"...อากัปกิริยาของท่านนายกฯ แตกต่างไปจากช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนอย่างขัดเจน โดยเฉพาะช่วงที่ “กลุ่มผู้กอง” ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ (ขับแบบมีนัย) แถมยังย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ย้อนเกล็ดกลับมาป่วนรัฐบาล ทั้งต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และโหวตให้ฝ่ายตรงข้าม แต่วันนี้ท่าทีของ “นายกฯลุงตู่” ไม่เหมือนเดิมแล้ว เหตุผลเป็นเพราะ..."
ผ่านไปเรียบร้อยกับ “ศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ” ปรากฏว่าทิ้งบาดแผลกันไว้ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
นอกจากการยกตัวเองเปรียบเทียบกับตัวละครในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ แถมจองตำแหน่ง “พระเอก” ตามท้องเรื่องแล้ว สังเกตกันหรือไม่ว่าท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอาการเหมือนปลาได้น้ำ คึกคักและตอบโต้ฝ่ายค้านเก่งเป็นพิเศษ
แถมยังพกความมั่นใจ ประกาศก้องกลางสัปปายะสภาสถานว่า “ผมไม่ลาออก”
อากัปกิริยาของท่านนายกฯ แตกต่างไปจากช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนอย่างขัดเจน โดยเฉพาะช่วงที่ “กลุ่มผู้กอง” ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ (ขับแบบมีนัย) แถมยังย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ย้อนเกล็ดกลับมาป่วนรัฐบาล ทั้งต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และโหวตให้ฝ่ายตรงข้าม
แต่วันนี้ท่าทีของ “นายกฯลุงตู่” ไม่เหมือนเดิมแล้ว เหตุผลเป็นเพราะ
1.กลุ่มผู้กองที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐไป ไม่ได้มีเอกภาพจริง เสียงหายไป 5 เสียง จากการถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทยแทน
2.สามาถเข้าไปจัดระเบียบพรรคเล็กได้ระดับหนึ่ง เห็นได้จาก “กลุ่ม 16” ของ ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์ กลายเป็น “กลุ่ม 16 ทิพย์”
3.เสียงสนับสนุนของรัฐบาล แม้หักกลุ่มผู้กองออกไป 16 เสียง ก็ยังมีถึง 248 +3 = 251 เสียง เพราะสองพ่อลูกตระกูลช่างเหลา และ “ส.ส.เบี้ยว” สมศักดิ์ พันธ์เกษม ย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ประหนึ่ง “เรือล่มในหนอง”
4.”บิ๊กป้อม” มีท่าทีอ่อนลง และเริ่มเข้าไปจัดระเบียบในพรรคพลังประชารัฐ พยายามแก้ปัญหาสภาล่ม รวมถึงรับประกันว่า พรรคเศรษฐกิจไทยยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
5.ได้รับคำยืนยันจากพรรคภูมิใจไทยว่าจะไม่แตกแถว จะอยู่ร่วมกันไปกระทั่งครบวาระ แถมยังได้รับข้อมูล (โพย) จาก “สีดาอนุทิน” ว่าหาเสียงสนับสนุนได้ 260 เสียงสบายๆ โดยไม่นับกลุ่มผู้กอง ทำให้กลุ่มผู้กองมีอำนาจต่อรองลดลงเยอะ (เพราะภูมิใจไทยทำได้จริง)
6.กลุ่ม 6 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ แท็กทีมช่วยนายกฯ โดยเฉพาะตัวประสานสำคัญ “ดร.แด๊ก ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกรัฐบาล ประสานได้ทั้ง สามมิตร กลุ่ม ส.ส.ใต้ และกทม. จึงมีการตั้งแถวรอรับนายกฯ และนัดพบปะให้กำลังใจระหว่างศึกอภิปรายทั่วไป
ทว่าแม้ท่าทีของท่านนายกฯ จะเลิกเป๋ไปเป๋มาเหมือนมวยยก 5 แต่ “กูรูการเมือง” ก็ยังเชื่อว่าเดือน พ.ค.65 จะยังเป็น “แนวต้าน” สำคัญของนายกฯ ที่ยากจะข้ามผ่านไปได้ โดยมี 2 ปัจจัยที่ส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นก็คือ
หนึ่ง ความสัมพันธ์กับ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่เหมือนเดิม แม้จะพยายามพูดและสร้างภาพว่าเหมือนเดิมก็ตาม แต่คนที่เป็น ส.ว. หรือคนที่ทำงานในองค์กรอิสระต่างๆ หรือแม้กระทั่ง กสทช.ที่กำลังมีปัญหาจะทูลเกล้าฯหรือไม่ทูลเกล้าฯรายชื่อกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ล้วนตอบได้เป็นอย่างดีว่า พี่น้อง 2 ป.เดินคนละทาง สร้างดาวคนละดวง แต่ละ ป.ล้วนมีคนและแนวทางของตนเองซึ่งสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
