“...หากเราต้องการยกระดับประเทศให้มีความกินดีอยู่ดี ประเทศไทยต้องมีจินตนาการใหม่ โดยเริ่มแก้ปัญหาให้ตรงจุดก่อน เช่น การเลิกทำร้ายตัวเอง คือการลดความสูญเสีย เช่น การตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ รวมถึงสิทธิเสรีภาพจากการเกณฑ์ทหาร หากแก้ปัญหาได้ตรงจุด เศรษฐกิจจะยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด...”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) งานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2564 หรือ TDRI Annual Public Virtual Conference 2021 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่ : โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด”
โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวสรุปว่า ตลอดงานสัมนาที่ผ่านมา วิทยากรหลายคนได้มาร่วมเสวนาและเสนอแนวคิดใหม่ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สามารถสรุปออกมาได้ทั้งหมด 7 ข้อเสนอดังนี้
1. คนไทยต้องมองออกภายนอกให้มากขึ้น เพราะตอนนี้คนไทยยังมองเหตุการณ์ออกไปยังต่างประเทศน้อย ที่สำคัญมีการมองว่าเมื่อโควิดหายไป ประเทศไทยจะกลับมาปกติ แต่โลกอาจจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกมากอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ความปกติใหม่ของเรา อาจทำให้ตามโลกไม่ทันและเราอาจจะหายไปจากแผนที่โลก การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของประเทศไทยจะไปเป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจของคนทั่วโลก
2. ต้องจิตนาการใหม่ ถ้าแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดเศรษฐกิจจะเติบโตได้ปีละ 5% ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ปัจจุบันประเทศไทยยังมีความหวัง แม้จะมีปัญหาภายในต่างๆ มากมาย เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เศรษฐกิจยังเดิบโตได้ 2-3% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง แต่หากเราต้องการยกระดับประเทศให้มีความกินดีอยู่ดี ประเทศไทยต้องมีจินตนาการใหม่ โดยเริ่มแก้ปัญหาให้ตรงจุดก่อน คือการลดความสูญเสีย เช่น การลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงการเสียสิทธิเสรีภาพจากการเกณฑ์ทหาร
ลำพังแม้จะมีปัญหาภายใน แต่เศรษฐกิจก็ยังเติบโตต่อเนื่อง หากแก้ปัญหาได้ตรงจุด เศรษฐกิจจะยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยโตได้ถึงปีละ 5% ต่อเนื่องไปอีก 20% ทำให้เรากลายเป็นประเทศรายได้สูงได้
3. ให้ภาครัฐสนับสนุนภาคธุรกิจ เพราะการขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้ภาคธุรกิจจะมีการปรับตัวแล้ว แต่หากไร้การสนับสนุนจากรัฐ จะทำให้ประเทศไทยตกขบวนในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้เป็นสีเขียว ซึ่งเป็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน
4. การสร้างทักษะและส่งเสริมการศึกษา นำพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้สำเร็จ คือ สร้างการศึกษาให้มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาเด็กตกหล่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศแล้วก็การลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา โดยมีข้อเสนอออกมาเป็นรูปธรรม คือ การที่รัฐควรจะแจกคูปองสำหรับการฝึกทักษะให้กับคนหนุ่มสาววัยทำงาน ตรงนี้จะเปลี่ยนระบบการฝึกฝีมือแรงงานไทยไปสู่การตอบสนองที่ต้องการมากขึ้น
5. การให้สวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า โดยภาครัฐจะเป็นแนวทางเดียวในการป้องกันการตกหล่นของระบบสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะสามารถหารายได้มารองรับการสร้างระบบสวัสดิการใหม่ได้ แต่ประเทศไทยมีคนตกหล่นมากมาย และมีแรงงานนอกระบบมาก เราไม่สามารถให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และประสบการณ์จากต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า ระบบสวัสดิการต่อให้พัฒนาไปไกลขนาดไหน ก็ยังมีคนตกหล่นมาก โดยเฉพาะคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต้องการระบบสวัสดิการมากที่สุด
ดังนั้นประเทศไทยควรนำเอาหลักสวัสดิการทั่วหน้ามาใช้ เสริมด้วยสวัสดิการของหน่วยธุรกิจ และสวัสดิการที่แต่ละคนจัดหาเพิ่มเติมขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ไม่ได้ออกมาลอยๆ แต่มีการคำนวณแล้วว่า เราสามารถหารายได้มารองรับการสร้างสวัสดิแบบใหม่ที่ว่านี้ได้
6. ต้องสร้างภาครัฐที่เน้นผลลัพธ์ตกอยู่ที่ประชาชน และต้องปรับตัวและเรียนรู้ในการร่วมงานกับธุรกิจประชาสังคมในลักษณะเครือข่าย และควรเลิกราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
ในการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างก้าวกระโดด ประเทศต้องการภาครัฐที่มีความสามารถในการแก้ปัญหา หากรัฐไม่ปรับตัว จะสร้างระเบิดเวลาขึ้นมาเสียเอง
“การมีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง จะทำให้เกิดการแข่งขันกันจากนักการเมืองในระดับท้องถิ่นในการยกระดับคุณภาพประชาชน เมื่อมีคู่แข่งมาก เกิดการแข่งขันสูง สุดท้ายประชาชนจะได้บริการที่ดี ตรงกับความต้องการตนเอง”
7. คนรุ่นก่อนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนรุ่นใหม่ ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่อยากทำงานช่วยเหลือสังคมมากขึ้น ต่างตื่นตัวทางการเมืองมากมาย เพราะการเมืองสำคัญต่ออนาคตตัวเอง การเมืองสามารถสร้างทักษะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆได้ เช่น ด้านการศึกษา หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ดูเหมือนคนรุ่นใหม่จะถูกปิดกั้น ก็จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งสิ่งที่คนรุ่นก่อนสามารถทำได้ คือ ให้อิสระ สนับสนุนคนรุ่นใหม่ และไม่ปิดกั้น เว้นแต่กรณีที่เกิดอันตราย
“ประเทศไทยต้องการจินตนาการใหม่ แล้วในจินตนาการใหม่นี้ ขาดไม่ได้ในการปรับตัวสารพัดเรื่อง ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ ทักษะ อาชีพ และการมีสวัสดิการที่ดี ไม่มีการตกหล่น ที่สำคัญภาคส่วนที่ควรจะปรับตัวมากที่สุด คือ ภาครัฐ และภาครัฐควรจะมีจินตนาการใหม่เรื่องการเมืองด้วย” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมสดิสัน สหรัฐอเมริกาเองก็ได้ชวนคิดจินตนาการเรื่องเส้นทางในอนาคตของการเมืองในสังคมไทยด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแทบทุกครั้ง เกิดจากจินตนาการของอนาคตที่ไม่เหมือนกันในแต่ละฝ่าย ดังนั้นเราจะต้องสร้างตลาดทางความคิดทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้เข้ามาแข่งขันกัน อย่างไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและความรุนแรง แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะไปทิศทางไหน
ตรงนี้แต่ละฝ่ายเมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน เขาจะเรียนรู้แล้วปรับตัวเอง จูนให้แนวความคิดเป็นอยู่ตรงกลางของตลาด ไม่ขวาหรือซ้ายจัดจนเกินไป ซึ่งเป็นธรรมชาติของตลาด หากประเทศไทยทำได้ สังคมไทยจะก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้ไปได้อย่างสันติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage