"...ผมโชคดีได้พบสนทนากับอาอี๊วัย73ซึ่งเป็นลูกสาวที่ยังมีชีวิตอยู่ของท่าน(ท่านอายุน้อยกว่าคุณแม่ผมหลายสิบปี เลยกล้าเรียกท่านว่าอาอี๊) ผมว่านี่ก็เป็นบัวอีกกลีบที่คนปทุมธานีภูมิใจ หน้าวัดศาลเจ้านี้คือจุดตักน้ำพลีกรรมศักดิ์สิทธิ์ส่งไปร่วมในพิธีสำคัญของบ้านเมืองมาเสมอ บรรดาตลาดท่าน้ำของชุมชนปทุมธานีมีชีวิตชีวา และหากใครได้ชิมเป็นต้องติดใจในรสชาติที่หลากหลายวัฒนธรรมสะสมไว้ให้สืบทอดเป็นรุ่นมา ผัดไทยหอยทอด ขนมจีนซาวน้ำ ขนมตาล ตลอดจนขนมกุยช่าย และก๋วยเตี๋ยวเรือสารพัดเจ้าล้วนให้รสดั้งเดิมดี..."
ด้วยความอยากรู้ ว่าทำไมผู้ว่าณรงค์ศักดิ์หรือผู้ว่าหมูป่าจึงทุ่มเทอยากเปิดเมืองให้ปทุมธานีขยับขยายจากเมืองแล่นรถผ่านไปเป็นเมืองจุดหมายของการท่องเที่ยว
ถึงขนาดที่ ท่านไม่เพียงแถลงข่าวเตรียมรับทริปล่องเรือสำรวจเมืองปทุมธานีของ "ชมรมภาคีท่องเที่ยวไทย" ที่นัดกันไปลงเรือเยี่ยมเยือนเมืองของท่าน ถิ่นดังตำนานดี มหาวารีเจ้าพระยา แต่ยังประกาศไม่ไปร่วมสมัครแข่งขันศึกเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในรอบนี้เพราะจะอยู่ทำเรื่องเปิดเมืองปทุมธานีเองอีกด้วย
ผมจึงตัดสินใจไปร่วมทริปกับ "ชมรมภาคีท่องเที่ยวไทย" ที่กำลังจะออกเรือจากท่าเรือริเวอร์เดลของกลุ่ม MBK เพื่อเยี่ยมชมปทุมธานีแบบปุปปัปชนิดไม่ต้องรอเชิญ!!
ไปเต็มหนึ่งวัน ตั้งแต่ฟ้าสางยันฟ้ามืด ผมกลับบ้านที่นนทบุรีมาด้วยความประทับใจในสิ่งที่ได้ไปดู ไปรู้มา หลายอย่างเลยครับ
ความประทับใจในทักษะการบริหารของผู้ว่าหมูป่านั้น ยังไม่ต้องเอามานับนะครับ การบริหารภาวะวิกฤตในฐานะพ่อเมือง ผู้บัญชาการเหตุการณ์สำคัญหลายต่อหลายหน ทั้งที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอนที่แม่สาย การแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันที่ลำปาง การจัดเรียงลำดับความสำคัญระดมราษฏรลำปางให้ได้เข้าฉีดวัคซีนต้านโควิด19จนเป็นสถิติสูงสุดของประเทศ หรืออันล่าสุดที่สร้างศรัทธาต่อมุมมองของความเป็นนักบริหารของท่านก็คือ เมื่อกรุงเทพมหานครมีสภาวะคนป่วยโควิดอัดแน่นในทุกระบบรักษาพยาบาล
แต่ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ประกาศเปิดเมืองรับผู้ติดเชื้อโควิดชาวลำปางทั้งหมดกลับบ้านเพราะท่านถือว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องพึงกระทำ ไม่ใช่มุ่งเพียงจะเอาเมืองตัวเองรอดด้วยการพยายามปิดสกัดคนที่จะกลับมาหาบ้านเกิด
อย่างนี้ ผมเรียกว่าเป็นบัวกลีบที่หนึ่ง ที่น่าไปสัมผัสของปทุมธานีคงได้
บัวกลีบที่สองที่ผมไปเห็นในหนนี้ คือความเป็นอดีตเมืองท่านานาชาติครับ
ในยุคกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่นั้น โปรตุเกส ฮอลันดา จีน แขก แม้แต่ญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศสที่จะไปให้ถึงกรุงศรีอยุธยาล้วนต้องแล่นเรือจอดรอที่ปทุมธานี
เพราะวันนี้แม้ใครมีเรือยนต์ดีๆทันสมัย แต่การจะแล่นเรือสวนสายน้ำเจ้าพระยาจากกรุงเทพถึงปทุมธานีก็ต้องใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง ดังนั้นในยุคเรือสำเภาช่วงสองสามสี่ร้อยปีนั้น กว่าจะเดินเรือจากปากอ่าวที่สมุทรปราการมาถึงย่านสามโคก ก็ต้องหมดไปเป็นวันๆ ความเป็นเมืองหน้าด่านปราการทางน้ำของอโยธยาจึงอยู่แถวปทุมธานีนี่เอง
ความหลากหลายแห่งนานาอารยะและวัฒนธรรมจึงถูกสั่งสมไว้ที่นี่เป็นจำนวนมาก บัวกลีบนี้ จึงคล้ายบัวที่เลยจากการบานกลีบไปเป็นฝักที่ให้เมล็ด ส่วนจะใช้กินใช้ต้มใช้เพาะก็คงเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ใหม่ที่อาจทำขึ้นใหม่ตามแผนเปิดเมืองของท่านผู้ว่าฯและประชาสังคมชาวปทุมธานีต่อไป
ครั้นเมื่อสยามได้ย้ายราชธานีไปธนบุรีและรัตนโกสินทร์เมื่อราว250ปีที่แล้วนั่นเอง ที่เรือต่างชาติสามารถเข้าถึงราชธานีใหม่ได้โดยไม่ต้องรอผ่านเมืองท่าของปทุมฯ
ครั้นพอสะพานของถนนใหญ่สายหลักๆพากันยกตัวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหลายต่อหลายจุด แถมมีถนนพหลโยธิน แล่นตัดผ่าทุ่งรังสิต ก็ทำให้เขตของปทุมธานีซอยออกเป็นหลายชิ้น ชุมชนเมือง ก็มีทั้งลำน้ำหลักของเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย หรือเจ้าพระยาสายเดิมมาผ่าแบ่ง คนจำนวนไม่น้อยเลยไม่ได้สังเกตเห็นความเป็นเมืองท่าแห่งนี้ไป
อีกกลีบกลุ่มงามของที่นี่เกิดเมื่อครั้งรัชกาลที่5 ทรงให้ขุดคลองยาวเริ่มระบบการชลประทานของสยาม เช่นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายก ระบบนาเส้นและคลองซอยแห่งทุ่งรังสิตปทุมธานีนี่แหละ ที่เป็นจุดเริ่มแรกของกรมคลองที่แปลงเป็นกรมชลประทานในปัจจุบัน และเพราะนาย่านนี้มีระบบน้ำรองรับดีเยี่ยม จีน มอญ ลาว แขกมลายู ทั้งที่ถือคริสต์ถือพุทธแลอิสลามย้ายมาอาศัยทำนา และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดมา
นี่ก็อีกเรื่องราวของกลีบบัวงามที่น่าจดจำ
คนใช้รถสัญจรมักมองปทุมธานีไม่ออก เพราะหลงนึกเห็นแต่อำเภอเมืองปทุมธานีว่าเป็นจังหวัดปทุมฯไปบ่อยๆ
บัวที่สามคือของเก่า เราสังเกตเห็นอารามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่มีสร้างสืบเนื่องกันมาไม่เคยหยุดตามริมน้ำ เฉพาะที่เรียกได้เป็นโบราณสถานก็ร่วม50แห่ง แต่ที่ประกาศขึ้นทะเบียนตามกฏหมายกรมศิลปากรนั้นมี10แห่ง
ในการล่องเรือคราวนี้ เราขึ้นเทียบฝั่งผ่านท่าไม้เก่าที่โบราณสถานวัดสิงห์ อันเป็นที่ตั้งของเตาเครื่องดินเผาโบราณ ที่มาของ’’ตุ่มสามโคก ‘’
