อย่างไรก็ดี ความจำเหมือนสิ่งอื่น ๆ ในร่างกายที่เสื่อมถอยตามกาลเวลาหากไม่ดูแล เพราะปัจจัยทางกายภาพของสมองที่เปลี่ยนไป เมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม การใช้ยาบางชนิด หรือได้รับสารพิษที่ส่งผลต่อสมอง หรือการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างหนัก ไปจนถึงความเครียดและวิตกกังวล
การจดจำแบบ Total Recall ของมาริลู เฮนเนอร์ (Marilu Henner) และ จิลล์ ไพรซ์ (Jill Price) ที่สามารถจดจำทุกอย่างที่เกิดขึ้นย้อนไปจนถึงสมัยวัยเด็ก ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวและกับตัวเอง ถือเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ความจำบ่งบอกให้เห็นตัวเราในอดีตและอนาคต และเกิดเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคน งานศึกษาเรื่องความจำมนุษย์มีมานานกว่า 2,000 ปี บทความชิ้นแรก ๆ เขียนโดยอริสโตเติล ชื่อ On the Soul เปรียบเทียบใจมนุษย์กับแผ่นกระดานที่ขาวสะอาด พร้อมตั้งทฤษฎีว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาปราศจากความรู้ แต่ละคนจึงต่างกันโดยประสบการณ์ชีวิตของตน การได้เรียนรู้และจดจำนำไปสู่ตัวตนของเรา1/ ในขณะที่ลุยส์ บุญญูเอล ปอร์โตเลส (Luis Buñuel Portolés) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลกชาวสเปน ได้กล่าวว่า “การสูญเสียความทรงจำ นำไปสู่การขาดความเชื่อมโยงว่าเราคือใคร”2/
ผมยังจำตอนเด็กเคยไปเรียนว่ายน้ำ ในวันแรกของการเรียนตกลงไปในสระน้ำโดยครูที่สอนไม่ทันเห็น ต้องตะกุยตะกายช่วยเหลือตัวเองขึ้นมาแตะขอบสระ เป็นประสบการณ์ทำให้ขยาดกลัว จนว่ายน้ำไม่เป็นจนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้ ความทรงจำแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) เป็นความจำที่บันทึกความรู้เกี่ยวกับความเป็นจริงทั่ว ๆ ไปเป็นอิสระจากประสบการณ์ส่วนตัว อย่างเช่น เมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ หรือบุคคลในประวัติศาสตร์
2. ความจำเชิงอัตชีวประวัติ (autobiographical memory) เป็นการระลึกถึงประสบการณ์ชีวิตที่ได้เกิดขึ้นกับตนเองโดยตรงหรืออาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ในอดีต1/ มีงานวิจัยพบว่า เรื่องที่ทำให้เรานึกถึงอดีตได้ง่ายที่สุดมีอยู่สองเรื่องคือ เหตุการณ์ที่มีความสำคัญในอดีต และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ใกล้ชิดกับเรา จึงไม่แปลกใจที่เรามักเห็นอยู่บ่อยครั้งบนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ การแชร์ภาพความหลังในอดีตครั้งวัยเด็ก รูปถ่ายกับครอบครัว เพื่อนสนิท แฟน อย่างปรากฏการณ์ CU100 เมื่อใกล้ครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บรรดาชาวจุฬาฯ ต่างสรรหารูปเก่าสมัยเรียนหนังสือ รูปถ่ายชุดครุยวันรับปริญญา พร้อมทั้งกรอบสัญลักษณ์จุฬาฯ 100 ปีมาลงกันเต็มโซเชียลมีเดีย3/
การคิดถึงหรือระลึกถึงอดีตไม่ได้เป็นความผิดปกติของร่างกายและจิตใจแต่อย่างใด แต่กลับพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะคิดหรือระลึกถึงความหลังในอดีตประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมากกว่าครึ่งของคนที่สำรวจจะคิดถึงอดีตสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง การคิดถึงอดีตนั้นมีข้อดีต่อทางด้านจิตใจมากมาย เพราะสิ่งที่เรานึกถึงมักจะเป็นความทรงจำที่ดี มีความสุข ทำให้อารมณ์ดี รู้สึกดีกับชีวิต รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสำคัญในปัจจุบัน นอกจากนี้ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงทางสังคม ช่วยลดความเครียดและทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่ออนาคต อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงแต่ละคนเกี่ยวกับความจำ ส่วนใหญ่คิดว่าเปรียบเสมือนเครื่องบันทึกเสียงที่สามารถย้อนกลับไปฟังในช่วงวันเวลาดังกล่าวได้ แต่ผิดถนัด ความทรงจำเกิดจากกระบวนการในสมองที่ต้องรื้อฟื้นย้อนเรื่องราวในอดีตจากหน่วยความจำที่ถูกจัดเก็บตามเซลล์สมองมาปะติดปะต่อกัน เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์จนสร้างภาพที่สมบูรณ์
ด้วยกระบวนการข้างต้น ทำให้การให้ข้อมูลที่บิดเบือนสามารถนำมาสู่ความทรงจำที่ผิด ๆ ได้ เช่น ในการทดลองของ คิม เวด (Kim Wade) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Warwick สหราชอาณาจักร ได้ทำการทดลองกับพ่อแม่นักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยให้ข้อมูลประกอบรูปภาพที่แต่งขึ้นมาว่า ในช่วงที่ลูกยังเล็ก พวกเขาได้ขึ้นไปบนบอลลูนอากาศร้อน (hot-air balloon) ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ผลปรากฏว่า ผู้ปกครองกว่าครึ่งห้องเคยคิดพาลูกขึ้นไปบนบอลลูนจริง ดังนั้น ความแจ่มแจ้งอย่างกับตาเห็น เห็นจริงเห็นจัง ไม่ได้หมายความว่า เหตุการณ์ในความทรงจำนั้น ๆ เกิดขึ้นจริงเสมอไป
อย่างไรก็ดี ความจำเหมือนสิ่งอื่น ๆ ในร่างกายที่เสื่อมถอยตามกาลเวลาหากไม่ดูแล เพราะปัจจัยทางกายภาพของสมองที่เปลี่ยนไป เมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม การใช้ยาบางชนิด หรือได้รับสารพิษที่ส่งผลต่อสมอง หรือการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างหนัก ไปจนถึงความเครียดและวิตกกังวล ส่งผลต่อการจดจำและการเรียนรู้ด้วยเช่นเดียวกัน หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ความเสื่อมถอยของความจำเป็นสิ่งที่อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น ไม่สามารถหยุดยั้งได้ แต่มีงานวิจัยว่า ผู้ใหญ่อายุ 70 ปี สามารถทำแบบทดสอบความจำได้ดีไม่แพ้วัยรุ่นอายุ 20 ปี แสดงให้เห็นว่า อายุเป็นเพียงตัวเลข3/
การฝึกสมองให้จดจำได้ดีขึ้นต้องอาศัยสมาธิ สิ่งที่เป็นปัญหาด้านความจำมักเป็นปัญหาด้านความสนใจ จากรายงานของศาสตราจารย์อมิชิ จฮา (Amishi Jha) นักประสาทวิทยาและด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยไมอามี สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การจะจดจำอะไรบางอย่างได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง คือ
1. การฝึกฝน ความพยายามนึกถึงและความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อนำ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งนั้นออกมา เช่น ชื่อที่เพิ่งได้ยินเมื่อเพื่อนร่วมงานใหม่แนะนำตัวเอง ข้อเท็จจริงที่สำคัญจากการฝึกงาน รายละเอียดของประสบการณ์สนุก ๆ ที่เพิ่งได้รับ เช่น งานแต่งงานของครอบครัว
2. การขยายความ การนำประสบการณ์หรือความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วไปเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ ช่วยทำให้จดจำสิ่งใหม่ ๆ ได้โดยไม่รู้ตัวด้วยการอธิบายรายละเอียด เช่น นึกภาพปลาหมึก พอมีเพื่อนบอกว่าปลาหมึกยักษ์มีสามหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้ในครั้งต่อไปเมื่อได้เห็นปลาหมึกจะจำได้ว่าปลาหมึกยักษ์มีหัวใจสามดวง
3. การรวบรวม ทั้งสองกระบวนการที่กล่าวถึงข้างต้นสนับสนุนการสร้างหน่วยความจำเริ่มต้น แต่หากต้องการเปลี่ยนจากระยะเริ่มต้นเหล่านี้ ไปสู่การเก็บความจำระยะยาวได้ดีขึ้น จำเป็นต้องมีการนึกซ้ำ ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จึงจะทำให้สามารถจดจำได้แม่นมากขึ้น เกิดเป็นความจำระยะยาวที่แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ วิธีง่าย ๆ ก็คือ การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนให้มาก ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีต่อสมอง ช่วยให้จำเก่งและลืมยากเช่นกัน4/
ความทรงจำมหัศจรรย์ไม่ใช่นิยาย หรือตำนาน แต่เป็นทักษะที่สามารถเกิดขึ้นได้ ชีวิตมีทั้งน้ำตา เสียงหัวเราะ และความทรงจำ น้ำตาเหือดแห้งได้ เช่นเดียวกับเสียงหัวเราะ แต่ความทรงจำอยู่กับเราชั่วนิจนิรันดร (Life brings tears, smiles & memories. The tears dry, the smiles fade, but the memories last forever.)
รณดล นุ่มนนท์
14 มีนาคม 2565
แหล่งที่มา
- 1/ Th.wikipedia.org. 2022. ความจำชัดแจ้ง - วิกิพีเดีย. [online] Available at: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%87 [Accessed 11 March 2022].
- 2/ the Guardian. 2022. Maximising your memory | Life and style | The Guardian. [online] Available at: https://www.theguardian.com/lifeandstyle/series/maximising-your-memory
[Accessed 11 March 2022]. bangkokbiznews. 2022. ความทรงจำในอดีต กับ ความสุขในปัจจุบัน. [online] Available at: <https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/115524> [Accessed 11 March 2022].
- 3/ bangkokbiznews. 2022. ความทรงจำในอดีต กับ ความสุขในปัจจุบัน. [online] Available at: https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/115524 [Accessed 11 March 2022].
- 4/ Www-cnbc-com.translate.goog. 2022. [online] Available at: https://www-cnbc-com.translate.goog/2022/01/01/a-neuroscientist-shares-the-3-step-brain-exercise-she-does-for-a-stronger-and-healthier-memory.html?__source=iosappshare%7Cjp.naver.line.Share&_x_tr_sl=auto&_x_tr_tl=th&_x_tr_hl=en-US&_x_tr_pto=wapp [Accessed 11 March 2022].