เมื่อความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ไม่เต็มร้อยเหมือนเก่า ซ้ำยังกินแหนงแคลงใจกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะปฏิบัติการของผู้กองที่เดินเกมโหวตล้มนายกฯกลางสภาในศึกซักฟอกหนก่อน เมื่อวันที่ 4 ก.ย.64 ซึ่งมีข่าวโค่น “บิ๊กตู่” เพื่อให้ “บิ๊กป้อม” ขึ้นเป็นนายกฯแทน ต้องบอกว่าบาดแผลนี้ยังสดใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ คงลืมไม่ได้ง่ายๆ
ยิ่งโดนหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อภิปรายย้ำหัวคะปูเข้าไปอีก ยิ่งยากที่ “น้องตู่” จะยอมฝากชีวิตทั้งหมดไว้กับ “พี่ป้อม” เหมือนที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการเดินเข้าสู่ลานประหารอย่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะสามารถยื่นญัตติได้หลังเปิดสมัยประชุมสภาสมัยหน้า (22 พ.ค.65) ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ นายกฯย่อมไม่ยอมเสี่ยง เพราะผลเสียหายจะร้ายแรงที่สุด (เป็นนายกฯคนแรกที่แพ้โหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เดรดิตต่างๆ ย่อมสิ้นสูญ) จึงเชื่อกันว่าสุดท้ายนายกฯจะยุบสภา
สอง จังหวะก้าวทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทย กำลังถูกจับตาอย่างมาก โดยเฉพาะคำรับประกันสนับสนุนรัฐนาวา พร้อมพายเรือส่ง “ลุงตู่” ให้อยู่ครบวาระ
หลายคนสับสนกับท่าทีของพรรคภูมิใจไทย เพราะจำนวน ส.ส.ถึง 62 คนในขณะนี้ สามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เลย และตัวเองก็เพิ่ง “เปิดหน้าชก” กับนายกฯและอีก 1 ป. คือ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในประเด็นการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
พรรคภูมิใจไทยกร้าวถึงขนาดสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในทางการเมือง ด้วยการให้ 7 รัฐมนตรีของพรรคบอยคอตการประชุม ครม.ทั้งหมด แต่พรรคภูมิใจไทยก็ไม่มีทีท่าว่าจะถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลเองก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะะผลักดันเรื่องขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปให้สุดทาง
สาเหตุที่ภูมิใจไทยอยู่นิ่งๆ ยอมอยู่ใต้เงา “บิ๊กตู่” ก็เพราะ
1.เงื่อนไขการร่วมรัฐบาลตอนนี้ดีที่สุดแล้ว ได้คุมเบ็ดเสร็จ 2 กระทรวงหลัก โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่เป็นกระทรวงเกรด A+ รับผิดชอบโครงการเมกะโปรเจคมากมายมูลค่าหลายแสนล้านบาท
2.สถานการณ์บ้านเมืองยังวิกฤติ ทั้งวิกฤติโรคระบาด (โควิด / อหิวาต์หมู) และวิกฤติเศรษฐกิจ (ปัญหาปากท้อง) ถ้าภูมิใจไทยเป็นแกนนำรัฐบาล อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ ก็จะตกเป็นเป้าถล่มโจมตี แต่ตอนนี้ “บิ๊กตู่” ทำหน้าที่เป็น “ตำบลกระสุนตก” แทน ส่วนพรรคตัวเองเป็นเป้าน้อยกว่า หรือบางเรื่องก็อาจหลบหลังนายกฯได้เลย
ฉะนั้นในบทบาท “นางสีดา” ที่ อนุทิน เอ่ยปากสวมบทเอาไว้ จึงเลือกอยู่กับ “พระราม” ต่อไป แม้จะสามารถ “คบซ้อน” ได้ เหมือนที่ ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ว่าไว้ก็ตาม
ท่าทีของภูมิใจไทย ณ เวลานี้ คือ สะสมทุน สะสมคนให้พร้อมเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง และกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องรีบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเร็วนัก เพราะสถานะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็สามารถสะสมได้ทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกันได้อยู่แล้ว
ย้อนดูเส้นทางพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 62 จะเห็นว่าเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีแต่ “เลือดไหลเข้า”
เลือกตั้งปี 62 - ได้ ส.ส. 51 คน
ธ.ค.62 - รับเข้า 1 คน จำนวนส.ส.เพิ่มเป็น 52 คน (กรณี ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่)
ก.พ. 63 - รับเข้า 9 คน จำนวน ส.ส.เพิ่มเป็น 61 คน (กรณีพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ)
ต.ค.64 - รับเข้า 1 คน จำนวน ส.ส.เพิ่มเป็น 62 คน (กรณี พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ถูกขับออกจากพรรคเพื่อไทย)
ก.พ.65 รับเข้า 3 คน จำนวน ส.ส.เพิ่มเป็น 65 คน (กรณี สองพ่อลูกช่างเหลา และ ส.ส.เบี้ยว สมศักดิ์ พันธ์เกษม ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ)
