"...ปัญหาที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย อย่างสองคือ การรับผิดชอบร่วมกันในการเดินทางของผู้คนในสังคมยังไม่เกิดขึ้น ต้องสร้างกระแสให้มีแรงผลัก ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง สะท้อนผ่านเรื่องการสวมหมวกนิรภัย การไม่ปฏิบัติของทั้งสองฝั่งทั้งคนขับและฟากของ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่บังคับใช้กฎหมาย ยังละเลยไม่เข้มงวด ทำให้การฝ่าฝืนเป็นวัฒนธรรมความคุ้นชินกับการทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยของคนในสังคม เช่น ไม่ต้องสวมหมวกนิรภัย เช่นเดียวกับคนเดินข้ามทางม้าลายที่ต้องปล่อยให้คนขับรถผ่านหน้าตัวเองไปก่อน เป็นภาพคุ้นชินในสังคม..."
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวในการบรรยายพิเศษ “หมอชวนรู้” ครั้งที่ 1 เรื่อง อุบัติเหตุจราจร แก้ไขได้อย่างไรในมุมมองทางการแพทย์ อุบัติเหตุจราจรบนทางม้าลายไม่สมควรเกิดขึ้นหากทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจร การจากไปของคุณหมอกระต่ายซึ่งเป็นสมาชิกของแพทยสภา นำมาซึ่งความสูญเสียของครอบครัวและทางการแพทย์เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่สมควรที่จะเกิดเหตุแบบนี้บนทางม้าลายซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย
ด้าน ศาสตร์การจราจร นพ.อำนวย กาจีนะ นายกสมาคม เวชศาสตร์การจราจรกับบทบาทการร่วมแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร โดย นายกสมาคมเวชศาสตร์การจราจร กล่าวถึง ปัญหาความสมดุลทางคุณภาพความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนประเภทคนเดินเท้า : ระดับสากลมองว่าความปลอดภัยทางถนนต้องให้ความเท่าเทียมกับทั้ง 4 กลุ่ม ในการพัฒนาระบบความปลอดภัย ตั้งแต่ กลุ่มหลักคือคนขับรถ (มากกว่า 50%) กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ กลุ่มผู้ใช้จักรยาน ซึ่งหลายประเทศถือเป็นกลุ่มที่สะท้อนถึงสิทธิผู้ใช้ถนน โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบ zero accident จะใช้มาตรฐานนี้เป็นตัวบ่งชี้ แต่ก็ยังน้อยกว่ากลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มคนเดินเท้า ซึ่งองค์กรที่ได้รับการยอมรับระดับสากลหรือ iRAP ได้วางมาตรการที่องค์กรระหว่างประเทศรับรองและนำมาใช้ปรับปรุงกายภาพถนน
หลังจากกรณีคุณหมอกระต่ายมีการพูดถึงเรื่อง Rating star ถนนประเทศไทย ที่ต้องหันมาดูแลคนเดินเท้าผ่านการจัดการทางเท้าและฟุตบาธให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการผลักดันกฎหมาย safety law ผลักดันให้ผู้เล่นแต่ละระดับที่จะร่วมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้าได้อย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีความชัดเจนน้อยมากทั้งในระดับนโยบายและรูปธรรมการปฏิบัติการ
นอกจากนี้ บทบาทของท้องถิ่น เป็นเรื่องที่พูดกันมากต้องให้ความสำคัญ นานาอารยะประเทศ ที่ประสบความสำเร็จ คือ กระจายอำนาจไปยังความรับผิดชอบของท้องถิ่นมากขึ้น แต่จะให้ความเจริญเท่ากันยังเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละท้องถิ่นมีทุนไม่เท่ากัน สำหรับแพทยสภาตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องป้องกันได้ เพราะมาจากปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นหรือไม่
