“…มีเมืองที่ดีแล้ว เมืองจะต้องน่าอยู่ด้วย แต่การสร้างเมืองให้น่าอยู่จะต้องมีคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคมที่สมดุลกัน คือ การทำให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเป็นธรรมในทุกมิติของการบริการ และเมืองจะต้องสร้างคุณภาพสังคมให้มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง …”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเวทีสาธารณะในประเด็นการเปิดเมืองกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหารและการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด เพื่อสร้างเสริมพลังพลเมืองให้ตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพได้ ตามหลักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14
โดย นายสิงศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เริ่มต้นกล่าวถึงนิยามของเมืองที่ดีว่า จะต้องประกอบด้วย 1.มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี เช่น การคมนาคม และระบบอินเทอร์เน็ต จะต้องทำให้ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้พิการเข้าถึง และ 2.การทำให้เมืองมีชีวิต คือ มีระบบรองรับการมีอาชีพ ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนให้ทุกคนมีงานทำอย่างมั่นคง เพราะงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแม่ค้าพ่อค้า ผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง
อย่างไรก็ตามในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานรัฐบาลยังไม่ประสานกันได้ดีเท่าที่ควร และไม่มีการติดตามดูแล คือ มีนโยบายจากคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาแล้วก็จริง แต่ในทางปฏิบัติจริงยังไม่สามารถทำได้ เช่น การออกมาตรการให้กลุ่มผู้ค้าประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงในพื้นที่บางกอกน้อย แต่ทางเขตใน กทม.กลับให้กลุ่มผู้ค้าย้ายออกจากพื้นที่ อ้างว่าเพื่อจัดทรรศนีย์ภาพในเมืองให้สวยงาม เป็นต้น สร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน ว่านโยบายที่จะออกมาอีก จะทำได้จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลมีการกำกับติดตามนโยบายที่ออกมาด้วย
“เหตุผลที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบเมืองไทย เพราะชอบในวัฒนธรรมไทยที่ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เอารัดเอาเปรียบ ที่สำคัญยังมีเสน่ห์ของอาหารไทยในรูปแบบสตรีทฟู้ด ที่อร่อย สะอาด และไม่แพงอีกด้วย ผมเชื่อว่าหากเราร่วมไม้ร่วมมือกัน ถนนหนทางยังมีเพียงพอที่จะบริหารจัดการการแผงลอย วางผังใหม่ให้มีทัศนียภาพที่สวยงามและผู้คน แผงลอยอยู่ร่วมกันได้” นางสิงศิต กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงบทบาทของเมืองกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากต่อว่า ในภาพหนึ่งของการระบาดโควิดอาจดูเหมือนเป็นภาพที่ทำร้ายสังคม แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น โดยได้ยกแนวคิดของ McKinsey & Company ว่า ก้าวเดินจากยุคสงครามโควิดสู่ยุคหลังโควิดจะต้องผ่าน 5 ขั้นตอน ดังนี้
-
การแก้ปัญหา (Resolve) คือ การวางแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว เช่น มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด และการควบคุมป้องกันโรค
-
การประคับคอง (Resilience) คือ การประคับประคองให้อยู่ต่อไป เช่น ควบคุมการระบาดไม่ให้หนัก สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำรงอยู่ได้ ส่วนแรงงานก็พยายามทำให้เขากลับเข้ามาสู่ระบบการทำงานมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่
-
การกลับมา (Return) คือ สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้เรายังไม่อาจคาดเดาได้ เช่น การระบาดยุติได้ หรือการเกิดเหตุการระบาดซ้ำอีกระลอก
-
การสร้างจินตนาการใหม่ (Reimagine) คือ การสร้างจินตนาการใหม่ด้วยการคิดถึงภาพที่เราจะต้องเตรียมการเพื่อแก้ปัญหา เช่น การวางแผนจัดการเรียนการสอนหลังการระบาด
-
การปฏิรูประบบ (Reform) คือ การลงมือทำให้เป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ เช่น การออกกฎเกณฑ์เพื่อทำให้สังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน หรือการทำให้สังคมมีอนาคตที่สดใสร่วมกัน
นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในสิ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้จากการระบาด เพราะการระบาดของโควิดทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำถูกขยาย ความเดือดร้อนและทุกข์ยากนั้นมีความซับซ้อนและสัมพันธ์กันทุกมิติ เราคงไม่คิดว่าการหยุดโรงเรียนนานๆ จะทำให้เด็กประสบภาวะขาดอาหาร เพราะอาหารมื้อที่ดีที่สุดอยู่ที่โรงเรียน หรือการตกงาน ทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียน คนจนข้ามรุ่นคือกลุ่มใหม่ที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำห่างออกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรายังได้รู้อีกด้านว่าการให้มีการจัดการเชิงพื้นที่มากขึ้น การปรับวิธีการทำงานใหม่โดยถอดบทเรียนมาใช้ เช่น ปรับให้ดำเนินมาตรการตามโซนสี เป็นต้น และมีการจัดการภายใต้ฐานข้อมูลเดียวกัน จะทำให้การควบคุมสถานการณ์โควิดดีมากขึ้นและเหมาะสม ที่สำคัญเรายังได้เห็นพลังของคนไทยเกื้อกูลกันในวิกฤตโควิด
ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยควรจะทบทวน คือ เราจะต้องมีการวางแผนเรื่องมาตรฐานการควบคุมโรคและสุขอนามัยกลุ่มแรงงานมีการทักษะใหม่ที่ต้องการในอนาคต ตามวิถีการทำงานแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงการระบาด พัฒนาความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมพลังอาสาสมัคร สร้างโอกาสการเกิดธุรกิจแนวใหม่ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต ให้ทุกคนเข้าถึง
"ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในสเต็ปของการประคับประคอง และการกลับมา ดังนั้นการมีจิตนาการใหม่ จึงสำคัญมากสำหรับการเป็นเมืองที่ดี เมืองที่ดีจะต้องมีการจัดการเชิงพื้นที่ โดยให้แต่ละเมืองมีความคิดริเริ่มที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูประบบ ดังนั้นความเป็นเมืองจะต้องมีแผนรองรับการเติบโต มีแผนรองรับการเปลี่ยนแปลง และมีแผนยับยั้งความเสื่อมโทรม” นายวุฒิสาร กล่าว
นอกจากจะมีเมืองที่ดีแล้ว เมืองจะต้องน่าอยู่ด้วย แต่การสร้างเมืองให้น่าอยู่จะต้องมีคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคมที่สมดุลกัน คือ การทำให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเป็นธรรมในทุกมิติของการบริการ และเมืองจะต้องสร้างคุณภาพสังคมให้มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยการสร้างเมืองใหม่จะต้องเริ่มจากค้นหาผู้ได้รับผลกระทบให้เจอก่อน แล้วเยียวยาเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น หาบแผงลอย จะต้องพัฒนาความสะอาดควบคู่ไปด้วย และสุดท้ายคือจะต้องมีการบริการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด