การใช้ ACT Ai เพื่อประมวลข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ การใช้ COVID Ai ประมวลข้อมูลการใช้งบประมาณและเงินกู้เพื่อเยียวยาวิกฤตจากโควิด เชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นตัวช่วยสำคัญและเป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาประเทศและเป็นตัวช่วยให้ภาคประชาชนสามารถร่วมติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และนี่คือความหวังที่จับจับต้องได้
ความหวังประเทศไทย ไร้คอร์รัปชัน
ได้เขียนถึงพฤติกรรมและความเลวร้ายของคอร์รัปชันไว้มากแล้ว บทความนี้จึงรวบรวมความจริงที่เกี่ยวกับการ “ต่อต้าน” คอร์รัปชันมาบอกเล่าโดยสรุปให้ทุกท่านทราบ ว่าวันนี้ภาครัฐกำลังทำอะไร เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และอะไรคือตัวช่วยสำคัญที่ทำให้การต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันยังเป็น “ความหวัง” สำหรับคนไทย
ความจริง: มาตรการภาครัฐมี แต่ติดปัญหาภาคปฏิบัติ
1. โครงการ “มีดีต้องแชร์” โดย ศอตช. ได้รวบรวมข้อมูลจากองค์กรอิสระฯ และหน่วยงานรัฐพบว่าแต่ละแห่งได้สร้างเครื่องมือเพื่อป้องกันคอร์รัปชันและยกระดับธรรมาภิบาล สนับสนุนการบริการประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร มีจำนวนรวมกันราว 1,430 รายการ เช่น กลุ่มที่เป็นนวัตกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ประโยชน์ เช่น เว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ของ DGA เว็บไซต์ “ไทยมี” ของสภาพัฒน์ฯ ระบบ e - GP และ GF - MIS ของกรมบัญชีกลาง แชทบอท “น้องดินดี” ของกรมพัฒนาที่ดิน แอปพลิเคชันสมาร์ทแลนด์ของกรมที่ดิน และหลายแอปพลิเคชันของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
เครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการป้องกันคอร์รัปชันและยกระดับธรรมาภิบาล เช่น การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) และคลังเครื่องมือป้องกันการทุจริต (Anti – Corruption Toolbox) ของ ป.ป.ช. ระบบจัดการเรื่องร้องเรียนของ ศอตช. การพัฒนาระบบตรวจสอบด้วย Ai ของ สตง. เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการเพื่อยกระดับการบริการประชาชนตามที่ กพร. เสนอแนะและรวบรวม เช่น การบริการออนไลน์แก่ประชาชนและภาคธุรกิจผ่านระบบ e-License, e-Service โดย 325 หน่วยงาน เพื่อความสะดวกของทุกฝ่าย ลดสินบนเงินใต้โต๊ะ โดยลดขั้นตอน ลดเอกสารในการบริการประชาชน ยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสาร ยกเลิกการเขียนคำร้องและค่าธรรมเนียม เป็นต้น ระบบบริการยื่นขอลงทะเบียนออนไลน์และระบบจองคิวออนไลน์ ของกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ
2. มาตรการในระบบราชการที่มีมาก่อนหน้านี้อีกราว 195 รายการ แต่ไม่รวมนโยบายหรือคำสั่งที่เปลี่ยนแปลงไปมาตามยุคสมัย เช่น มติ ครม. คำสั่งตาม ม. 44 หรือคำสั่ง คสช. ที่ไม่มีการปฏิบัติ
ก. ออก พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ เพื่อปฏิรูปการบริการประชาชนของรัฐเพื่อลดความยุ่งยาก ไม่สร้างภาระแก่ประชาชน การออก พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ ที่นำไปสู่โครงการแก้ไข/ยกเลิกกฎหมาย (Regulatory Guillotine) ที่ล้าสมัย หมดความจำเป็น สร้างภาระให้ประชาชน ออก พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นครั้งแรกของประเทศเพื่อสร้างระบบจัดซื้อฯ ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ สร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” และ “คอสต์” (CoST) ที่ช่วยให้การลงทุนของรัฐเป็นไปอย่างคุ้มค่า โปร่งใส ประหยัด