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยภางถนน สะท้อนปัญหาอุบัติเหตุจราจรคนเดินเท้าในเมืองใหญ่อย่างไรบ้าง ว่าเรากำลังช่วยกันหาทางออกทางการแพทย์ ในมิติที่มองปัญหาจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น ช่วงเช้าก็มีข่าวเพิ่มมาเรื่อยๆ ลักษณะการพาดหัวข่าวจะเปลี่ยนไปทั้งที่มีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นทุกวัน แต่แบบแผนการเกิดเหตุยังเหมือนเดิม เช่น ขับมาด้วยความเร็ว ไม่เห็นข้างหน้าเป็นทางม้าลาย หรือทางข้าม หรือไม่เห็นคนข้ามทางอยู่ข้างหน้า เปลี่ยนช่องทางเมื่อรถข้างหน้าหยุด ฯลฯ เป็นพฤติกรรมการขับขี่ของคนไทย
หากไล่เรียงแบบแผนความสูญเสียที่เกิดขึ้น และใช้มุมมองเรื่องนี้แบบภูเขาน้ำแข็ง ยอดภูเขาเราจะพบความสูญเสียจากอุบัติเหตุมากกว่าสองหมื่นราย โดยช่วงสถานการณ์โควิดไทยสูญเสียลดลงมาเหลือ 1.7 หมื่นราย จะพบว่า 6-8% เป็นคนเดินถนน หนึ่งในสี่เป็นคนเดินข้ามถนน ทั้งทางม้าลายและทางอื่นๆ ตกปีละสามถึงสี่ร้อย บางปีถึงห้าร้อย ข้อมูลจากสาธารณสุข พบว่า 5% บาดเจ็บรุนแรง ส่งผลให้มีผู้พิการ ซึ่งที่ผ่านมาเราจะมีผู้พิการหลักหมื่นคน ที่มาจากแบบแผน 1) กายภาพไม่ชัดเจน 2) ทางมีหลายช่องจราจร ทำให้เกิดจุดบดบังสายตาระหว่างข้าม 3) คนขับใช้ความเร็ว ไม่ชะลอ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ 4) คนเดินเท้าไว้ใจทางม้าลายเกินไป หรือถูกดึงสมาธิจากการใช้มือถือหรือหยอกล้อ เราเห็นแบบแผนสำคัญของการเกิดเหตุ คือ (1) กายภาพที่ไม่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาณ หรือไฟ จุดบอดของการข้ามม้าลายที่มีหลายช่องทาง มีจุดบดบังสายตาเวลาข้าม (2) คนขับมาเร็ว ฝ่าฝืน พวกฝ่าฝืนและมักมาชนเบอร์แรกเป็น มอเตอร์ไซด์ (3) คนข้ามเองไว้ใจทางม้าลายเกินไป ...นึกว่าคนขับจะหยุด แต่ไม่หยุด การโดน distract จากมือถือ
ตัวล่างของภูเขาน้ำแข็ง ถ้าเรายอมรับ อย่างต่างประเทศยอมรับว่า Human makes the error อย่างลืมคาดเข็มขัดนิรภัย แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเตือน ผิดกับทางม้าลาย เราไม่มีจุดป้องกัน ต้องมาสร้างระบบความปลอดภัย (Safe System) มุมมองแบบ Swiss Cheese ตรงมนุษย์ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง จะถูกแรงปะทะได้จำกัด สูญเสียได้ง่าย ต้องจัดการความเร็ว ตัวถนน ตัวรถ จากหลักคิดพื้นฐานเมื่อมาขยายความกับเคสนี้ คือ นำ Swiss ฉheese มีรูโหว่สำคัญคือ มนุษย์
เรายังพบว่า การศึกษาของต่างประเทศพวกที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรมี 1 ใน 3 แต่ในบ้านเราพบผู้ฝ่าฝืน 50:50 เคสเจอคนชะลอข้างหน้า ออกขวาทันทีโดยไม่ได้คิดว่า มีการหยุดรถให้คนข้ามถนน ต้นทางคือ ต้องมีระบบหรือองค์กรหรือหน่วยจัดการ ถ้าทำให้ Swiss Cheese เกิดต้นทางคือ ท้องถิ่น ภาครัฐอย่างศูนย์ถนน มีกำกับนโยบายลงมาทำให้ไม่เกิดความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้เป็นหลักพื้นฐาน ปีหนึ่งเรามีเคสสาหัสแบบนี้มาก ปีหนึ่งเป็นหลักหมื่น แต่อย่าโทษแต่คนอย่างเดียว ต้องอุดรูโหว่สภาพเงื่อนไขที่ไม่ปลอดภัยด้วย แพทยสภาคงต้องช่วยกันสะท้อนข้อมูลร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขทุกไตรมาส ว่าเรามีความสูญเสียเป็นอย่างไร แบบแผนการชนเป็นอย่างไร รถรุ่นใหม่สร้างความรุนแรงการชนอย่างไร ทำไมการบาดเจ็บหนักขึ้นเรื่อยๆ
