"...ละครซีรีส์วายจะไม่เล่าถึงวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมความเป็นตัวตนของตัวละคร ไม่มีฉากล่อแหลม ไม่มีเรื่องหนัก ๆ เรียกร้องความยุติธรรมหรือการให้การยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศ ทำให้แตกต่างจากหนังประเภทแอลจีบีที (LGBT) หรือ Boy’s Love จึงทำให้การดูซีรีส์วายเป็นเรื่องรักโรแมนติกเบา ๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด แถมยังได้ฟินและมโนความหล่อของพระเอกและนายเอกถึง 2 คนไปพร้อมกัน พระเอกและนายเอกก็ต้องเลือกคนหล่อ น่ารัก มีเสน่ห์ น่าดึงดูด สายตาผู้ชม..."
ผมสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมป้ายโฆษณาขนาดใหญ่หน้าห้างสรรพสินค้ากลางกรุง และตามสถานีรถไฟฟ้า จึงมีรูปหนุ่มหน้าตาหล่อไม่คุ้นหน้าแถมมีข้อความค่อนข้างเป็นส่วนตัว เช่น คำอวยพรวันเกิดปรากฏอยู่ ผมเพิ่งจะมาได้คำตอบเมื่อ 2-3 วันก่อน หลังจากมีโอกาสคุยกับกลุ่มสาว ๆ ชาวแบงก์ชาติระหว่างช่วงกินกาแฟ ด้วยภาษาพิสดารที่ไม่คุ้นกับโสตประสาทว่า “ขนมเรื่องนี้ ฉันว่า คู่จิ้นนี้ไม่เมะ เคะ เลย โมเม้นต์ไม่ได้ ” จนต้องขอล่ามมาช่วยแปลชนิดคำต่อคำ กว่าจะเข้าใจว่า พวกเธอกำลังคุยกันถึงเรื่องละครก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร ยิ่งกว่านั้น ละครที่คุยกันกลับไม่ใช่ละครในฟรีทีวีหลังข่าวภาคค่ำ แต่เป็นละครที่เรียกว่า “ซีรีส์วาย” ผมยิ่งงงไปใหญ่ อะไรคือซีรีส์วาย น้อง ๆ ต่างหันมามองนึกว่าผมเป็นมนุษย์ต่างดาว ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์มานานแล้ว และดังจนฉุดไม่อยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ป้ายโฆษณาที่ผมพูดถึง เป็นรูปเหล่าบรรดาศิลปินหนุ่มไอดอลที่แฟนคลับละครซีรีส์วายลงทุนออกเงินกันเอง ด้วยความหลงใหล ชื่นชอบ และดูจะมีความหมายกับพวกเขาอยู่ไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่ ไม่แน่ใจว่า หนุ่มไอดอลจะเคยมองป้ายเหล่านั้น “เราไม่สนใจหรอกค่ะว่า เขาจะมองหรือไม่มอง เพียงแต่เราได้มองเห็นเขาก็ปลื้มแล้ว” 1/ แฟนคลับเอ่ยออกมาอย่างออกหน้าออกตา และเพื่อไม่ให้ผมตกรถไฟความเร็วสูงขบวนนี้ จึงขอให้น้อง ๆ ช่วยเล่าถึงความเป็นมาของ “ซีรีส์วาย”
“ซีรีส์วาย” คือ ซีรีส์ที่มีตัวละครชายกับชายเป็นพระเอกกับนายเอกคู่กัน ถือกำเนิดมาจาก “มังงะ” การ์ตูนช่องของญี่ปุ่นที่แตกต่างจากการ์ตูนสี่ช่องทั่วไปเพราะเน้นรูปในลักษณะเส้นมากกว่ารูปทรงและการให้แสงเงา มังงะที่เป็นเรื่องราวของตัวละครชายกับชายเรียกว่า “ยาโออิ” (YAOI) เริ่มแพร่หลายในบรรดานักอ่านที่เรียกร้องความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว ต่อมา ได้แปลงจากการ์ตูนมาเป็นละครอิงนิยายหรือฟิคชั่น (fiction) ยอดนิยม ทำให้เกิดฐานผู้ชมที่เหนียวแน่น เนื้อเรื่อง (ขนม) จะเน้นความโรแมนติก หรือเส้นทางความรักของพระเอกและนายเอกเป็นหลัก เรียกว่าเป็น คู่จิ้น หรือ เมะ กับเคะ แต่เป็นหน้าที่ของผู้ชมที่จะจับได้เองว่าใครเป็นเมะหรือเคะ เรียกว่าเป็นละครซีรีส์วายที่ไม่มีพื้นที่ให้ดาราผู้หญิง
ละครซีรีส์วายจะไม่เล่าถึงวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมความเป็นตัวตนของตัวละคร ไม่มีฉากล่อแหลม ไม่มีเรื่องหนัก ๆ เรียกร้องความยุติธรรมหรือการให้การยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศ ทำให้แตกต่างจากหนังประเภทแอลจีบีที (LGBT) หรือ Boy’s Love จึงทำให้การดูซีรีส์วายเป็นเรื่องรักโรแมนติกเบา ๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด แถมยังได้ฟินและมโนความหล่อของพระเอกและนายเอกถึง 2 คนไปพร้อมกัน พระเอกและนายเอกก็ต้องเลือกคนหล่อ น่ารัก มีเสน่ห์ น่าดึงดูด สายตาผู้ชม2/