เลยได้รู้ว่าตุ่มสามโคก มีดีไซน์ต่างจากโอ่งราชบุรีที่ฟังชั่นมาตั้งแต่ยุคโบราณ
ตุ่มสามโคกนั้น ประมวลความจากที่ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์อธิบายประสมกับฟังที่หลวงพ่อวัดสิงห์ท่านพาเราเดินชมเตาเผาเก่า3หลุม ว่าคนโบราณก่อเรียงไว้บนโคกดินให้ห่างจากท่าน้ำเพราะไม่ต้องการให้ความชื้นจากแม่น้ำไปส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของเตา ส่วนทรงของตุ่มนั้นดีไซน์ไว้เก็บน้ำที่ตักมาใช้จากลำน้ำ ปากและก้นตุ่มจึงนิยมทำให้แคบ เพราะเมื่อเป็นน้ำตักจากท่า ย่อมมาพร้อมตะกอนธรรมชาติ จึงต้องกวนสารส้มให้ตกตะกอนเสียหน่อยค่อยใช้ดื่ม ตุ่มก้นแคบทำให้ตะกอนลงนอนก้นแล้วไม่ฟุ้งขึ้นมาง่าย ปากที่แคบ เมื่อยกตุ่มน้ำลำเลียงไปช่วยให้ไม่กระฉอกน้ำออกไปเยอะ
ต่างจากโอ่งเมืองราชบุรีที่ปากกว้างและก้นกว้าง เพราะที่นั่นดีไซน์ไว้ใช้รองน้ำฝน จึงแทบไม่ต้องเผื่อเรื่องจะมีตะกอนอะไร
เรื่องวัสดุและวิธีเคลือบก็ต่างไปอีก ท่านที่สนใจอยากจะเบิกบานใจไปกับตุ่มคงพอหาความรู้และความบันเทิงเอาได้อีก ถ้าไปอ่านไปฟังเรื่องราวถึงย่านเจ้าของเรื่องทั้งสองย่าน
แต่เป็นอันว่า ถ้าใครถูกเหน็บว่าอ้วนเป็นตุ่มสามโคกก็พอจะนึกภาพได้ ว่าแปลว่ายังเห็นคอคอดและท่อนล่างบางกว่าโอ่งราชบุรี ที่มุ่งเอาความจุล่ะ
เรายังได้ขึ้นจากเรือที่ท่าวัดโบสถ์ และวัดศาลเจ้าอีก
ที่วัดโบสถ์นั้นท่าเรือเป็นสมัยใหม่ ใหญ่โตมีโป้ะลอยและทางลาดให้ใช้ มีป้ายบอกอารยสถาปัตย์ที่ท่าน้ำไปจนถึงห้องน้ำห้องท่าในวัด ที่นี่มีรูปปั้นสมเด็จโตและหลวงพ่อโสธรองค์ใหญ่มหึมาอยู่กลางแจ้ง มองเห็นได้จากไกลลิบ แต่ทีคนยังไม่ค่อยรู้น่าจะอยู่ที่มี’’หลวงพ่อเหลือ ‘’พระพุทธรูปศิลาโบราณปางมารวิชัยยุคต้นสมัยอยุธยา ที่ได้ชื่อว่าหลวงพ่อเหลือเพราะเดิมมีสร้างไว้ที่วัดเก่าแก่แห่งนี้ถึง12องค์ ต่อมาขโมยมาลักไปแต่พระศิลามีน่ำหนักสูง ขโมยเลยใช้วิธีตัดเอาแต่เศียรยกไป มีองค์หลวงพ่อเหลือนี่แหละที่ขโมยไม่ยักกล้าตัดหรือแตะ ชาวบ้านจึงเรียกว่าหลวงพ่อเหลือ ที่ผู้คนนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก จึงพากันปิดทองขอพรคุ้มครองกันมาเรื่อย
อีกท่าน้ำที่เราขึ้นจากเรือก็คือท่าวัดศาลเจ้า วัดรามัญ คือวัดแบบมอญมีเจดีย์และหงส์เป็นสัญลักษณ์และมีศาลเจ้าปุนเถ่ากงอยู่ติดกัน แต่ไฮไลต์ของคนมาที่นี่มักจะอยู่ที่ศาลท่านแปะโรงสี (โง้วกิมโคย)ชาวจีนเท่งไฮ้ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในไทย ทำมาค้าขายจนในที่สุดได้สัญชาติไทยตามกฏหมาย มีรูปปั้นเคารพของท่านตั้งอยู่ลึกเข้าไปในอีกอาคาร