ข. มาตรการตามรัฐธรรมนูญ เช่น ป้องกันนักการเมืองโยกงบประมาณเพื่อพวกพ้อง คัดกรองนักการเมืองที่มีประวัติทุจริตออกไป
ค. การจัดตั้งศาลคอร์รัปชันและสำนักอัยการคดีทุจริตฯ แก้กฎหมายกำหนดเงื่อนไขให้คดีคอร์รัปชันไม่หมดอายุความ มีบทลงโทษรุนแรงถึงประหารชีวิต
ง. การเพิ่มศักยภาพและอำนาจให้หน่วยหลักในการตรวจสอบคือ ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. จัดตั้งกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน จัดตั้ง ศอตช. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ดำเนินการได้รวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น
3. การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและหน่วยตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. ป.ป.ง. และหน่วยงานที่มีบทบาทสนับสนุนและสร้างสรรค์อย่างมาก เช่น กพร. สภาพัฒน์ฯ กรมบัญชีกลาง และ สนง. พัฒนารัฐบาลดิจิตอล ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่กล่าวมานี้ผู้เขียนจะนำเสนอในโอกาสต่อไปเนื่องจากมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างมาก
4. เทคโนโลยีและบิ๊กดาต้า ยุค Digital Disruption ทำให้เราได้เห็นข้อมูลภาครัฐที่มีอยู่มากมายแต่กระจัดกระจายไม่เชื่อมโยงกัน เริ่มถูกดึงมาประมวลผลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานด้านเทคโนโลยี่และการพัฒนาหลายแห่งที่รัฐตั้งเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนวัตกรรมที่เกิดขึ้นทำให้ข้อมูลถูกเผยแพร่เป็นประโยชน์ด้านอื่นๆ มากขึ้น เช่น การใช้ ACT Ai เพื่อประมวลข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ การใช้ COVID Ai ประมวลข้อมูลการใช้งบประมาณและเงินกู้เพื่อเยียวยาวิกฤตจากโควิด
เชื่อว่าในอนาคตเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นตัวช่วยสำคัญและเป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาประเทศและเป็นตัวช่วยให้ภาคประชาชนสามารถร่วมติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และนี่คือความหวังที่จับจับต้องได้ ผู้เขียนลองยกร่าง “สมการความหวังสู้โกง = กฎหมาย + นโยบาย + เครื่องมือ + ช่องทางการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชน” ท่านผู้อ่านคิดเห็นประการใดกันบ้างครับ
ส่งท้าย
ความหวังบนความริเริ่มที่เป็นประโยชน์เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีความต่อเนื่อง จริงจังในการผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง ปฏิบัติจริง พร้อมทั้งมีการพัฒนาต่อยอดต่อเนื่องต่อไป
น่าเสียดายอยู่ว่า หลายหน่วยงานมีเครื่องมือดีๆ ไว้เพื่อให้เห็นเป็นผลงาน หรือมีไว้เพื่อบอกกับคนอื่นว่าตนมีของดีเท่านั้น แต่ไม่มีการปฏิบัติ แถมบางหน่วยงานยังไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาระบบของตนตามนโยบายรัฐหรือแม้แต่ให้ใช้งานได้เท่าเทียมหน่วยงานอื่น สิ่งเหล่านี้จึงไม่ถูกเผยแพร่และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า
อย่างไรก็ตามยังมีสองเรื่องสำคัญที่ไม่เป็นความจริงสักทีคือ การปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและการปฏิรูปตำรวจที่รัฐบาลและรัฐสภาควรเร่งลงมือก่อนอื่นใด
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
นายสุภอรรถ โบสุวรรณ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
11/1/2565