ตัวช่วยสำคัญช่วงนี้คือ กระแสสังคม ถ้าสร้างให้เกิดการ safety คือ สร้างความปลอดภัย มีกลไกสนับสนุน และฝ่ายนิติบัญญัติทางสภาฯ มาช่วย อย่างเช่น การหลบรถพยาบาล สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ปัจจุบันคนให้ทางกับรถพยาบาล ตั้งแต่มีเคสหมอกระต่าย มีการปรับพฤติกรรมการจอดรถไม่ทับทางม้าลาย ถ้าช่วยผลักดันให้เกิดกระแสสังคม จะช่วยทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมได้ อย่าง กทม.ทำ traffic calming มีการติด CCTV จะสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง อยากเห็น City limit ที่ลดลง ซึ่งเป็นโจทย์ ระยะยาว ถ้าบ้านเราทำ pedestrian safety คือ มี city speed limit จะสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ระยะยาว อย่างการสอนเด็กให้เด็กมองซ้ายมองขวา ก่อนข้ามถนนเวลาข้ามให้ยกมือ ขณะนี้ กทม.ขยับทางกายภาพ ใช้ AI ช่วยได้มากขึ้น เราต้องหนุนให้ระยะยาวสังคมมี safety culture ถ้าทำได้ระยะยาว จะเป็นการแทนความรำลึกคุณหมอกระต่าย
ด้าน นายสุระชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวถึง “สิทธิของคนเดินถนนและหน้าที่ของสังคมที่ต้องปกป้องคนเดินถนน ในระบบสังคมและการเมืองไทย” ว่า สิทธิของคนเดินเท้า ในฐานะเป็นนักกฏหมายและอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องเรียนให้ทราบว่า สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มาตราแรก รธน.มาตรา 28 ที่คุ้มครองสิทธิและร่างกายของประชาชน ไม่ว่าใครจะไม่สามารถละเมิดด้วยวิธีการใดๆ ไม่ได้ การถูกรถชนถือว่าละเมิด มาตราที่ 2 สิทธิเสรีภาพการเดินทางของประชาชน มีสิทธิในการเดินทางที่อิสระและเสรีภาพที่ต้องปลอดภัยด้วย เมื่อ รธน. รองรับสิทธิเสรีภาพไว้อย่างนั้น รัฐ ในมาตรา 56 ที่กำหนดไว้ว่า รัฐต้องจัดสรรสาธารณูปโภคที่จำเป็นแก่ประชาชน รัฐต้องจัดให้ และการจัดสาธารณูปโภคนี้รัฐต้องดูแลให้ปลอดภัยด้วย
ปัญหาที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย อย่างสองคือ การรับผิดชอบร่วมกันในการเดินทางของผู้คนในสังคมยังไม่เกิดขึ้น ต้องสร้างกระแสให้มีแรงผลัก ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจัง สะท้อนผ่านเรื่องการสวมหมวกนิรภัย การไม่ปฏิบัติของทั้งสองฝั่งทั้งคนขับและฟากของ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่บังคับใช้กฎหมาย ยังละเลยไม่เข้มงวด ทำให้การฝ่าฝืนเป็นวัฒนธรรมความคุ้นชินกับการทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยของคนในสังคม เช่น ไม่ต้องสวมหมวกนิรภัย เช่นเดียวกับคนเดินข้ามทางม้าลายที่ต้องปล่อยให้คนขับรถผ่านหน้าตัวเองไปก่อน เป็นภาพคุ้นชินในสังคม
ต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดลุกมาแก้ปัญหาความรับผิดชอบเหล่านี้ด้วยกัน ร่วมกัน ฝ่ายนิติบัญญัติพร้อมขับเคลื่อน แต่จะเราฝากความหวังไว้กับผู้บริหารบ้านเมืองไม่ได้ เพราะมีเหตุจำกัด มีการหมุนเวียนเปลี่ยนนโยบายของภาคการเมือง ภาครัฐถ้าไม่ถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง ทำงานยากไม่สามารถมาทำได้จริงจัง อีกปัญหาที่ถูกยกมาอย่างอ้างถึงเสมอ คือ “ไม่มีงบประมาณ” ตนเชื่อว่า เราต้องมาหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ปลุกสังคมให้ตื่นรู้รับผิดชอบ สร้างความปลอดภัยให้คนเดินเท้าในสังคมไทย
ส่วน “อุบัติเหตุจราจรคนเดินเท้า จะแก้ไขได้อย่างไรในสายตาของแพทย์ โดย นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาของ WHO ด้านการป้องกันการบาดเจ็บ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย กล่าวถึงความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของครอบครัว องค์กร สังคม ประเทศชาติ ในส่วนนี้เป็นความสูญเสียมูลค่ามหาศาล ทางเศรษฐกิจมากกว่า 881 ล้านบาท ซึ่งกรณีถูกชนบนทางม้าลายนี้มีมานาน จะเป็นข่าวใหญ่เมื่อเกิดกับคนสำคัญหรือชาวต่างชาติ ที่เคยเสียชีวิตในไทยขณะที่ถือธงข้ามทางม้าลาย ซึ่งความสูญเสียในกลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มได้แก่ คนขี่รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า คนขี่จักรยาน ของไทย รวม 92.66% สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในแต่ละปี จะมีคนเดินถนนถูกรถชน เสียชีวิต เกือบ 500 คน บาดเจ็บ 40,000 คนกว่าครึ่งถูกมอเตอร์ไซค์ชน
ภาพเจ็บตายบนยอดภูเขาน้ำแข็งมีปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งคือ 1) ทัศนคติของคนไทย :- คนเดินถนน ไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้บริหารและคนขับรถยนต์ 2) นิสัยคนไทยคุ้นเคยชินกับการขับรถเร็ว 3) ทางม้าลายที่ใช้กันอยู่ยังไม่ได้มาตรฐาน เส้นไม่ชัด กายภาพถนนต้องมีเฟอร์นิเจอร์เพื่อสร้างความปลอดภัยมากกว่านี้ เช่น ไฟสัญญาณให้คนข้าม 4) การจอดรถให้คนข้ามบนทางม้าลายไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทย ทางม้าลายยังไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยของคนเดินข้ามถนน ทางม้าลายที่เป็น safe zone ยังไม่มีในไทย 5) การบังคับใช้กฎหมายบ้านเรายังหย่อนยานอยู่มาก
คำถามคือ “ทำอย่างไรจึงจะจัดการปัญหานี้ได้” จากการประชุม 12th the world conference for injury prevention, safety 2016 @Finland มีคำกล่าวสำคัญว่า “The quickest win is to slow traffic. Let’s make the footpath & the speed hump the polio vaccine for this generation of children” และเพื่อไม่ให้การเสียชีวิตของคุณหมอกระต่าย ไม่เป็นการสูญเสียที่สูญเปล่า ขอเสนอถึงท่านนายกรัฐมนตรีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เครือข่ายสื่อมวลชน ประชาชน ประชาสังคม ทุกภาคส่วน ดังนี้
1) วัฒนธรรมการหยุดรถให้คนเดินข้ามตรงทางข้าม
2) การขับขี่รถไม่เกิน 30 กม./ชม. ในเขตชุมชนเมือง (ตามข้อแนะนำในแผนโลกเพื่อความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก – 2021)
3) การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดจริงจัง
4) การปลูกฝังสร้างวินัยเด็ก เยาวชน ประชาชน ให้ข้ามถนนอย่างปลอดภัย ข้ามถนนบนทางม้าลาย และหยุดรถให้คนเดินข้าม ผ่านระบบการศึกษาและการและการรณรงค์ทุกช่องทาง
5) การปรับเปลี่ยนทางข้ามทุกแห่งทั่วประเทศให้ได้ตามแบบมาตรฐาน...ทางข้าม ไม่ใช่แค่ทางม้าลาย
ด้าน พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์ ในฐานะเพื่อนของคุณหมอกระต่ายและเป็นประชาชนคนหนึ่ง กล่าวสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาจราจรที่มีมานานและยังแก้ไขไม่ได้ซึ่งจะทำให้คนเสียชีวิตมากขึ้น วันนี้เราตื่นตัวเพราะคนที่เสียชีวิตเป็นเพื่อนเรา ประกอบกับตัวเองเป็นหมอห้องฉุกเฉินที่เจอเคสมากกว่าแปดเคสในแต่ละวันต้องรับภาระในการดูแลเคสอุบัติเหตุ
สำหรับข้อมูลวันนี้มีความสมบูรณ์มากหากมีการผลักดันผ่านช่องทางไหนให้เกิดรูปธรรมให้เร็วที่สุด ตอนนี้ยังไม่มีใครเฝ้าระวังและตามดูการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดต่อเนื่องให้มากที่สุด รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางม้าลายไม่ปลอดภัย ที่ผ่านมา เรามีการจัดการหลังเกิดเหตุ อาทิ ทาสี ติดตั้งไฟสัญญาณ ซึ่งไม่มั่นใจหากกระแสซาลงจะยังคงมีการปรับปรุงต่อหรือไม่ คงต้องอาศัยความรู้จากวิศวกรที่จะทำให้ทางม้าลายปลอดภัยถูกหลักวิศวกรรมจราจรด้วย หากจะมีกายภาพที่ถูกต้องซึ่งต้องมีอีกหลายองค์ประกอบมากกว่าการทาสีและติดตั้งไฟ เชื่อมั่นในพลังของแพทยสภา และกลุ่มหมอที่ร่วมกันลุกขึ้นมาเรียกร้อง ยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ให้เกิดทางม้าลายที่ปลอดภัยสำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ดี ต้องการให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้บังคับโทษสถานหนัก เพราะบังคับคนได้ตลอดไปมากกว่ากระแสสังคมที่อาจจะซาลง และไม่อยากให้ทุกเรื่องในประเทศไทยเป็นภาระของประชาชนเพราะรัฐบาลไม่สามารถดูแลประชาชนตนเองได้ ตอนนี้กลุ่มเพื่อนกระต่าย รามา 42 อยากผลักดันด้านกฎหมายและกายภาพทางม้าลาย ได้เริ่มให้ประชาชนลงชื่อผ่าน change.org เพื่อยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ให้ 1) กายภาพทางม้าลายต้องปลอดภัยอย่างแท้จริง 2) รณรงค์จำเป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีกฎหมายบังคับใช้ในทางม้าลาย 3) บังคับใช้กฎหมายและลงโทษผู้ขับขี่อย่างจริงจัง 4) ออกกฎหมายให้ชัดเจน 5) ปรับบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นกรณีชนคนข้ามทางม้าลาย
พญ.ธารทิพย์ ตันชวลิต เป็นอีกหนึ่งตัวแทนจากกลุ่ม rabbit crossing ที่ต้องการสื่อไปยังสังคมให้รับรู้และสร้างกระแสไปยังผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นและสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนผลักดันให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ เพราะทุกคนได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ โดยเฉพาะแพทย์ที่ต้องทำหน้าที่ primary prevention ให้แก่ประชาชน ช่วยเหลือชีวิตคนไทยที่ตายเป็นอันดับหนึ่ง แพทยสภาอาจจะจัดแถลงการณ์เสนอต่อรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่ม rabbit crossing และหวังว่าการจากไปของเพื่อนเราจะเป็นจุดจบของความสูญเสียและจุดเริ่มต้นของการป้องกันชีวิตผู้อื่นต่อไป