แต่ที่ผ่านมามี ส.ส.ภูมิใจไทยถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 3 คน จากคดีเสียบบัตรแทนกัน และคดีอาญาส่วนตัว ทำให้มี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้จริง 62 คน
นอกจากนั้น หากย้อนดูคะแนนโหวตในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 4 ก.ย.64 จะพบว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านยกมือไว้วางใจ หรืองดออกเสียงให้กับ อนุทิน และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ถึง 9 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย 4 คน และพรรคก้าวไกล 5 คน
คาดการณ์ได้ว่า เมื่อมีการยุบสภา หรือรัฐบาลอยู่ครบวาระ และเตรียมเลือกตั้งใหม่ ส.ส.เหล่านี้จะย้ายเข้าค่ายภูมิใจไทยทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ทำให้พรรคนี้กลายป็นพรรค 70-80 เสียง
ฉะนั้นที่มีข่าวกระเซ็นกระสายว่า พรรคภูมิใจไทย “คิดการใหญ่” ตั้งเป้า ส.ส.เอาไว้ที่ 100 เสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
พัฒนาการทางการเมืองในห้วง 15 ปีที่ผ่านมาของพรรคภูมิใจไทย ต้องบอกว่าน่าสนใจจริงๆ จากเดิมตั้งไข่ในนาม “กลุ่มเพื่อนเนวิน” พลิกขั้วมาจากพรรคพลังประชาชน (รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์) หันไปสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่กลุ่มตัวเอง ตอนนั้นมี ส.ส.ราว 32 คน ได้คุมกระทราวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม สองกระทรวงเกรด A+
จากนั้นการเลือกตั้งปี 54 แม้จะผิดพลาด ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากอย่างที่คิด แต่ก็ยังอยู่ในระดับ “พรรคขนาดกลาง” เป็นตัวแปรทางการเมืองได้ คือได้มา 34 ที่นั่ง กลายเป็นฝ่ายค้าน
กระทั่งเลือกตั้งปี 62 หลังการรัฐประหาร ได้ ส.ส.มา 51 ที่นั่ง จากนั้นก็มี ส.ส.ไหลเข้าต่อเนื่อง กลายเป็นพรรค “ค่อนร้อย” ในปัจจุบัน
ด้วยจำนวน ส.ส.ฝากเลี้ยงอย่างน้อย 9 คน ทำให้พรรคภูมิใจไทยกล้าการันตีนายกฯว่าหาเสียงสนับสนุนได้ถึง 260 เสียงได้อย่างแน่นอน โดยไม่นับรวม “กลุ่มผู้กอง”
ตัวเลขนี้ไม่ได้เลื่อนลอย เพราะ...
จำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ เท่าที่โหวตได้ - 474 เสียง
เกินกึ่งหนึ่ง - 238 เสียง
ส.ส.รัฐบาล (หักกลุ่มผู้กอง) - 251 เสียง
ฝ่ายค้าน (ยังไม่รวมกลุ่มผู้กอง) - 207 เสียง
เสียงรัฐบาล 251 เสียง ขาดไป 9 เสียงก็จะครบ 260 ซึ่งก็เท่ากับจำนวน ส.ส.ฝากเลี้ยงของพรรคภูมิใจไทยพอดี
นี่คือหลักฐานที่พรรคภูมิใจไทยยืนยันว่า “ทำได้จริง"
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า สัจธรรมการเมืองนั้น ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน และผลประโยชน์ย่อมไม่เข้าใครออกใคร ฉะนั้นด้วยความพร้อมระดับนี้ จำนวนเสียงสนับสนุนเหลือเฟือแบบนี้ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่พรรคภูมิใจไทยจะทำตัวเป็น “สีดาคิดการใหญ่” ล้มนายกฯกลางสภา และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาเสียเอง
หากเงื่อนไขที่ว่านี้คุ้มกว่าสถานะที่ดำรงอยู่ มีหรือพรรคภูมิใจไทยจะไม่ฉกฉวย และมีนักการเมืองคนไหนบ้างที่ไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรี
สถานะของ อนุทิน ชาญวีรกูล ปัจจุบันคือ 1 ใน 5 แคนดิเดตนายกฯในกลุ่มที่มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อ และยังเหลืออยู่ในสนามการเมือง โดยเขาเป็นเพียงคนเดียวที่เป็น ส.ส. ที่เหลือไม่ได้เป็น ส.ส. บางคนไม่ได้สังกัดพรรคที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตแล้วด้วยซ้ำ (เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์)
คำถามคือ อะไรจะสามารถการันตีความแน่นอนของพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะหากนายกฯไม่ยอมให้ “ขี่คอ” อีกต่อไปในประเด็นขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
และนายกฯจะกล้าเสี่ยงเดินไปสู่ลานประหารหรือไม่ ถ้าไม่ยอมให้ภูมิใจไทยขี่คออยู่ตลอดเวลา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า นางสีดากำลังคิดการใหญ่อยู่จริงๆ!