เนื่องจากการทำละครซีรีส์วายมีตัวเอกเป็นชายกับชายถูกปิดกั้นในโลกเอเชียตะวันออก จึงทำให้ละครซีรีส์วายที่ผลิตในไทยเป็นที่นิยมข้ามคืน เรื่องแรกของไทยคือ “รักแห่งสยาม” ในปี 2007 เป็นที่กล่าวขวัญดังกระหึ่มไปทั่ว ตามมาด้วย Love Sick The Series (รักวุ่น วัยรุ่นแสบ) ในปี 2014 SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ในปี 2017 และอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง “2gether The series (เพราะเราคู่กัน) ในปี 2020 ที่ปลุกกระแสกวาดหัวใจแม่จีนหรือแฟนคลับชาวจีน ที่พร้อมใจส่งแฮชแท็ก “#คั่นกู” ให้คู่จิ้น “ไบร์ท-วิน” เช่นเดียวกับ “มิว-กลัฟ” จากซีรีส์ “TharnType The Series” (เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ) และ “บิวกิ้น-พีพี” จากซีรีส์ “I Told Sunset About You” (แปลรักฉันด้วยใจเธอ) ทะยานขึ้นติดเทรนทวิตเตอร์โลกอันดับต้น ๆ
สำหรับแฟนคลับหลักของซีรีส์วายอยู่ในกลุ่มอายุ 18-24 ปี รองลงมาอายุ 25-34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง ที่น่าสนใจคือมีแฟนคลับกลุ่มใหม่ในวัย 65 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงโควิด-19 ผู้คนที่ทำงานอยู่กับบ้าน เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการชมคนเดียวบนสมาร์ทโฟนมาเป็นสมาร์ททีวีกับครอบครัว จนขยายฐานผู้ดูมาสู่ผู้สูงอายุมากขึ้น
แม้ว่าในสายตาของหลายคน ละครซีรีส์วายดูจะไม่มีแก่นสารเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง ยังสื่ออะไรอีกมากมาย เช่น การเปิดกว้างทางเพศ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมกับเพศที่สาม มีเนื้อเรื่องมากกว่าชีวิตรักวัยรุ่น วัยมัธยม วัยมหาวิทยาลัย แถมยังมีแนวสืบสวนสอบสวน และแนวครอบครัว นอกจากนี้ ซีรีส์วายยังเปิดโอกาสให้เกิด “soft power” ให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อาหาร หรือแพทย์แผนไทย อย่างเช่นเรื่อง “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ในปี 2020 ที่ไม่เพียงทำให้คู่จิ้นอย่าง “เต๋และโอ้เอ๋ว” เป็นที่รู้จัก แต่ยังสร้างกระแสฟีเวอร์เมืองภูเก็ตสถานที่ถ่ายทำอย่างไม่รู้ตัว ทำให้ผมนึกถึงประเทศเกาหลีที่ใช้นโยบาย “คลื่นเกาหลี” หรือ “ฮัลยู” นำวัฒนธรรมเกาหลีไปต่อยอด ทำเงินเข้าประเทศและทำให้ประเทศเป็นที่รู้จักอย่างมากมายมหาศาล เริ่มจากภาพยนตร์ชุด “แดจังกึม” ที่ฮิตไปกว่าครึ่งโลก ตามมาด้วย K-pop อาหารเกาหลี ตลอดจนเครื่องแต่งกาย และการสร้างนิเวศทางวัฒนธรรม (เกาหลี) ให้แผ่ขยายไปทั่วโลก
ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียในด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายที่ส่งออกความจิ้นไปยังต่างประเทศ โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 1,000 พันล้านบาทในปี 2021 และจะมีซีรีส์วายเตรียมลงจอฉายอีกเกือบ 40 เรื่องในอนาคตใกล้ ๆ นี้ ถือได้ว่า อุตสาหกรรมซีรีส์วายกลายเป็นจักรวาลอันยิ่งใหญ่ในวงการบันเทิงที่เป็น soft power ช่วยกู้เศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19 3/
ละครซีรีส์ที่ได้ความจิ้น ฟิน จิกหมอน และทำให้คนดูหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง แต่ความนิยมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากสังคมไม่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลาย และก่อนจบบทสนทนา น้อง ๆ ถามผมว่า “พี่สนใจจะดูซีรีส์วายเรื่องไหนคะ” ผมได้แต่เพียงยักไหล่ พร้อมส่งรอยยิ้มเล็ก ๆ ก่อนจากกันไป
รณดล นุ่มนนท์
13 ธันวาคม 2564
แหล่งที่มา:
1/ The Cloud. 2021. เรื่องไม่ลับหลังป้ายอวยพรวันเกิดตามสี่แยก วัฒนธรรมของแฟนด้อมเพื่อศิลปินที่เขารัก. [online] Available at: <https://readthecloud.co/idol-birthday-billboard/> [Accessed 10 December 2021].
2/ TrueID In-Trend. 2021. ทำไม "ซีรีย์วาย" ถึงฮิตมากสำหรับคนไทย. [online] Available at: <https://intrend.trueid.net/article/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1-%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-trueidintrend_142885
3/ www.sanook.com/news. 2021. Soft Power ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังซีรีส์วาย. [online] Available at: < https://www.sanook.com/news/8474262/> [Accessed 10 December 2021]