ผมเคยได้เห็นรูปเคารพของท่านที่หิ้งพระที่ญาติผู้ใหญ่ตั้งไว้ตั้งแต่ผมยังเด็ก แต่ไม่เคยรู้ว่าท่านคือใคร จนมาวันนี้จึงได้ทราบว่าที่จริงท่านไม่ใช่พระ ท่านเพิ่งเสียชีวิตราวปี2526 นี่แหละ แต่ด้วยความมีคุณธรรมสูง เจ้าของโรงสีข้าวผู้ทรงศีลท่านนี้เคยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ คนพิการในสมัยนั้นสร้างฐานะขึ้นมามากมาย จึงได้รับนับถือมาก เมื่อเสียชีวิตไปคนเชื่อว่าท่านเป็นเซียนจึงกราบไหว้กันมาไม่ขาดสาย
รูปถ่ายของอากงกระกอบผ้ายันต์สีเหลืองลงอักขระจีนของท่านเป็นที่รู้จักในหมู่คนทำมาค้าขายว่าจะช่วยเสริมให้ปลดหนี้หรือไปก่อร่างสร้างตัวได้ดีจึงเป็นหนึ่งในของแจกของที่ศาลานี้ ที่คนนำกลับไปบูชา
ผมโชคดีได้พบสนทนากับอาอี๊วัย73ซึ่งเป็นลูกสาวที่ยังมีชีวิตอยู่ของท่าน(ท่านอายุน้อยกว่าคุณแม่ผมหลายสิบปี เลยกล้าเรียกท่านว่าอาอี๊)
ผมว่านี่ก็เป็นบัวอีกกลีบที่คนปทุมธานีภูมิใจ
หน้าวัดศาลเจ้านี้คือจุดตักน้ำพลีกรรมศักดิ์สิทธิ์ส่งไปร่วมในพิธีสำคัญของบ้านเมืองมาเสมอ
บรรดาตลาดท่าน้ำของชุมชนปทุมธานีมีชีวิตชีวา และหากใครได้ชิมเป็นต้องติดใจในรสชาติที่หลากหลายวัฒนธรรมสะสมไว้ให้สืบทอดเป็นรุ่นมา ผัดไทยหอยทอด ขนมจีนซาวน้ำ ขนมตาล ตลอดจนขนมกุยช่าย และก๋วยเตี๋ยวเรือสารพัดเจ้าล้วนให้รสดั้งเดิมดี
แต่ไฮไลต์มื้อเที่ยงของเราอยู่ที่ "ข้าวมันเป็ด" !! ใช่ครับ อ่านไม่ผิด เพราะผมก็ถามย้ำกับคุณเม่น ภูริวัฒน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ประธานชมรมเครือข่ายท่องเที่ยว หัวหน้าทัวร์ของคณะสำรวจของเราอีกราว40ชีวิต ว่ามีจริงๆเหรอ
คุณเม่นและท่านผู้บริหารท้องถิ่นที่มาต้อนรับยืนยันว่าเป็นสูตรเฉพาะของร้านที่ตลาดอิงน้ำสามโคก ทุกคนในคณะได้ชิมแล้วเห็นพ้องว่าอร่อยกลมกล่อม น่าส่งประกวดให้ครัวครม.พิจารณา น่าจะดี
ที่นี่ไม่เสียแรงเป็นเมืองสายน้ำ นอกจากฝีมือช่างท้องถิ่นทางวัฒนธรรมแล้วยังมีช่างทางอุตสาหกรรมต่อเรือด้วย ที่นี่เป็นที่ตั้งของอู่เรือ
ทั้งสำหรับซ่อมเรือไทยและแม้แต่สร้างเรือขุดแร่ที่ส่งขายให้อินโดนีเซียด้วย
ในยามแดดร่ม เราได้เห็นกิจกรรมยืนพายซับบอรด์ บ้างยืนเล่นซับบอรด์มอเตอร์ไฟฟ้า ที่นี่น้ำท่าบริบูรณ์ตลอดเวลา จึงเป็นที่ตั้งของสถานีสูบน้ำประปา สำแล เพราะคุณภาพน้ำจะเสถียรดีกว่าถ้าจะไปดูดน้ำเจ้าพระยาช่วงผ่านนครนนทบุรีกรือเข้ากรุงเทพไปแล้ว ที่นี่จึงเป็นจุดตั้งต้นของน้ำคลองประปาที่คนกรุงเทพและปริมณฑลได้ใช้มานานแล้ว
เรือที่เราใช้นั่งชมปทุมธานีวันนี้เป็นเรือข้ามฟากดั้งเดิม คุณแนน กฤตยา เนตรพระฤทธิ์ กรุณามาทำหน้าที่ไกด์กิตติมศักดิ์เล่าเรื่องราวทีละมุมของคุ้งน้ำให้เราฟัง คณะที่มาลงเรือล้วนเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่ปรับให้เป็น DMC หรือ Destination Management Company กล่าวคือเป็นมากกว่าผู้จัดจองตั๋วหรือจัดนำพาเดินทาง แต่เป็นผู้มีความชำนาญต่อที่หมายที่ลูกค้าจะเดินทางถึงด้วย นอกจากนี้ยังมี’’โกจง ‘’คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มาร่วมลงเรือด้วยตนเองจนจบทริปอีกด้วย ผู้บริหารที่มาไกลอีกท่านคือดร.กัลยาณี ธรรมจารย์ นายกเครือข่ายท่องเที่ยวศรีสะเกษ
