว้ด้วย..."
ช่วงท้าย ๆ ของอายุสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวุฒิสภา
ถ้ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่
ผู้กระทำผิดที่ทำผิดซ้ำ ๆ ในความผิดทางเพศ หรือความผิดที่ใช้ความรุนแรง จนติดเป็นนิสัยชนิดเป็นที่ประจักษ์ จะได้รับการปฏิบัติเพิ่มเติมด้วยมาตรการพิเศษนอกเหนือจากโทษจำคุก
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีมาตรการใหม่ที่เรียกว่า…
“มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด”
โดยที่ระบุไว้ขัดเจนแล้วแน่นอนในมาตรา 19 วรรคสอง (1) คือ…
“มาตรการทางการแพทย์”
และยังมีมาตรการอื่น ๆ อีก แต่รายละเอียดจะมีอะไรและมีกระบวนการอย่างไรบ้างนั้น ร่างกฎหมายบัญญัติให้ไปอยู่ในกฎกระทรวง และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
โดยการทำให้อวัยวะเพศชายฝ่อ หรือการกดฮอร์โมนเพศชาย จะเป็นหนึ่งในมาตรการทางการแพทย์นี้
การใช้มาตรการทางการแพทย์นี้ต้องเป็นคำสั่งของศาล
อัยการเป็นผู้ยื่นคำร้องขอต่อศาล โดยยื่นไปพร้อม ๆ กับคำฟ้องได้เลย
หรือจะไปยื่นเฉพาะในช่วงที่ผู้กระทำความผิดอยู่ระหว่างการรับโทษตามคำพิพากษาก็ได้
ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะมีคำสั่งตามคำขอหรือไม่
ร่างกฎหมายมาตรา 19 วรรคสามกำหนดให้ศาลไต่สวนโดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นของผู้กระทำความผิด ความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
ในการไต่สวน ศาลสามารถเรียกสำนวนการสอบสวนจากอัยการ รับฟังคำคัดค้านของผู้กระทำความผิด รวมทั้งสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม สืบเสาะและพินิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติ
หากศาลเห็นควรออกคำสั่งใช้มาตรการทางการแพทย์หรือมาตรการแก้ไขฟื้นฟูอื่น ๆ ให้รวมไว้ในคำพิพากษา
รวมทั้งให้ระบุคำสั่งดังกล่าวไว้ในหมายจำคุกด้วย
กรมราชทัณฑ์จะเป็นหน่วยงานผู้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
และรายงานผลต่ออัยการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
อัยการอาจยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงมาตรการ หรือยกเลิกมาตรการได้ ขึ้นอยู่กับผลการใช้มาตรการตีอผู้กระทำความที่กรมราชทัณฑ์รายงานมา
ทั้งนี้ มาตรการทางการแพทย์ทั้งหมดให้ดำเนินการโดยแพทย์อย่างน้อย 2 คนที่ต้องมีความเห็นพ้องกัน
หากมาตรการทางการแพทย์นั้นต้องมีการใช้ยา ไม่ว่ายารับประทาน หรือยาฉีด ผู้กระทำความผิดต้องให้ความยินยอม
ประเด็นสำคัญท้ายสุดที่น่าจะทำให้มีข้อถกเถียงในการพิจารณาตามสมควรได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 21 วรรคสอง
“ให้กรมราชทัณฑ์นำผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์ตามวรรคหนึ่งมาใช้ในการพิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือให้ประโยชน์อื่นใดอันเป็นผลให้ผู้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในคำพิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ด้วย”
ร่างกฎหมายนี้ตามตารางเวลาทำงานของรัฐสภาน่าจะผ่านออกมาบังคับใช้ได้ภายในสมัยประชุมที่จะเปิดวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้
ช้าเร็วขึ้นอยู่กับว่ากรรมาธิการของวุฒิสภาจะแก้ไขเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหนอย่างไรหรือไม่ และสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาหรือไม่ จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่าง 2 สภาหรือไม่
แต่ไม่ต้องห่วงสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อนร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับ
เพราะร่างกฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำนี้บัญญัติให้มีผลย้อนหลังสำหรับคดีที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาล และกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษที่กระทำความผิดทางเพศและความผิดที่ใช้ความรุนแรงตามที่กำหนดไว้ด้วย
เรียกว่าย้อนหลังกันนานทีเดียว
ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะก่อให้เกิดข้อถกเถียงในชั้นกรรมาธิการได้พอสมควร
หลักการที่ให้มีผลย้อนหลังนี้ เพราะผู้ร่างไม่ถือว่ามาตรการทางการแพทย์หรือมาตรการแก้ไขฟื้นฟูอื่น ๆ ไม่ถือเป็นโทษทางอาญา แต่ถือเป็นมาตรการที่เป็นคุณต่อผู้กระทำความผิดทางเพศหรือความผิดรุนแรงที่ระบุไว้จนติดเป็นนิสัย ควบคุมตัวเองไม่ได้ และถือเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคมอีกด้วย
เป็น ‘การุณยมาตรการ’ ว่างั้นเถอะ !
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันทำความผิดซ้ำฯ วุฒิสภา