จบทริปตอนพลบค่ำ พวกเราขึ้นเวทีเสวนาสาธารณะร่วมกับท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ที่ท่าน้ำที่เราตั้งต้นเมื่อเช้า เพื่อเปรียบเทียบประสบการณ์กับท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ที่ลงเรืออีกลำ มีท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตามมาขึ้นเวทีอีกท่าน คือ ‘’พี่น้อง’’กอบกาญจน์ วัฒนะวรางกูรก็ให้เกียรติมาร่วมขึ้นเวทีเสวนา ช่วยแนะแนวและแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลต่างๆ ตลอดจนเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ว่าฯพ่อเมืองและภาคประชาคมท่องเที่ยวปทุมธานีที่กำลังอยากเปิดเมืองให้สามารถทำแผนขับเคลื่อนเรื่องท่องเที่ยวใหสำเร็จ
ในการเล่ามุมมองของท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ต่อเรื่องแผนเปิดเมืองท่องเที่ยว ท่านเห็นมุมเก๋ๆของปทุมธานีอีกหลายๆมุม ทั้งการเห็นธีมเมืองสมิธโซเนี่ยน คือเป็นเมืองพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เพราะที่ปทุมธานีเป็นที่ตั้งของสารพันพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ในหลวงรัชกาลที่เก้า พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ คลังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ คลัง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สวนสัตว์แห่งชาติ ท่านอธิบายว่าปทุมธานียังเป็นสนามสอบสำคัญเสมอเพราะมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่น้อยตั้งอยู่ที่ปทุมธานีเยอะมาก ท่านบอกว่าเอาแค่การมาค้างแรมเพื่อให้แน่ใจว่าจะมาทันสอบตอนเช้าหรือร่วมกิจกรรมรับปริญญาของครอบครัวว่าที่บัณฑิตใหม่แต่ละปี อุตสาหกรรมเดินทางท่องเที่ยวและอาหารของฝากฝีมือชุมชนก็จะได้โอกาสนำเสนอความน่าประทับใจได้มากมาย
ขอเพียงให้มีระบบบริหารที่ส่งมอบความสะดวก ความสะอาด ความปลอดภัย
และที่สำคัญยิ่งคือต้องได้เอกลักษณ์และมีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
กวีเอกสุนทรภู่เคยล่องเรือมาปทุมธานีเมื่อพศ.2373 หรือเฉียด200ปีที่แล้วเเต่งนิราศภูเขาทอง ครั้งสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่สอง ความตอนหนึ่งว่า
"…ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว…"
ปทุมธานีวันนี้ มีบัวแห่งความน่าภูมิใจที่คนในยุคสมัยใหม่น่าไปค้นหาอีกแยะทีเดียวครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา